ไฮไลท์
- ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” ยังคงเป็นมณฑลที่กำลังได้รับการจับตามองจากนักลงทุนจากต่างมณฑลและต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)” เนื่องจากกว่างซีมีปัจจัยหลายด้านตำแหน่งที่ตั้ง (ประตูสู่อาเซียน) ทรัพยากรและวัตถุดิบ ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ (โมเดลขนส่งแบบไร้รอยต่อ “เรือ+ราง”) รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน
- ช่วง 2-3 ปีมานี้ กว่างซีได้รับนโยบายหลายอย่างจากรัฐบาลกลางที่เอื้อต่อการพัฒนา เสริมสร้างและขยายความร่วมมือกับอาเซียน ภายใต้ยุทธศาสตร์การเป็น Gateway to ASEAN ของจีน และระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (New Western Land and Sea Corridor – NWLSC) โดยมี “เขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี)” เป็นแพลตฟอร์มสำคัญ สะท้อนถึงศักยภาพการเติบโตของกว่างซีและเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยที่สนใจทำการค้าและการลงทุนในกว่างซีของจีน
- หนึ่งในพื้นที่ที่มีการจัดตั้งกิจการรายใหม่เป็นจำนวนมาก คือ พื้นที่ใน “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)” โดยเฉพาะพื้นที่ย่อยนครหนานหนิง (อีก 2 พื้นที่ย่อย ได้แก่ เมืองท่าชินโจว และเมืองชายแดนฉงจั่ว) เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายเป็นพิเศษเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน และเป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าได้แบบปลอดภาษี รวมถึงการนำเข้าสินค้าสำหรับการแปรรูปเพื่อส่งออก เช่นเดียวกับ “เขตทดลองการค้าเสรีนครเซี่ยงไฮ้”
- นอกจากความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้อาเซียนแล้ว เขตทดลองการค้าเสรีแห่งนี้มีนโยบาย/สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน การเงินเและภาษี เงินรางวัลและเงินอุดหนุนต่างๆ ตลอดจนการลดระเบียบและขั้นตอนการบริหารงานของหน่วยงานภาครัฐ การลดจำนวนเอกสารที่ต้องจัดเตรียมในการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจให้กระชับมากขึ้น และการกระจายอำนาจให้หน่วยงานรัฐท้องถิ่นในการตรวสอบและอนุมัติที่รวดเร็ว โดยการตรวจสอบและอนุมัติการจัดตั้งธุรกิจใช้ระยะเวลาสั้นที่สุดเพียงครึ่งวันเท่านั้น
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” ยังคงเป็นมณฑลที่กำลังได้รับการจับตามองจากนักลงทุนจากต่างมณฑลและต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)” เนื่องจากกว่างซีมีปัจจัยหลายด้านตำแหน่งที่ตั้ง (ประตูสู่อาเซียน) ทรัพยากรและวัตถุดิบ ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ (โมเดลขนส่งแบบไร้รอยต่อ “เรือ+ราง”) รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน
ที่ผ่านมา จำนวนวิสาหกิจในเขตฯ กว่างซีจ้วงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 3/2564 ระบุว่า กว่างซีมีจำนวนวิสาหกิจที่แท้จริงอยู่ 1,00,300 ราย เพิ่มขึ้น 10.7% (YoY) ทะลุหลักล้านเป็นครั้งแรก การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากการปฏิรูประบบงานราชการเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดตั้งธุรกิจให้มีความกระชับฉับไวและมีประสิทธิภาพ ทั้งการลดขั้นตอน (จาก 4 ขั้นตอน เหลือ 2 ขั้นตอน) ลดเอกสาร (จาก 25 ชุด เหลือ 5 ชุด) ลดเวลา (จาก 7.7 วัน เหลือ 1 วัน) ลดต้นทุน และยกระดับคุณภาพการบริการ
ตัวอย่างการปฏิรูประบบงานราชการที่น่าสนใจเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจในการจัดตั้งกิจการ อาทิ
- การ “จดจองชื่อบริษัท” แบบยื่นปุ๊บได้ปั๊บ ลดข้อจำกัดของการตั้งชื่อที่คล้ายกัน และการใช้ระบบอัจฉริยะแทนการตรวจสอบอนุมัติจากตัวเจ้าหน้าที่รัฐ (Manual)
- ในส่วนของ “วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัท” ก็มีการจัดประเภทกิจการที่เป็นระบบระเบียบชัดเจนยิ่งขึ้น
- ในส่วนของ “ตำแหน่งที่ตั้งของบริษัท” บริษัทสามารถแยกจดแจ้งได้ระหว่างที่อยู่จดทะเบียนกับสถานประกอบการจริง ในกรณีที่บริษัทมีสถานประกอบการหลายแห่งในเมืองเดียวกันสามารถแจ้งขึ้นทะเบียนภายใต้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจใบเดียวกันได้ (ไม่ต้องไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทลูก)
