ไฮไลท์
- เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 ขบวนรถไฟขนส่งสินค้า ขบวนที่ 24508 ที่ลำเลียง “ทุเรียนไทย” จำนวน 17 ตู้ รวมน้ำหนัก 288 ตัน มูลค่า 11 ล้านหยวน ได้ผ่านเข้าสู่ “ด่านรถไฟผิงเสียง” นับเป็นขบวนรถไฟขนส่งผลไม้จากอาเซียนขบวนแรกที่เข้าสู่ด่านรถไฟผิงเสียงหลังจากที่ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ
- “ด่านรถไฟผิงเสียง” เป็นด่านนำเข้าผลไม้ทางรถไฟแห่งแรกของประเทศจีนและเป็นทางเลือก(ไม่)ใหม่ที่ฉีกกฎการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนแบบเดิมๆ ที่เคยใช้ทางรถบรรทุก ทางเรือ และทางเครื่องบินเท่านั้น โดยผลไม้ไทยใช้ประโยชน์จากด่านรถไฟแห่งนี้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563
- ด่านแห่งนี้ได้ติดตั้งระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอ็กซเรย์แบบขับผ่าน H986 โดยเครื่องดังกล่าวจะทำการเอ็กซเรย์สแกนภาพสินค้าภายในตู้สินค้าได้อย่างชัดเจนขณะรถไฟวิ่งผ่าน ช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบสินค้าเหลือเพียง 1 นาที ช่วยลดความเสียหายของผลไม้จากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิตู้สินค้าและการรื้อตู้สินค้า ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และช่วยให้ผลไม้คงความสดใหม่ไว้ได้นาน
- ด่านรถไฟผิงเสียงเป็นอีกหนึ่ง “ทางเลือก” ในการระบายผลไม้ไทย โดยเฉพาะช่วงที่ผลไม้ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่รถบรรทุกต้องรอคิวที่ด่านโหย่วอี้กวาน พูดง่ายๆ คือ ไม่ต้องรอคิวนานแถมยังขนตู้สินค้าได้ครั้งละมากๆ แม้ว่าโมเดล “รถ+ราง” จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารถบรรทุกเล็กน้อย แต่คุ้มค่ากับการควักกระเป๋าจ่ายเพื่อซื้อเวลา
หลังจากเจรจากันมายาวนานเกือบ 10 ปี ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 โดยภาคส่วนต่างๆ ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อหลายสำนักมีความตื่นตัวกับการบรรลุความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง RCEP อยู่มากพอสมควร
ทำไมถึงกล่าวว่า RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก นั่นเพราะว่า 15 ชาติสมาชิกในกรอบ RCEP คือ กลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีประชากรรวมกันถึง 30.2% ของประชากรโลก (ราว 2,300 ล้านคน) มูลค่า GDP กว่า 1 ใน 3 ของ GDP โลก (28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมูลค่าการค้ารวม 30.3% ของมูลค่าการค้าของโลก (10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ไฮไลท์สำคัญของความตกลง RCEP นอกจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีระหว่างชาติสมาชิกแล้ว (สมาชิก RCEP ยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ) ก็คือ การอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่ชาติสมาชิก โดยเฉพาะสินค้าที่เน่าเสียง่ายจะได้รับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าปกติภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งหมายความว่า ผลไม้ไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากความตกลงดังกล่าว
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 ขบวนรถไฟขนส่งสินค้า ขบวนที่ 24508 ที่ลำเลียง “ทุเรียนไทย” จำนวน 17 ตู้ รวมน้ำหนัก 288 ตัน มูลค่า 11 ล้านหยวน ได้ผ่านเข้าสู่ “ด่านรถไฟผิงเสียง” นับเป็นขบวนรถไฟขนส่งผลไม้จากอาเซียนขบวนแรกที่เข้าสู่ด่านรถไฟผิงเสียงหลังจากที่ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ
“ด่านรถไฟผิงเสียง” ตั้งอยู่ในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงของเมืองฉงจั่ว ห่างจากด่านทางบกโหย่วอี้กวานราว 14 กิโลเมตร เป็นด่านนำเข้าผลไม้ทางรถไฟแห่งแรกของประเทศจีน และเป็นทางเลือก(ไม่)ใหม่ที่ฉีกกฎการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนแบบเดิมๆ ที่เคยใช้ทางรถบรรทุก ทางเรือ และทางเครื่องบินเท่านั้น โดยผลไม้ไทยใช้ประโยชน์จากด่านรถไฟแห่งนี้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 และจากสถิติปี 2564 ขบวนรถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนาม วิ่งให้บริการรวม 346 เที่ยว เพิ่มขึ้น 108.4% (YoY) ในจำนวนนี้ เป็นการขนส่งผลไม้ 19,400 ตัน เพิ่มขึ้น 14.66% (YoY)
ที่ผ่านมา ด่านรถไฟผิงเสียงมีการพัฒนาระบบบโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในกระบวนการทางศุลกากรให้มีประสิทธิภาพความพร้อมรองรับการนำเข้า-ส่งออกอยู่อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น การติดตั้งระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอ็กซเรย์แบบขับผ่าน (Fast Scan) ที่มีชื่อเรียกว่า H986 เมื่อรถไฟวิ่งผ่านเครื่องดังกล่าวจะทำการเอ็กซเรย์สแกนภาพสินค้าภายในตู้สินค้าได้อย่างชัดเจน ช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบสินค้าเหลือเพียง 1 นาที จากเดิมที่ต้องใช้วิธีเปิดตู้ตรวจสินค้าด้วยแรงงานคน ซึ่งต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ช่วยลดความเสียหายของผลไม้จากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิตู้สินค้าและการรื้อตู้สินค้า ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และช่วยให้ผลไม้คงความสดใหม่ไว้ได้นาน
โอกาสของผู้ส่งออกผลไม้ไทย ด่านรถไฟผิงเสียงเป็นอีกหนึ่ง “ทางเลือก” ในการระบายผลไม้ไทย โดยเฉพาะช่วงที่ผลไม้ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่รถบรรทุกต้องรอคิวที่ด่านโหย่วอี้กวาน พูดง่ายๆ คือ ไม่ต้องรอคิวนานแถมยังขนตู้สินค้าได้ครั้งละมากๆ แม้ว่าโมเดล “รถ+ราง” จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารถบรรทุกเล็กน้อย แต่คุ้มค่ากับการควักกระเป๋าจ่ายเพื่อซื้อเวลา
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกผลไม้ไทยสามารถใช้รถบรรทุกสินค้าลำเลียงสินค้าออกจากภาคอีสานทางถนน R8 (หนองคาย) R9 (มุกดาหาร) และ R12 (นครพนม) ผ่าน สปป. ลาว เข้าสู่เวียดนาม ผ่านกรุงฮานอย มุ่งหน้าไปที่สถานีรถไฟด่งดัง (Dong Dang) จังหวัดลางเซิน เพื่อลำเลียงตู้สินค้าขึ้นขบวนรถไฟ ก่อนเข้าไปที่ด่านรถไฟผิงเสียงของกว่างซีด้วยระยะทางเพียง 17 กิโลเมตร ใช้เวลาวิ่งเพียง 1 ชั่วโมง ทั้งนี้ สำหรับสินค้าทั่วไปสามารถลำเลียงตู้สินค้าขึ้นขบวนรถไฟที่สถานีรถไฟ Yên Viên ในกรุงฮานอย
หลังจากตู้สินค้าลำเลียงเข้ามาถึงด่านรถไฟผิงเสียงเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรแล้ว ก็สามารถใช้โครงข่ายทางรถไฟของจีนลำเลียงผลไม้ไปยังหัวเมืองสำคัญทั่วจีน ซึ่งมีอยู่หลายเส้นทาง อาทิ นครเซี่ยงไฮ้ใช้เวลา 45 ชั่วโมง กรุงปักกิ่งใช้เวลา 70 ชั่วโมง หรือจะส่งไปไกลถึงเอเชียกลางและยุโรปผ่าน China-Europe Railway Express ใช้เวลา 7-10 วัน (ทางเรือใช้เวลา 1 เดือน)
แล้วจะเลือกขนส่งสินค้าต่ออย่างไร…รถไฟมีความได้เปรียบในการขนส่งระยะทางไกล จึงเหมาะกับการกระจายสินค้าไปที่หัวเมืองภาคตะวันออก/ภาคเหนือ หากเป็นการขนส่งระยะสั้น ควรใช้การขนส่งทางรถบรรทุก เช่น หากส่งผลไม้ไปยังนครกว่างโจวของมณฑลกวางตุ้ง รถบรรทุกใช้เวลาเพียง 1-2 วัน จึงประหยัดเวลาได้มากกว่าทางรถไฟที่อาจต้องใช้เวลานานถึง 4 วัน
นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางรถบรรทุกแล้ว การขนส่งทางรถไฟมีข้อได้เปรียบด้านศักยภาพการขนส่ง ไม่สิ้นเปลืองน้ำมันและแรงงานคนขับ กอปรกับในช่วงที่หน่วยงานบริหารจัดการด่านของจีนมีการบังคับใช้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในบริเวณชายแดนอย่างเข้มงวด การขนส่งทางรถไฟจะช่วยลดความเสี่ยงจากคนขับที่หมุนเวียนเข้า-ออกด่านได้อย่างมาก และมีข้อได้เปรียบในกระบวนการผ่านพิธีการศุลกากรแบบไร้เอกสาร (e-Paperless) ที่มีความรวดเร็ว การเลี่ยงความเสียหายจากการจราจรที่แออัดของรถบรรทุกบริเวณด่านทางบก รวมถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าในการกระจายสินค้าในระยะไกล
ทั้งนี้ บริการการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางรถไฟ (กรุงฮานอย+นครหนานหนิง) ไม่ได้จำกัดเฉพาะสินค้าผลไม้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินค้าเทกอง (Bulk) สินแร่ ไม้ซุง และเหล็กกล้า อุปกรณ์เครื่องจักรกล ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของใช้ในชีวิตประจำวัน และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็งด้วย
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ด่านรถไฟผิงเสียงช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ส่งออกไทยในการระบายผลไม้ไทยไปจีนและช่วยลดอุปสรรคการขนส่งผลไม้ไทยไปจีนได้มากขึ้น ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเที่ยวรถไฟเวียดนาม-จีนในการลำเลียงสินค้าเข้าสู่ตลาดทั่วประเทศจีน โดยเฉพาะในช่วงที่มีผลไม้ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดจากการที่รถบรรทุกต้องรอคิวที่ด่านทางบกโหย่วอี้กวาน โดยผู้ส่งออกสามารถเลือกใช้การขนส่งทางรถไฟเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรที่ด่านรถไฟผิงเสียง แล้วเปลี่ยน(ยกตู้)ไปใช้รถบรรทุกเพื่อกระจายไปยังหัวเมืองอื่นทั่วจีนได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ในการใช้ประโยชน์จากด่านรถไฟผิงเสียง ผู้ส่งออกยังต้องพิจารณาเรื่อง “ตลาดปลายทาง” ด้วย เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากด่านเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด รวมทั้งผู้ส่งออกต้องตระหนักถึงปัญหาโรคแมลงศัตรูพืชการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในผลไม้ที่ส่งออกไปจีน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรมีการสุ่มตรวจผลไม้อย่างเข้มงวด ผู้ส่งออกจึงจำเป็นต้องรักษาคุณภาพสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อของ FAO และ WHO อย่างเคร่งครัดด้วยเพื่อส่งออกได้อย่างราบรื่นไปจนถึงตลาดปลายทาง
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ https://gx.news.cn (广西新闻网 ) วันที่ 6 มกราคม 2565
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 6 มกราคม 2565
เว็บไซต์ www.xinhuanet.com วันที่ 6 มกราคม 2565