ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่มีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก อีกทั้งยังสามารถพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมงด้วยเทคโนโลยีของตนเอง สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวจีน อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ห่างไกลของจีน โดยเฉพาะในมณฑลยูนนานซึ่งพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่อยู่ในหุบเขา เครือข่ายรถไฟธรรมดาแบบความเร็วต่ำ กลับมีความสำคัญเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงทางเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงยังเป็นช่องทางลำเลียงความช่วยเหลือทางเทคนิคตามนโยบายฟื้นฟูชนบท (rural revitalization) ที่รัฐบาลจีนกำลังขับเคลื่อนในขณะนี้ โดยต่อยอดจากการดำเนินนโยบายขจัดความยากจนที่ประกาศความสำเร็จไปแล้วเมื่อปี 2564
ช่วงเดือนธันวาคมของทุกปีเป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวแอปเปิ้ล ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่มีชื่อเสียงของเมืองจาวทงในมณฑลยูนนาน โดยในช่วงดังกล่าว ทุก ๆ เช้าภายในสถานีรถไฟจาวทงใต้จะคลาคล่ำไปด้วยเกษตรกรพร้อมตะกร้าแอปเปิ้ลจำนวนมากที่รอโดยสารรถไฟขบวน 5647 ไปยังนครกุ้ยหยางของมณฑลกุ้ยโจว ทั้งนี้ รถไฟโดยสารแบบธรรมดาขบวน 5645/7 ระหว่างเมืองจาวทงของมณฑลยูนนานกับนครกุ้ยหยางของมณฑลกุ้ยโจว ระยะทางรวม 407 กิโลเมตร เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2548 โดยวิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตลอดเส้นทางหยุดแวะรับส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟชนบท 18 แห่ง ใช้เวลาเดินทางตลอดสาย 9 ชั่วโมง 31 นาที สำหรับรถไฟขบวน 5647 จะเดินทางออกจากสถานีจาวทงใต้ในเวลา 10.30 น. ไปถึงนครกุ้ยหยางในเวลา 19.39 น. ของวันเดียวกัน และมีอัตราค่าโดยสารเพียง 54 หยวน
สถานีรถไฟจาวทงใต้อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านเสี่ยวหลงต้ง ซึ่งมีประชากร 2,636 หลังคาเรือนและส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ประกอบอาชีพเกษตรกรปลูกแอปเปิ้ล โดยทั้งหมู่บ้านมีพื้นที่เพาะปลูกแอปเปิ้ลรวม 12,000 หมู่ (ประมาณ 5,000 ไร่) มีผลผลิตรวมปีละกว่า 18,000 ตัน และเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ระหว่าง 40,000-180,000 หยวนต่อปี อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะมีการเปิดเดินรถไฟธรรมดาระหว่างเมืองจาวทงกับนครกุ้ยหยาง เกษตรกรในหมู่บ้านเคยประสบความยากลำบากในการจำหน่ายผลผลิต เนื่องจากต้องรอให้ผู้ซื้อเดินทางเข้ามารับซื้อแอปเปิ้ลถึงหมู่บ้านและมักถูกกดราคา แต่ภายหลังการเปิดเส้นทางรถไฟสายดังกล่าว เกษตรกรในหมู่บ้านก็สามารถนำแอปเปิ้ลของตนออกไปขายตรงให้แก่ผู้ซื้อที่อยู่ห่างไกลได้และมีอำนาจต่อรองด้านราคามากขึ้น อีกทั้งยังมีเกษตรกรบางส่วนรวมตัวกันเปิดตลาดนัดขายปลีกแอปเปิ้ลในเมืองที่รถไฟสายนี้วิ่งผ่าน เช่น ที่เมืองลิ่วผานสุ่ยของมณฑลกุ้ยโจว
ขณะนี้รถไฟธรรมดาสายเมืองจาวทงกับนครกุ้ยหยางช่วยขนส่งแอปเปิ้ลเฉลี่ยวันละ 30-40 ตัน ที่สำคัญ ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว เจ้าหน้าที่ของกลุ่มบริษัทการรถไฟจีน (China State Railway Group Co., Ltd.: CR) ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับรถไฟสายนี้ ยังร่วมอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือจำหน่ายผลผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกแอปเปิ้ลจากเมืองจาวทงด้วย นับตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารร่วมขบวนช่วยซื้อแอปเปิ้ลจากเกษตรกรที่โดยสารบนรถไฟ การจัดพื้นที่จัดแสดงสินค้าแอปเปิ้ลบนรถไฟขบวนนี้ การพ่วงตู้สินค้าเพิ่มท้ายขบวนสำหรับขนส่งแอปเปิ้ล การปรับตำแหน่งจอดเทียบรถไฟที่ชานชาลาเพื่ออำนวยความสะดวกการขนแอปเปิ้ลขึ้นลงรถของเกษตรกร ไปจนถึงการหาตลาดให้แก่เกษตรกร โดยปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่การรถไฟจีนได้ดำเนินการลงทะเบียนเกษตรกรและผู้ซื้อแอปเปิ้ลรายใหญ่ตลอดเส้นทางเดินรถไฟสายนี้กว่า 10 ราย จนสามารถสร้างปริมาณยอดขายแอปเปิ้ลได้มากกว่า 200 ตัน
ในช่วงที่ผ่านมา รถไฟธรรมดาสายนี้ก็ยังได้ช่วยขนส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรเข้าไปยังเมืองจาวทงอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตแอปเปิ้ลคุณภาพสูงปริมาณมากขึ้น จนปัจจุบันหมู่บ้านเสี่ยวหลงต้งมีพื้นที่เพาะปลูกแอปเปิ้ลที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้นกว่า 3,000 หมู่ (ประมาณ 1,250 ไร่) นอกจากนี้ ในทุก ๆ วัน ผลผลิตแอปเปิ้ลของหมู่บ้านแห่งนี้กว่า 60-80 ตัน จะถูกส่งออกไปขายยังตลาดภายนอก จนทำให้รายได้รวมของเกษตรกรผู้ปลูกแอปเปิ้ลภายในหมู่บ้านใกล้แตะระดับ 40 ล้านหยวนแล้ว
ในภาพรวม แม้ขณะนี้จีนจะมีเครือข่ายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงความยาวกว่า 38,000 กิโลเมตร สูงเป็นอันดับที่หนึ่งของโลก แต่หน่วยงานด้านการรถไฟของจีนก็ยังคงมุ่งพัฒนาเครือข่ายรถไฟธรรมดาอย่างมีคุณภาพเพื่อช่วยส่งเสริมการเข้าถึงและสร้างความมั่งคั่งในพื้นที่ชนบทห่างไกลดังเช่นกรณีเกษตรกรผู้ปลูกแอปเปิ้ลในเมืองจาวทงข้างต้น อันเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายฟื้นฟูชนบทของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีนอย่างเป็นรูปธรรม
ที่มา: http://guizhou.chinadaily.com.cn/2022-01/05/c_696413.htm
https://3g.163.com/local/article/GR3A6HVF04108DGB.html