ไฮไลท์
- นครหนานหนิงต่อยอดพื้นฐานความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการบริการขนส่งทางราง โดยเร่งพัฒนาฟังก์ชันของ “ท่ารถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” (Nanning International Railway Port/南宁国际铁路港) ให้เป็นศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้าและฐานการแปรรูปข้าวขัดขาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่มุ่งสู่อาเซียน
- พื้นที่ฟังก์ชันสำคัญในท่ารถไฟหนานหนิงที่เปิดให้ภาคธุรกิจเข้าจัดตั้งกิจการได้ ประกอบด้วย เขตโลจิสติกส์สำหรับ e-Commerce ไว้สำหรับคัดแยะและกระจายพัสดุด่วน รวมถึงงานโลจิสติกส์และกระจายสินค้าเทกอง (bulk) และ เขตแปรรูปสินค้าเกษตร ซึ่งในพื้นที่เขตแปรรูปจะมีโกดังขนาดใหญ่สำหรับธุรกิจแปรรูปข้าวขัดขาว และผู้ประกอบการน้ำมันพืช
- ในระยะต่อไป หน่วยงานการรถไฟจะเร่งผลักดันการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก ช่วยลดต้นรวมด้านโลจิสติกส์ให้กับบริษัทที่เข้ามาจัดตั้งธุรกิจ รวมถึงเร่งผลักดัน “ขบวนรถไฟสำหรับสินค้า e-Commerce” ให้วิ่งตรงเข้าสู่เขต โลจิสติกส์ ซึ่งนับเป็นภารกิจสำคัญในการพัฒนาระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่าง “ถนน + รถไฟ + เครื่องบิน” ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ช่วยยกระดับเครือข่ายการบริการด้านโลจิสติกส์ของท่ารถไฟหนานหนิงให้มีความครบวงจรมากยิ่งขึ้น
- โอกาส/ทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป โดยมี “ท่ารถไฟหนานหนิง” เป็น Hub หรือฐานธุรกิจ โดยผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากท่ารถไฟเป็น Distribution Center ผ่านเส้นทางรถไฟเวียดนาม-เขตฯ กว่างซีจ้วง(จีน) หรือเป็นฐานการผลิตและจำหน่ายสินค้าไปยังเมือง/มณฑลอื่นทั่วประเทศจีนได้เช่นกัน
บนพื้นฐานความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการบริการขนส่งทางราง นครหนานหนิงกำลังพัฒนาฟังก์ชันของ “ท่ารถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” (Nanning International Railway Port/南宁国际铁路港) ให้เป็นศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้าและฐานการแปรรูปข้าวขัดขาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่มุ่งสู่อาเซียน
“ท่ารถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” เป็นหนึ่งในโครงการเชิงสัญลักษณ์ของ “ระเบียงการขนส่งสายใหม่เชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า NWLSC (New Western Land and Sea Corridor) เป็น Key project ของศูนย์โลจิสติกส์ระดับประเทศประเภทท่าเรือบกในนครหนานหนิง และเป็นฐานโลจิสติกส์ที่สำคัญของบริษัท China State Railway Group Co.,Ltd. (中国国家铁路集团有限公司) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า China Railway
นายซ่ง เจียนเฉียง ผู้จัดการใหญ่บริษัท Guangxi Ningtie International Logistics Co.,Ltd. (广西宁铁国际物流有限公司) เปิดเผยว่า เขตโลจิสติกส์สำหรับ e-Commerce มีเนื้อที่ 118.75 ไร่ มีมูลค่าการลงทุน 1,000 ล้านหยวน โดยจะมีศูนย์คัดแยะและกระจายพัสดุด่วนและศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้าเทกอง (bulk) ซึ่งจะติดตั้งอุปกรณ์ทำงานอัจฉริยะในการคัดแยกพัสดุสินค้าได้อย่างอัตโนมัติ สามารถจัดการคำสั่งซื้อได้วันละ 8.5 แสนรายการ คาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานได้ภายในปลายปี 2565
ขณะที่ เขตแปรรูปสินค้าเกษตร มีเนื้อที่ 62.91 ไร่ พื้นที่สิ่งปลูกสร้างมากกว่า 50,000 ตร.ม. มีโกดังขนาดใหญ่สำหรับธุรกิจแปรรูปข้าวขัดขาว และผู้ประกอบการน้ำมันพืช จำนวน 4 หลัง สายการผลิตเพื่อการแปรรูปข้าวขัดขาว 12 สายจะสามารถเริ่มเปิดเดินเครื่องได้ภายในต้นปี 2565 มีกำลังการผลิตมากกว่า 5 แสนตัน