- ในส่วนของ “ใบอนุญาตประกอบกิจการ/ธุรกิจ” ได้ปฏิรูปการขอ Business License (อนุญาติการประกอบกิจการ) และ Business Permit (อนุญาตการประกอบธุรกิจในสาขานั้นๆ) ยกเลิก/ควบรวมขั้นตอนการขอใบอนุญาตข้างต้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถเปิดดำเนินกิจการได้เร็วยิ่งขึ้น (ช่วยแก้ไขปัญหาการขออนุมัติ Business License ง่าย แต่ขออนุมัติ Business Permit ยาก ทำให้ไม่สามารถเปิดดำเนินกิจการได้)
หนึ่งในพื้นที่ที่มีการจัดตั้งกิจการรายใหม่เป็นจำนวนมาก คือ พื้นที่ใน “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)” โดยเฉพาะพื้นที่ย่อยนครหนานหนิง (อีก 2 พื้นที่ย่อย ได้แก่ เมืองท่าชินโจว และเมืองชายแดนฉงจั่ว) เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายเป็นพิเศษเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน และเป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าได้แบบปลอดภาษี รวมถึงการนำเข้าสินค้าสำหรับการแปรรูปเพื่อส่งออก เช่นเดียวกับ “เขตทดลองการค้าเสรีนครเซี่ยงไฮ้”
นับตั้งแต่ “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)” ได้รับการอนุมัติให้มีการจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลกลางเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน เฉพาะในพื้นที่ย่อยนครหนานหนิง (ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง) มีบริษัทจดทะเบียนรายใหม่รวมมากกว่า 2.5 หมื่นราย โดยเฉพาะช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2564 มีบริษัทจดทะเบียนรายใหม่จำนวน 1.71 หมื่นราย เพิ่มขึ้น 252.9% (YoY) บริษัทยักษ์ใหญ่ทยอยเข้าจัดตั้งกิจการอย่างต่อเนื่อง อาทิ DHL, China Taiping Insurance, Greenland Group , Inspur Group, Alibaba Group และ iflytek
อย่างในกรณีของบริษัทไอทีชั้นนำของจีน Inspur Group (浪潮集团) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง บิ๊กดาต้า และเมืองอัจฉริยะ ได้เข้ามาจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในนครหนานหนิงในปี 2563 จนถึงปัจจุบันได้ช่วยดึงดูดให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดตั้งธุรกิจมากกว่า 700 ราย และบริษัทฯ เตรียมแผนจัดตั้งสำนักงานใหญ่อาเซียน (ASEAN Operational Headquarter) ที่นครหนานหนิงด้วยเงินลงทุนราว 2,500 ล้านหยวน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะใช้ข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งของพื้นที่ย่อยหนานหนิง เพื่อวางแผนการลงทุนในอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้นครหนานหนิงเป็นฐานอุตสาหกรรมดิจิทัลเพื่อตอบสนองตลาดอาเซียน
ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 14 (ระหว่างปี 2564-2568) ตั้งเป้าหมายว่าจะใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบที่รัฐบาลกลางได้มอบยุทธศาสตร์แห่งชาติจำนวนมากให้กับกว่างซี (อาทิ Gateway to ASEAN / ระเบียง ILSTC/NWLSC / เขตทดลองการค้าเสรี / เขตนำร่อง Cross-border e-Commerce / Great Western Development / ข้อริเริ่ม BRI) เพื่อผลักดันการค้าการลงทุนแบบเสรี และส่งเสริมบรรยากาศในการทำธุรกิจ และพัฒนาให้เขตทดลองการค้าเสรี(กว่างซี) พื้นที่ย่อยนครหนานหนิงเป็นพื้นที่นำร่องการค้าเสรีที่มีมาตรฐานและคุณภาพสูงในการพัฒนาความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกระหว่างจีนกับอาเซียน
ทั้งนี้ นครหนานหนิงกำลังผลักดันโครงการสำคัญ เพื่อยกระดับให้พื้นที่ย่อยนครหนานหนิงเป็นพื้นที่นำร่องการค้าการลงทุนกับประเทศสมาชิกอาเซียน อาทิ การให้บริการของศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียน (China-ASEAN Business Center – CABC / 中国–东盟经贸中心) การพัฒนาความร่วมมือในห่วงโซ่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศข้ามแดนจีน-อาเซียน และห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ข้ามแดนจีน-อาเซียน การสนับสนุนการพัฒนาศูนย์แลกเปลี่ยนศิลปะวัฒนธรรมจีน-อาเซียน แพลตฟอร์มการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจีน-อาเซียน ย่านการเงินจีน-อาเซียน (China-ASEAN Financial Town) แพลตฟอร์มการค้าสินค้าโภคภัณฑ์จีน-อาเซียน และศูนย์แลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมจีน-อาเซียน
ล่าสุด เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา พื้นที่ย่อยนครหนานหนิงได้เริ่มใช้งานระบบการให้บริการสำหรับประชาชนและวิสาหกิจแบบเบ็ดเสร็จ โดยรวบรวมบริการจาก 9 หน่วยงานมาไว้ ณ จุดเดียว (惠企惠民一站通系统) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการอนุมัติช้าอนุมัติยากและแก้ไขอุปสรรคเรื่องการอนุมัติการเปิดบริษัทแต่ไม่อนุมัติการประกอบกิจการ โดยระบบการทำงานจะใช้ระบบอัจฉริยะแทนระบบแมนนวล
ยกตัวอย่างการขอจัดตั้งบริษัท (ซึ่งปกติมีรายการที่ต้องดำเนินการ 17 รายการ) ผู้ใช้งานสามารถลงทะเบียนบนแพลตฟอร์ม (มีทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน) ทำการกรอกและอัปโหลดข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพียงครั้งเดียว และจะได้รับผลตอบกลับทันที ช่วยให้การจัดตั้งธุรกิจง่ายเหมือนการช้อปปิ้งออนไลน์ ที่สำคัญ การบันทึกและจัดเก็บข้อมูลทั้งกระบวนการจะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) ซึ่งช่วยสร้างหลักประกันความปลอดภัยให้กับแฟ้มข้อมูลได้เป็นอย่างมาก รวมทั้งสามารถสืบค้นข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็วอีกด้วย
ทำไม…เขตทดลองการค้าเสรีแห่งนี้จึงกลายเป็นเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ นอกจากความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้อาเซียนแล้ว เขตทดลองการค้าเสรีแห่งนี้มีนโยบาย/สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน การเงินเและภาษี เงินรางวัลและเงินอุดหนุนต่างๆ ตลอดจนการลดระเบียบและขั้นตอนการบริหารงานของหน่วยงานภาครัฐ การลดจำนวนเอกสารที่ต้องจัดเตรียมในการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจให้กระชับมากขึ้น และการกระจายอำนาจให้หน่วยงานรัฐท้องถิ่นในการตรวสอบและอนุมัติที่รวดเร็ว โดยการตรวจสอบและอนุมัติการจัดตั้งธุรกิจใช้ระยะเวลาสั้นที่สุดเพียงครึ่งวันเท่านั้น
สำหรับนักลงทุนต่างชาติ ที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีได้พัฒนาระบบการบริการสำหรับนักลงทุนต่างชาติในพื้นที่เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) และพัฒนากลไกการทำงานเพื่อให้บริการและติดตามความคืบหน้าในการลงทุน รวมถึงเคาน์เตอร์รับเรื่องร้องเรียนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ พร้อมเน้นว่า…ธุรกิจต่างชาติจะได้รับการปฏิบัติด้วยความเสมอภาคและความทัดเทียมทางกฎหมาย การแข่งขัน และการคุ้มครอง/สิทธิประโยชน์ทางการลงทุน
ขณะนี้ รัฐบาลกว่างซีมุ่งพัฒนาระบบบริการเชิงลึกสำหรับธุรกิจต่างชาติในเขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) ภายใต้ “แผนงานจัดตั้งแพลตฟอร์มบริการแบบเบ็ดเสร็จสำหรับนักลงทุนต่างชาติในกว่างซี” ที่หน่วยงานภาครัฐจะทำหน้าที่เป็น “เสี่ยวเอ้อร์” (พนักงานบริการ) คอยติดตามให้บริการนักลงทุนต่างชาติ โดยโฟกัสไปที่การบริการและช่วยเหลือนักลงทุนต่างชาติ (Customer Service & Support) เพื่ออำนวยความสะดวกและยกระดับสภาพแวดล้อมทางการลงทุนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาจัดตั้งธุรกิจในกว่างซี รวมทั้งช่วยสนับสนุนธุรกิจต่างชาติให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรงและมั่นคง
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วง 2-3 ปีมานี้ กว่างซีได้รับนโยบายหลายอย่างจากรัฐบาลกลางที่เอื้อต่อการพัฒนา เสริมสร้างและขยายความร่วมมือกับอาเซียน ภายใต้ยุทธศาสตร์การเป็น Gateway to ASEAN ของจีน และระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (New Western Land and Sea Corridor – NWLSC) โดยมี “เขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี)” เป็นแพลตฟอร์มสำคัญ สะท้อนถึงศักยภาพการเติบโตของกว่างซีและเป็นอีกโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยที่สนใจทำการค้าและการลงทุนในกว่างซีของจีน
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 23 ตุลาคม 2564 และวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564
หนังสือพิมพ์หนานหนิง อีฟนิ่ง (南宁晚报) วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新网广西) วันที่ 27 ตุลาคม 2564
เว็บไซต์ http://nn.zwfw.gxzf.gov.cn (广西数字政务一体化平台)
The post ค้นหาคำตอบว่า…อะไรทำให้ ‘กว่างซี’ เนื้อหอม ดึงดูดนักลงทุน พร้อมก้าวสู่ฐานธุรกิจแห่งใหม่ของจีน appeared first on thaibizchina.