เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการเศรษฐกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศนครฉงชิ่งเผยแพร่ “ร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะพลังงานใหม่ในนครฉงชิ่ง” ซึ่งวางเป้าหมายให้นครฉงชิ่งผลิตรถยนต์อัจริยะพลังงานใหม่ 1 ล้านคันภายในปี 2568 คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด
ปี 2568 นครฉงชิ่งจะสร้างฐานการผลิตรถยนต์และอะไหล่รถยนต์อัจฉริยะพลังงานใหม่ และสร้างเขตนำร่องรถยนต์อัจฉริยะ เมืองสาธิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบเปลี่ยนแบตเตอรี่ และเมืองสาธิตรถยนต์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เพื่อพัฒนาให้นครฉงชิ่งเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะพลังงานใหม่ของจีน
ภายในปี 2568 นครฉงชิ่งจะมีบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศไฟฟ้า พวงมาลัยไฟฟ้า และเบรกไฟฟ้า จำนวน 5 แห่ง และมีกำลังการผลิตแบตเตอรี่รวม 8 พันล้านวัตต์ต่อปี กำลังการผลิตมอเตอร์และระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ 1 ล้านชุดต่อปี โดยมูลค่าการผลิตของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ของยานยนต์อัจฉริยะจะมีอัตราส่วนร้อยละ 40 ของมูลค่าการผลิตรถยนต์ทั้งหมด
นครฉงชิ่งวางแผนจะสร้างเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 230,000 เครื่อง โดยแบ่งเป็นเครื่องชาร์จสาธารณะ 30,000 เครื่อง และเครื่องชาร์จส่วนตัว 200,000 เครื่อง และสร้างสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่จำนวน 200 แห่ง และสถานีเติมไฮโดรเจน 10 แห่ง สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้สามารถรองรับรถยนต์พลังงานใหม่มากกว่า 500,000 คัน (รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน 5,000 คัน)
นอกจากนี้ นครฉงชิ่งยังเร่งผลักดันให้มีการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่อัจฉริยะระดับไฮเอนด์ โดยส่งเสริมโครงการรถยนต์อัจฉริยะพลังงานใหม่ของแบรนด์ต่าง ๆ อาทิ Changan Avatr และ seres ฯลฯ
รัฐบาลนครฉงชิ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนารถยนต์อัจฉริยะพลังงานใหม่ โดยใช้พลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับ “BCG Model” ของไทย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรฐกิจ/สังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน
ในส่วนของไทย คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ตั้งเป้าหมายให้ไทยผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 225,000 คัน รถจักรยานยนต์ 360,000 คัน และรถบัส/ รถบรรทุก 18,000 คัน ภายในปี 2568 รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศ ในการนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ตลอดจนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถยนต์อาจมีความร่วมมือหรือแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนพัฒนาทักษะอุตสาหกรรมในด้านนี้ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของไทย รวมถึงเพิ่มศักยภาพของแรงงานไทย และวิจัยเทคโนโลยีการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เพื่อปรับปรุงอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
แหล่งข้อมูลอ้างอิง: เว็บไซต์สำนักข่าว cqnews (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565)
http://cq.cqnews.net/html/2022-01/04/content_927815544772849664.html