ไฮไลท์
- หลายปีมานี้ รัฐบาลกลางได้มอบนโยบายนำร่องเพื่อสนับสนุนการเปิดกว้างภาคการเงินการธนาคารของกว่างซีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อเดือนธันวาคม 2561 รัฐบาลกลางได้ยกระดับยุทธศาสตร์การเปิดกว้าง “ประตูการเงินสู่อาเซียน” หรือ Financial Gateway to ASEAN ขึ้นเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ และกำหนดให้
กว่างซีเป็นพื้นที่นำร่องนโยบายการพัฒนาและปฏิรูปภาคการเงิน การธนาคาร และการประกันภัย - แบงค์ชาติจีน สาขาหนานหนิง เปิดเผยว่า ปี 2564 การรับ-ชำระบัญชีการค้าสินค้าระหว่างประเทศของกว่างซีได้สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 50,080 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+32.2%) คิดเป็นสัดส่วน 78.8% ของมูลค่ารวมการรับ-ชำระบัญชีระหว่างประเทศ (Cross-border receipt and payment) โดยเฉพาะการรับ-ชำระบัญชีระหว่างประเทศกับ “8 ชาติในอาเซียน” (ยกเว้นเมียนมา และเวียดนาม) มีอัตราขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 48.8%
- รัฐบาลกว่างซีได้จัดตั้ง “ย่านการเงินจีน-อาเซียน” หรือ China-ASEAN Financial Town ที่เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงของนครหนานหนิง เพื่อรองรับ key projects ด้านการส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างสถาบันการเงินจีน-อาเซียน ตามข้อมูล ณ สิ้นปี 2564 พบว่า ย่านแห่งนี้มีสถาบันการเงินและประกันภัยชั้นนำในประเทศและต่างประเทศเข้าไปจัดตั้งสำนักงานแล้ว 285 ราย
- นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มให้นักลงทุนแสวงหากำไร 4 ด้าน คือ ตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดค้าทองคำ ตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค (ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นได้เข้ามาจัดตั้งศูนย์บริการซื้อขายหลักทรัพย์แล้ว) และตลาดซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญาในภูมิภาค
- ความสำคัญของเศรษฐกิจจีนที่มีต่ออาเซียนและประเทศไทย และความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากวิกฤติการเงินโลก การใช้เงินหยวนจึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ทำการค้าและการลงทุนกับจีน เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและไม่มีต้นทุน (กำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน) เพิ่มอำนาจการต่อรองกับคู่ค้าจีน และเป็นการกระจายความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจากสกุลเงินเดียว ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารไทยหลายแห่งมีให้บริการแล้ว
หลายปีมานี้ รัฐบาลกลางได้มอบนโยบายนำร่องเพื่อสนับสนุนการเปิดกว้างภาคการเงินการธนาคารของกว่างซีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมการชำระบัญชีการค้าข้ามแดน และธุรกรรมสินเชื่อสกุลเงินหยวนข้ามแดนกับอาเซียน และเมื่อเดือนธันวาคม 2561 รัฐบาลกลางได้ยกระดับยุทธศาสตร์การเปิดกว้าง “ประตูการเงินสู่อาเซียน” หรือ Financial Gateway to ASEAN ของเขตฯ กว่างซีจ้วง ขึ้นเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ และกำหนดให้กว่างซีเป็นพื้นที่นำร่องนโยบายการพัฒนาและปฏิรูปภาคการเงิน การธนาคาร และการประกันภัย ก่อนที่จะขยายผลการดำเนินการในวงกว้าง
ธนาคารประชาชนแห่งชาติจีน สาขาหนานหนิง (กำกับดูแลด้านการเงินการธนาคารของทั้งเขตฯ กว่างซีจ้วง) เปิดเผยว่า ปี 2564 เงินทุนหมุนเวียนระหว่างประเทศของกว่างซีมีมูลค่า 63,570 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.1% (YoY) และการซื้อขายเงินตราระหว่างประเทศของธนาคารมีมูลค่า 33,040 ล้านหยวน ขยายตัว 39.2% (YoY)
สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของกว่างซีที่ยังคงรักษาระดับการขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของการรับ-ชำระบัญชีการค้าสินค้าระหว่างประเทศของกว่างซี โดยปีที่ผ่านมา มูลค่าการรับ-ชำระบัญชีการค้าสินค้าระหว่างประเทศของกว่างซีได้สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 50,080 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 32.2% (YoY) คิดเป็นสัดส่วน 78.8% ของมูลค่ารวมการรับ-ชำระบัญชีระหว่างประเทศ (Cross-border receipt and payment)
นอกจากนี้ การรับ-ชำระบัญชีระหว่างประเทศระหว่างกว่างซีกับชาติสมาชิกในกรอบ RCEP / ชาติสมาชิกอาเซียน และเขตพื้นที่เขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า หรือ GBA มีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยคิดเป็นสัดส่วน 65.9% ของมูลค่ารวมการรับ-ชำระบัญชีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการรับ-ชำระบัญชีระหว่างประเทศกับ “8 ชาติในอาเซียน” (ยกเว้นเมียนมา และเวียดนาม) มีอัตราขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 48.8%
การพัฒนายุทธศาสตร์ “ประตูการเงินสู่อาเซียน” ของกว่างซี รัฐบาลกว่างซีได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลกลางในการจัดตั้ง “ย่านการเงินจีน-อาเซียน” หรือ China-ASEAN Financial Town (中国-东盟金融城) ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงของนครหนานหนิง เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มหลักในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างสถาบันการเงินจีน-อาเซียน ข้อมูล ณ สิ้นปี 2564 ย่านแห่งนี้มีสถาบันการเงินและประกันภัยชั้นนำในประเทศและต่างประเทศเข้าไปจัดตั้งสำนักงานแล้ว 285 ราย และมีแพลตฟอร์มให้นักลงทุนแสวงหากำไร 4 ด้าน คือ ตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดค้าทองคำ ตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค (ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นได้เข้ามาจัดตั้งศูนย์บริการซื้อขายหลักทรัพย์แล้ว) และตลาดซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญาในภูมิภาค
ภายใน “ย่านการเงินจีน-อาเซียน” ได้แบ่งพื้นที่ตามฟังก์ชันการใช้งานเป็น 4 โซน คือ
- โซนสำนักงานใหญ่สถาบันการเงิน (Financial Headquarters Zone) เป็นพื้นที่ที่ทำการสำนักงาน(ใหญ่)ของสถาบันการเงินและประกันภัยทั้งในและต่างประเทศ(อาเซียน) เป็นศูนย์กลางการเงินและศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ระดับสากลที่มีฟังก์ชันครบครัน
- โซนบริการข้อมูลสารสนเทศทางการเงิน (Financial Information Service Zone) เป็นพื้นที่สนับสนุนด้านการบริหารจัดการ การพัฒนา และบริการข้อมูลสารสนเทศทางการเงินแบบครบวงจร ทั้ง Financial Big Data / Financial Cloud และ Financial Information
- โซนบริการปฏิบัติการด้านการเงิน (Financial Operation Service Zone) เป็นพื้นที่สนับสนุนการปฏิบัติงานขั้นกลางและหลังบ้าน (Mid and Back-office) การชำระบัญชีการเงินข้ามแดน และธุรกรรมต่างประเทศ การวิจัยและพัฒนาการเงินข้ามแดน และบริการภาษาอาเซียน
- โซนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและการเงิน (Technological and Financial Industries Zone) เป็นพื้นที่ที่รวมองค์กร/สถาบันเทคโนโลยี การเงิน การลงทุน และโบรกเกอร์ที่จะช่วยสนับสนุนนวัตกรรมทางการเงิน
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีได้มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและขยายความร่วมมือกับอาเซียนในทุกมิติ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงกฎระเบียบ และการให้สิทธิประโยช์ด้านการค้าการลงทุน เพื่อส่งเสริมบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะการปรับปรุงนโยบายรัฐให้ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เช่น การปรับแก้กฎระเบียบ ลดขั้นตอน ลดข้อจำกัดของทุนต่างชาติในการเข้าสู่ตลาด รวมถึงกลไกการคุ้มครองผลประโยชน์สำหรับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตของกว่างซีและเป็นอีกโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยที่สนใจทำการค้าและการลงทุนในกว่างซี
โดย “เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง” ที่เป็นศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ของนครหนานหนิง ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวอันรวดเร็วของนครหนานหนิงในปัจจุบันและในอนาคต โดยรัฐบาลกว่างซีอยู่ระหว่างการผลักดันให้เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเขตเมืองใหม่แห่งชาติเช่นเดียวกับเขตเมืองใหม่ผู่ตงของนครเซี่ยงไฮ้
ปัจจุบัน เขตเมืองใหม่แห่งนี้มีระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันและทันสมัย โดยหน่วยงานภาครัฐ สำนักงานใหญ่ของธนาคารและบริษัทประกันภัย อาทิ กรมพาณิชย์กว่างซี ธนาคารแบงค์ออฟไชน่าสาขาฮ่องกง ธนาคารกวางต้าจากกรุงปักกิ่ง ธนาคารปั๋วไห่จากนครเทียนจิน บริษัทประกันภัยไท่ผิง บริษัทประกันภัยผิงอัน ได้ทยอยย้ายที่ทำการเข้าไปในเขตดังกล่าวแล้ว
บีไอซี เห็นว่า ในเชิงนโยบาย “ไทย” เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความร่วมมือด้านการเงินที่ใกล้ชิดกับจีน โดยประเทศไทยได้กำหนดให้เงินหยวนเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ มีการลงนามในความตก SWAP เงินบาทกับเงินหยวน ได้จัดให้มีการชำระดุลเงินหยวนระหว่างธนาคารสองประเทศ
ความสำคัญของเศรษฐกิจจีนที่มีต่ออาเซียนและประเทศไทย และความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากวิกฤติการเงินโลก การใช้เงินหยวนจึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ทำการค้าและการลงทุนกับจีน เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและไม่มีต้นทุน (กำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน) เพิ่มอำนาจการต่อรองกับคู่ค้าจีน และเป็นการกระจายความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจากสกุลเงินเดียว ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารไทยหลายแห่งมีให้บริการแล้ว
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 03 กุมภาพันธ์ 2565
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新社广西) วันที่ 25 มกราคม 2565