ในระยะต่อไป หน่วยงานด้านการรถไฟจะเร่งผลักดันการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก ช่วยลดต้นรวมด้านโลจิสติกส์ให้กับบริษัทที่เข้ามาจัดตั้งธุรกิจ รวมถึงเร่งผลักดัน “ขบวนรถไฟสำหรับสินค้า e-Commerce” ให้วิ่งตรงเข้าสู่เขต โลจิสติกส์ ซึ่งนับเป็นภารกิจสำคัญในการพัฒนาระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่าง “ถนน + รถไฟ + เครื่องบิน” ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ช่วยยกระดับเครือข่ายการบริการด้านโลจิสติกส์ของท่ารถไฟหนานหนิงให้มีความครบวงจรมากยิ่งขึ้น และช่วยส่งเสริมบทบาทการเป็นอีกหนึ่ง “ข้อต่อ” สำคัญของท่ารถไฟแห่งนี้บนระเบียง NWLSC
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การพัฒนาฟังก์ชันของ “ท่ารถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” นับเป็นความเคลื่อนไหวต่อเนื่องของท่ารถไฟแห่งนี้ หลังจากที่เมื่อเดือน พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ท่ารถไฟแห่งนี้ ได้เปิดใช้ “เขตปฏิบัติการควบคุมตรวจสอบทางศุลกากรในท่ารถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” เพื่อให้บริการด้านพิธีการศุลกากรขาเข้า-ขาออกแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว สำหรับสินค้านำเข้า-ส่งออกผ่านท่ารถไฟแห่งนี้
เขตปฏิบัติการควบคุมตรวจสอบทางศุลกากรในท่ารถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง มีเนื้อที่ราว 70.4 ไร่ ประตูไม้กั้น 12 ช่องจราจร (เข้า 6 ช่องทาง และออก 6 ช่องทาง) ลานตรวจสินค้ามีช่องรถบรรทุก 30 ช่องทาง มีอาคารโดมอเนกประสงค์ 3,060 ตร.ม. มีพื้นที่ลานตู้สินค้าและโกดังอุปกรณ์ตรวจกักกันโรค โดยได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้ปีละ 6 แสน TEUs และมีศักยภาพในตรวจสอบสินค้าได้ปีละ 65,000 ตู้
ในภาพรวม กระบวนการนำเข้า-ส่งออกที่ท่ารถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง ช่วยประหยัดเวลาได้ 3 วัน ยกระดับประสิทธิภาพงานขนส่งทางรถไฟ ทั้งประสิทธิภาพการทำงาน เวลา ต้นทุน และบริการที่ครบวงจร ช่วยแบ่งเบาภาระของการขนส่งทางถนนได้อีกขั้น รวมทั้งอำนวยความสะดวกและเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับผู้ค้าในพื้นที่ภาคตะวันตกของจีนในการทำการค้ากับอาเซียนได้เพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบัน ภาครัฐกำลังเร่งส่งเสริมการขนส่งด้วย “ระบบราง” และมีการพัฒนาโมเดลการขนส่งเพื่อเชื่อมกับการขนส่งรูปแบบอื่นอย่าง “เรือ+ราง” ที่ถือว่าเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป โดยมี “ท่ารถไฟหนานหนิง” เป็น Hub หรือฐานธุรกิจ กล่าวคือ
(1) การลำเลียงสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟ “กรุงฮานอย – เมืองด่งดัง – อำเภอระดับเมืองผิงเสียง – นครหนานหนิง” หรือโมเดลการขนส่งเรือ+ราง ในเส้นทาง “ท่าเรือแหลมฉบัง/กรุงเทพฯ – ท่าเรือชินโจว – ท่ารถไฟชินโจวตะวันออกในท่าเรือชินโจว – ท่ารถไฟนครหนานหนิง” เพื่อกระจายสินค้าไปยังเมือง/มณฑลอื่นทั่วประเทศจีน หรือต่อขยายไปยังเอเชียกลางและยุโรป
และ (2) การเข้ามาจัดตั้งธุรกิจเพื่อการค้าและการแปรรูปสินค้าในพื้นที่ฟังก์ชันของท่ารถไฟหนานหนิง เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของสิ่งอำนวยความสะดวกและการเป็น “ท่ารถไฟ” เพื่อการผลิตและจำหน่ายสินค้าไปยังเมือง/มณฑลอื่นทั่วประเทศจีนได้เช่นกัน
ประเด็นที่น่าสนใจ ในอนาคต หาก “ท่ารถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” สามารถเป็นจุดนำเข้า-ส่งออกผลไม้(ไทย)ได้ จะช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ส่งออกไทยในการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนได้อีกหนึ่งช่องทาง เพราะจะยังช่วยลดอุปสรรคในการขนส่งผลไม้ไทยไปจีนได้มากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการจราจรแออัดบริเวณด่านทางบกโหย่วอี้กวานในช่วงที่มีผลไม้ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก โดยหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งผลักดันกันต่อไป และบีไอซีจะเกาะติดสถานการณ์ความเคลื่อนไหวเพื่อนำเสนอกับผู้อ่านในโอกาสต่อไป
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网 ) วันที่ 17 ธันวาคม 2564
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新社广西 ) วันที่ 16 ธันวาคม 2564