เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 สำนักงานพาณิชย์เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย รายงานสภาวะเศรษฐกิจในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
- ภาพรวมเศรษฐกิจ
ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวม 318,064 ล้านหยวน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 8.4 จำแนกเป็น
– อุตสาหกรรมปฐมภูมิ 23,549 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2
– อุตสาหกรรมทุติยภูมิ 137,006 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4
– อุตสาหกรรมตติยภูมิ 157,509 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2
- ภาคการเกษตรและปศุสัตว์
ภาพรวมการเกษตรและปศุสัตว์ของเขตฯ เติบโตขึ้นต่อเนื่อง ทำรายได้รวม 50,238 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 จำแนกเป็น
ประเภทการผลิต | ปริมาณ (ตัน) /
อัตราการเติบโต |
ประเภทการผลิต | ปริมาณ (ตัน) /
อัตราการเติบโต |
1. เนื้อสุกร | 897,700 / +7.7% | 4. ผลิตภัณฑ์จากนม | 2.07 ล้าน / +29.5% |
2. เนื้อวัว | 1.33 ล้าน / + 20.3% | 5. ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ | 124,000 / + 2.8% |
3. เนื้อแพะและแกะ | 6.62 ล้าน / + 10.9% | 6. ผักและผลไม้สด | 2.23 ล้าน / 37.6% |
- ภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนในโครงการใหม่ ๆ
3.1 ภาพรวมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (Large Scale Industries) ในพื้นที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 จำแนกเป็น (1) อุตสาหกรรมเบา (กลุ่มสินค้าเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคทั่วไป) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 และ (2) อุตสาหกรรมหนัก (กลุ่มการผลิตอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมโลหการ เครื่องจักร และพลังงาน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9
3.2 ทั้งเขตฯ มีการลงทุนในโครงการใหม่รวม 1,325 โครงการ รวมมูลค่า 124,379 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 ในจำนวนนี้ การลงทุนจากต่างประเทศรวมมูลค่า 282.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,892.6 ล้านหยวน) มีการจดทะเบียนบริษัทต่างชาติใหม่รวม 23 บริษัท อาทิ การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ (เส้นใยสแปนเด็กซ์) การลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า การผลิตชิปความจำ ตลอดจนอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์
3.3 มี 5 ประเทศลงทุนสูงสุด ได้แก่ (1) เขตบริหารพิเศษฮ่องกง 112.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.8 ของการลงทุนจากต่างประเทศ (2) สหรัฐอเมริกา 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3) เกาหลีใต้ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4) ตุรกี 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ (5) มาเลเซีย 6.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร
การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ลดลงร้อยละ 2.1 โดยการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมทุติยภูมิ (กลุ่มการผลิตที่วัตถุดิบอื่น ๆ ในการผลิต ตลอดจนการผลิตในด้านอุตสาหกรรม เช่น การผลิต การแปรรูปอาหาร การผลิตเหล็กเส้น เหล็กแผ่น เป็นต้น) ปรับลดลงมากที่สุดที่ร้อยละ 10 สะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวของการลงทุนในโครงการใหม่ในพื้นที่ อย่างไรก็ดี ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 12.7
- การบริโภคในพื้นที่
การบริโภคในพื้นที่เติบโตขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวม 99,614 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 จำแนกเป็น (1) การบริโภคในเขตเมือง 88,032 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 และ (2) การบริโภคในเขตชนบท 11,582 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 นอกจากนี้ การอุปโภคเชื้อเพลิงและพลังงานในพื้นที่มีอัตราเพิ่มขึ้นมากที่สุดที่ร้อยละ 24.2 ธุรกิจร้านอาหาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 และรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8
- การค้าระหว่างประเทศ
6.1 ศุลกากรนครหยินชวนรายงานว่า การค้าระหว่างประเทศของเขตฯ ใน 3 ไตรมาสแรกรวม 11,984 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.8 จำแนกเป็น
– การส่งออก 9,141.58 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.4
– การนำเข้า 2,842.99 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2
6.2 คู่ค้า 5 อันดับแรก
– ญี่ปุ่น 1438.03 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.78
– สหรัฐอเมริกา 1,192.51 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.94
– อินเดีย 1,062.81 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.25
– เกาหลีใต้ 817.39 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.26
– เยอรมนี 549.81 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.19
6.3 สินค้าส่งออกหลักของเขตฯ
– วัตถุดิบในการผลิตวิตามินและเกลือแร่ เพิ่มขึ้น 3.8 เท่า
– ยาปฏิชีวนะ เพิ่มขึ้น 1.1 เท่า
– เมไธโอนีน (Methionine) เพิ่มขึ้น 1.3 เท่า
– แมงกานีส เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.4
– โลหะผสมเหล็ก เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.9
– ไดไซแอนไดอะไมด์ (สารกำจัดศัตรูพืช) เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.5
– แร่แทนทาลัม ไนโอเบียม และเบริลเลียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1
- รายได้ประชากรและการจ้างงานในพื้นที่
7.1 รายได้ประชากรเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 19,424 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 โดยเป็น (1) รายได้ประชากรในเขตเมืองเฉลี่ยต่อหัว 27,489 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 และ (2) รายได้ประชากรในเขตชนบทเฉลี่ยต่อหัว 9,805 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9
7.2 ประชากรมีงานทำเพิ่มขึ้นกว่า 77,500 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 และมีประชากรใน
เขตชนบทอพยพและมีงานทำเพิ่ม 801,400 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2
- แนวโน้มการเติบโตในอุตสาหกรรม
8.1 ข้อมูลเพิ่มเติมจาก China Business Network ระบุว่า เขตฯ ได้พยายามปฏิรูปอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปฏิรูปโรงงานการผลิตที่มีขั้นตอนล้าสมัยหรือไม่มีระบบการบำบัดของเสียที่ทันสมัย ความพยายามในการยกระดับมาตรฐานด้านอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องนี้ ที่ผ่านมา พบว่าอุตสาหกรรมใหม่ (Emerging Industry) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยี มีอัตราการเติบโตเพิ่มมากขึ้นอีกทั้งยังมีสัดส่วนต่อภาคอุตสาหกรรมทั้งเขตฯ มากถึงร้อยละ 64.8 อัตราการสิ้นเปลืองพลังงานในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ลดลงจากร้อยละ 64 เหลือร้อยละ 61.1 สะท้อนให้เห็นถึงการปรับทิศทางและความต้องการยกระดับอุตสาหกรรมในพื้นที่ให้สามารถตอบโจทย์ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี เขตฯ ยังคงต้องเพิ่มระดับการพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูงที่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริงในวงการอุตสาหกรรม เนื่องจากแนวโน้มการลงทุนของวิสาหกิจด้านเทคโนโลยีชั้นสูงในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2563 เพิ่มขึ้นจากเดิมเพียงร้อยละ 2.4 เท่านั้น
8.2 อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีชั้นสูง พบว่ามีแนวโน้มการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะการเติบโตของกลุ่มธุรกิจให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและอินเทอร์เน็ต ที่มีการเติบโตในช่วง
3 ไตรมาสแรกของปี 2564 ร้อยละ 35 และร้อยละ 12.4 ตามลำดับ ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมต้นน้ำในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
สรุปภาพรวม
เศรษฐกิจเขตฯ หนิงเซี่ยหุยเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในช่วงที่ผ่านมาเห็นได้ชัดถึงแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตที่พึ่งพาเทคโนโลยี และมุ่งส่งเสริมการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตและการให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อนำเขตฯ ไปสู่พื้นที่การผลิตสินค้าที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง ยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแผนการยกระดับศักยภาพเขตฯ ภายใน 5 ปี (ปี 2564-2568) ได้แก่ (1) ยึดถือการพัฒนาอย่างมีคุณภาพสูง (High quality development) (2) เร่งส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาใช้ในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและชิ้นส่วนที่ต้องอาศัยเทคโนโลยี อุตสาหกรรม
สีเขียวที่เน้นการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Intelligent industry) โดยต้องมีสัดส่วนรายได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั่วทั้งเขตฯ (3) กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ให้ความสำคัญต่อทิศทางตลาดในประเทศมากขึ้น เพิ่มกิจกรรมประชาสัมพันธ์และยกระดับแบรนด์สินค้าท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักในผู้บริโภค และ (4) ปรับปรุงคุณภาพระบบนิเวศวิทยา เน้นการรักษาคุณภาพอากาศที่ได้มาตรฐานไว้อย่างต่อเนื่อง เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของเหมืองแร่ที่ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ลดอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานในองค์กรขนาดใหญ่ให้ไม่เกินร้อยละ 15/ปี (Reduce Coal and Electricity Consumption) และเพิ่มปริมาณพื้นที่ป่าทั่วเขตฯ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 จากพื้นที่ป่าเดิม
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 เขตฯ ได้ประกาศข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเงินสีเขียวเพื่อสนับสนุนด้านการเงินสู่การพัฒนาอย่างมีคุณภาพสูงของอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด“Implementing Opinions on Green Finance Supporting the High-Quality Development of the clean Energy Industry”3 โดยมีสำนักกำกับดูแลการธนาคารและการประกันภัยเขตฯ หนิงเซี่ยหุยร่วมกับ 5 หน่วยงานทางการเงินท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมภาคการเงินของอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดให้ก้าวสู่ยุคแห่งมาตรฐานและมีคุณภาพ ผ่านนโยบายทางการเงิน อาทิ (1) เขตฯ จะสนับสนุนเงินอุดหนุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.3 ในการขอสินเชื่อของวิสาหกิจที่จะลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด (2) ปรับยืดกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้กู้ยืม ตลอดจนการต่ออายุใบอนุญาตวิสาหกิจกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (3) ส่งเสริมส่วนลดค่าธรรมเนียม/ค่าดำเนินการธุรกรรมทางธนาคารให้แก่วิสาหกิจด้านพลังงานสะอาดที่ลงทุนใหม่ร้อยละ 10-20 (4) เริ่มทดลองการพัฒนาระบบประกันสินเชื่อโดยนำคาร์บอนเครดิตมาใช้เป็นหนึ่งในหลักเกณฑ์การพิจารณาวงเงินสินเชื่อพัฒนาประกันสินเชื่อโดยมีค่าการปล่อยคาร์บอนเป็นเงินกู้จำนำ เป็นต้น ถือเป็นการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมพลังงานควบคู่ไปกับการอนุรักษ์พลังงาน และกระตุ้นการใช้เครื่องมือการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
ข้อมูลอ้างอิง
- http://dofcom.nx.gov.cn/jgsz_274/nsjg/wstzfwc/csgz_44527/202110/t20211029_3108651.html
- https://baijiahao.baidu.com/s?id=1686200587324821156&wfr=spider&for=pc
- https://www.cdmfund.org/29328.html
The post เศรษฐกิจหนิงเซี่ย ขยายตัว 8.4% เร่งยกระดับการเงินสีเขียว เสริมอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด appeared first on thaibizchina.