เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลมณฑลกุ้ยโจวได้แถลง “แผนดำเนินงานขยายการลงทุนที่มีประสิทธิภาพของมณฑลกุ้ยโจว ปี 2564-2566” โดยจะใช้เงินลงทุนราว 4 ล้านล้านหยวนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของมณฑล เพื่อพัฒนากุ้ยโจวยุคใหม่ที่มีคุณภาพสูงและบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศสังคมนิยมทันสมัยของจีน ซึ่งภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568) กุ้ยโจวมุ่งเน้นการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงด้วยแนวคิด “สี่ใหม่และสี่ทันสมัย” โดย “สี่ใหม่” (四新) หมายถึง การแสวงหาวิธีการและผลสำเร็จใหม่ 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาภาคตะวันตกยุคใหม่ การฟื้นฟูชนบท (Rural Revitalization) เศรษฐกิจดิจิทัล และอารยธรรมเชิงนิเวศ (Ecological Civilization) ส่วน “สี่ทันสมัย” (四化) หมายถึง การสร้างความทันสมัยใน 4 ด้าน ได้แก่ เกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และความเป็นเมือง ทั้งนี้ ตามแผนดำเนินงานขยายการลงทุนของกุ้ยโจวในช่วงสามปีได้กำหนดภารกิจที่สำคัญ ดังนี้
- ใช้เงินลงทุนราว 100,000 ล้านล้านหยวน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งแวดล้อม และบริการสาธารณะ
1.1 ยกระดับคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ชลประทาน พลังงาน และดิจิทัล
1.2 ปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งทางน้ำ ดินและอากาศ โดยเฉพาะมลภาวะที่เกิดจากอุตสาหกรรม การบำบัดน้ำเสียและการกำจัดขยะในชุมชน รวมถึงการปลูกป่าและพัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้
1.3 ยกระดับคุณภาพบริการสาธารณะ เช่น การศึกษา การแพทย์และสุขอนามัย และบ้านพักคนชรา
- ใช้เงินลงทุนราว 300,000 ล้านล้านหยวน พัฒนาการเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการ รวมถึง
ความเป็นเมือง
2.1 ด้านการเกษตร สร้างพื้นที่เพาะปลูกที่มีมาตรฐานสูงจำนวน 5.5 ล้านหมู่ (ประมาณ 2.3 ล้านไร่) และดำเนินโครงการเกษตรพื้นที่สูงทันสมัยเพื่อให้อำเภอที่หลุดพ้นจากความยากจนทั้งหมด 66 แห่งสามารถดำเนินโครงการ “หนึ่งอำเภอ หนึ่งนิคมอุตสาหกรรม” รวมถึงดำเนินการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร เครื่องจักรกลการเกษตรที่ใช้สำหรับพื้นที่สูง และการประมงที่เป็นมิตรกับระบบนิเวศ ตลอดจนปกป้องแหล่งเพาะพันธุ์ปศุสัตว์และพืชทางการเกษตร
2.2 ด้านอุตสาหกรรม ยกระดับคุณภาพภาคอุตสาหกรรมทั้งในด้านนวัตกรรม ความเป็นดิจิทัล และความเป็นอัจฉริยะ รวมถึงพัฒนาคุณภาพของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม
2.3 การท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพของบริษัทท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว และสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องน้ำ โรงแรม และที่จอดรถ รวมถึงยกระดับคุณภาพของภาคบริการ เช่น โลจิสติกส์ การค้า วัฒนธรรม และการเงิน
2.4 ความเป็นเมือง ดำเนินการฟื้นฟูเมืองอย่างจริงจัง โดยปรับปรุงเขตชุมชนเก่า ก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น รถไฟใต้ดิน รวมถึงปรับปรุงเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วมหรือน้ำขัง ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์
ที่มา: http://news.gog.cn/system/2021/11/30/018029425.shtml
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู