เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 มณฑลกุ้ยโจวจัดการประชุมด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมชาของมณฑลและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพและแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมชาของมณฑลกุ้ยโจว ซึ่งในปี 2564 อุตสาหกรรมชาของกุ้ยโจวมีศักยภาพที่โดดเด่น ดังนี้
- คุณภาพใบชา มณฑลกุ้ยโจวได้มุ่งเน้นการพัฒนา “สวนชาสีเขียว” โดยเป็นมณฑลแรกของจีนที่ห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดละลายน้ำและไกลโฟเสต (Glyphosate) ในสวนชา รวมถึงในอนาคต จะเพิ่มจำนวนสารกำจัดศัตรูพืชต้องห้ามจาก 62 ชนิด เป็น 128 ชนิด เพื่อส่งเสริมให้สวนชาทั้งมณฑลเป็นสวนชาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ตัวอย่างใบชาของกุ้ยโจวที่ส่งไปตรวจสอบคุณภาพในระดับมณฑลและที่กระทรวงเกษตรและกิจการชนบทจีน ก็ไม่เคยพบสารกำจัดศัตรูพืชและโลหะหนักตกค้างเป็นเวลา 10 ปีติดต่อกัน ขณะเดียวกัน ชากุ้ยโจวยังได้รับการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยสารสกัดโดยรวมจากชาเขียวของมณฑลมีปริมาณสูงกว่าร้อยละ 40 ซึ่งสูงกว่าระดับมาตรฐานของจีน อีกทั้งยังมีปริมาณกรดอะมิโนสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยของจีนอีกด้วย
- ผลผลิตและการส่งออก จนถึงสิ้นปี 2564 มณฑลกุ้ยโจวมีพื้นที่เพาะปลูกชา 7 ล้านหมู่ (ประมาณ 2.9 ล้านไร่) มีปริมาณผลผลิต 469,900 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.74 รวมมูลค่า 57,095 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.32 มีมูลค่าการส่งออกใบชา 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.9 โดยใบชากลายเป็นสินค้าเกษตรที่มณฑลกุ้ยโจวส่งออกสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง
- การลงทุนและความสามารถของบริษัทชา ในปี 2564 มณฑลกุ้ยโจวสามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมชา 180 โครงการ ปัจจุบัน มณฑลมีบริษัทและสหกรณ์แปรรูปใบชา 5,813 แห่ง โดยเป็นบริษัทชั้นนำระดับประเทศ 12 แห่ง สูงเป็นอันดับที่ 2 ของจีน และเป็นบริษัทชั้นนำระดับมณฑล 230 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.7 ของบริษัทชั้นนำทั้งมณฑล ซึ่งมีสัดส่วนสูงที่สุดในบรรดาอุตสาหกรรมการเกษตรทุกประเภทของมณฑล ขณะเดียวกัน จากการจัดอันดับของสมาคมตลาดชาจีน (China Tea Marketing Association) มณฑลกุ้ยโจวมี “อำเภออุตสาหกรรมชายอดเยี่ยม 100 อันดับแรกของจีน” ถึง 11 อำเภอ ในจำนวนนี้ อำเภอเหมยถานของเมืองจุนอี้ได้รับการจัดอันดับสองปีติดต่อกัน นอกจากนี้ มณฑลยังมี “บริษัทอุตสาหกรรมชายอดเยี่ยม 100 อันดับแรกของจีน” 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท Guizhou Guicha จำกัด บริษัท Guizhou Lanxin Tea Industry จำกัด และบริษัท Guizhou Spring Snow Tea จำกัด
สำหรับในปี 2565 มณฑลกุ้ยโจวตั้งเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมชาโดยจะส่งเสริมการขยายพื้นที่เพาะปลูกชาเพิ่มขึ้นมากกว่า 7 ล้านหมู่ (มากกว่า 2.9 ล้านไร่) มูลค่าผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 63,000 ล้านหยวน หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 และมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มเป็น 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 และมีแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมชาเพื่อช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรตามนโยบายฟื้นฟูชนบทของรัฐบาลจีน อาศัยข้อได้เปรียบของแบรนด์ “ชาเขียวของมณฑลกุ้ยโจว” เป็นผู้นำทางการตลาด มุ่งเน้นลูกค้าในภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเป็นหลัก ตลอดจนผสานการพัฒนาอุตสาหกรรมชาเข้ากับการท่องเที่ยวและการผลิตอัจฉริยะ รวมถึงการพัฒนาทั้งห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมชา
ที่มา: http://news.gog.cn/system/2022/01/07/018054494.shtml
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู