เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว Dazhong.com ซึ่งลงพื้นที่สำรวจท่าเรือประมงในเขตหลานซาน เมืองรื่อจ้าว มณฑลซานตง รายงานว่า ท่าเรืออันเงียบสงบได้กลับมามีบรรยากาศคึกครื้นอีกครั้ง จากแรงงานประมงจำนวนมากที่เข้าไปขนถ่ายและคัดแยก “หอยแมลงภู่” ที่มีความสด เนื้อแน่น เพื่อบรรจุส่งรถบรรทุกไปขายทั่วประเทศ
เขตหลานซาน เป็นเขตเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ด้วยสภาพพื้นที่ทางทะเลที่เป็นเอกลักษณ์ของเขตหลานซาน ทำให้หอยแมลงภู่ท้องถิ่นมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันผลผลิตส่วนใหญ่จัดส่งไปยังเมืองหลินอี๋ เมืองชิงต่าว เมืองเหวยฟาง เมืองเยียนไถ และอีกหลายพื้นที่ ทั้งนี้ ผลผลิตของหอยแมลงภู่ในปีนี้มีปริมาณสูง และมีคุณภาพดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยสามารถขายสู่ท้องตลาดได้ในราคาประมาณ 2 – 5 หยวนต่อ 500 กรัม ปัจจุบันสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 150,000 กิโลกรัมต่อวัน ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงนี้จนถึงสิ้นสุดเทศกาลเชงเม้งของจีน (ประมาณช่วงเดือนเมษายน 2565) เป็นช่วงที่สามารถรับประทานหอยแมลงภู่ที่มีเนื้อนุ่มแน่นมากที่สุด ทำให้ฤดูกาลเก็บเกี่ยวหอยแมลงภู่ของเขตหลานซานคึกคักขึ้นทุกปี และจำเป็นต้องมีแรงงานที่มีทักษะจำนวนมากอย่างเร่งด่วน ซึ่งนำโอกาสในการจ้างงานมาสู่ชาวบ้านในท้องถิ่นอีกด้วย
การทำฟาร์มหอย เป็นอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของเขตหลานซาน มีช่วงการเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ อยู่ที่ประมาณ 5 – 6 เดือน โดยสามารถสร้างผลผลิตได้ประมาณ 200 ล้านกิโลกรัม (ประมาณ 20,000 ตัน) ต่อปี คิดเป็นร้อยละ 70 ของส่วนแบ่งตลาดในจีน สร้างมูลค่าการผลิตกว่า 300 ล้านหยวน ในการนี้ สำนักงาน Lanshan Municipal Bureau of Ocean Development ได้จัดตั้งหลักสูตรอบรมพิเศษ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตให้แก่ชาวประมงท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์หลักในการประสานงานและแก้ไขปัญหาที่ชาวประมงพบเจอในกระบวนการเก็บเกี่ยว ตลอดจนช่วยเหลือในการขยายช่องทางการค้าขาย E-Commerce ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นอีกด้วย
ด้วยสภาพทางทะเลท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ และอุปสงค์ที่มีจำนวนมากทุกปี หอยแมลงภู่ได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหลักของชาวประมงในเขตหลานซาน ซึ่งการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมหอยแมลงภู่ในเขตหลานซาน สามารถนำไปสู่การพัฒนาของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การแปรรูปอาหารทะเล การเก็บรักษา การขาย และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อันเป็นการสร้างระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ตลอดจนสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับชาวประมงในท้องถิ่นอีกด้วย
แหล่งที่มา:
https://sd.dzwww.com/sdnews/202202/t20220213_9811342.htm (วันที่ 13 ก.พ. 2565)
http://shandong.chinadaily.com.cn/2022-02/14/c_707167.htm (วันที่ 14 ก.พ. 2565)
http://english.sdchina.com/show/4682254.html (วันที่ 14 ก.พ. 2565)
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู