เศรษฐกิจส่านซีปี 64 ขยายตัว 6.5% การค้ากับไทยเพิ่มขึ้นกว่า 36.79%

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 รัฐบาลมณฑลส่านซีจัดการประชุมสภาประชาชนสมัยที่ 13 ครั้งที่ 16 แถลงผลการดำเนินงานรัฐบาลพร้อมเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจปี 2565 โดยมีนายจ้าว อีเต๋อ ผู้ว่าการมณฑลส่านซี เป็นผู้กล่าวรายงาน นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย ณ นครซีอาน ได้รวบรวมสถิติทางด้านเศรษฐกิจประจำปี 2564 จากสำนักงานสถิติมณฑลส่านซี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

  1. ภาพรวมเศรษฐกิจมณฑลส่านซีปี 2564

ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ทั้งมณฑลมีมูลค่า 2.98 ล้านล้านหยวน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.97 ของ GDP มณฑลกวางตุ้งซึ่งเป็นมณฑลที่มีมูลค่า GDP สูงสุดในจีน) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 6.5 จำแนกเป็น

– อุตสาหกรรมปฐมภูมิ 240,939 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 6.3

– อุตสาหกรรมทุติยภูมิ 1.38 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 5.6

– อุตสาหกรรมตติยภูมิ 1.36 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 7.3

ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของนครซีอานมีมูลค่า 1.07 ล้านล้านหยวน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 4.1

– อุตสาหกรรมปฐมภูมิ 30,882 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 6.3

– อุตสาหกรรมทุติยภูมิ 358,520 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 0.9

– อุตสาหกรรมตติยภูมิ 379,426 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 5.7

  1. ภาคการเกษตร

ตลอดปีทั้งมณฑลมีรายได้จากภาคการเกษตรและปศุสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 จากปี 2563 และมีพื้นที่สำหรับเพาะปลูกรวม 45.06 ล้านหมู่ (ราว 18.47 ล้านไร่) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ปริมาณการผลิตผลไม้รวม 18.97 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 และมีปริมาณผลผลิตภาคปศุสัตว์รวม 1.274 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7

  1. ภาคอุตสาหกรรม

ภาพรวมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (Large Scale Industries) ของมณฑลส่านซี ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ในจำนวนนี้ การเติบโตของภาคการผลิตในอุตสาหกรรมไฮเทคมีการเติบโตสูงสูดที่ร้อยละ 17.1 รองลงมาได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตทั่วไป เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 หากจำแนกตามอุตสาหกรรมกลุ่มพลังงานและที่มิใช่พลังงานพบว่า ภาพรวมกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มิใช่พลังงาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ในจำนวนนี้คือ การผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.8 และการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สื่อสาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1

  1. การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรตลอดปีมีมูลค่า 917,640 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 มูลค่าการลงนามในสัญญาการลงทุนสู 2.18 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 หากจำแนกตามประเภทการลงทุน พบว่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาคประชาชน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 3.7 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.4 ของมูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรทั้งมณฑล และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 4.8 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของมูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรทั้งมณฑล ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทคที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีชั้นสูง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 6.9

  1. การบริโภคในพื้นที่และรายได้ประชากรต่อหัว

5.1 การบริโภคในพื้นที่รวม 1.025 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 6.7 ในจำนวนนี้เป็นการค้าออนไลน์ 78,557 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9

5.2 รายได้ประชากรต่อหัวประจำปี 2564 เฉลี่ย 28,568 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 แบ่งเป็น (1) รายได้ประชากรต่อหัวในเขตเมืองเฉลี่ย 40,713 หยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 7.5 และ (2) รายได้ประชากรต่อหัวในเขตชนบทเฉลี่ย  14,745 หยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 10.7

  1. การค้าระหว่างประเทศ

6.1 ข้อมูลจากศุลกากรนครซีอาน ระบุว่า การค้าระหว่างประเทศของมณฑลส่านซีปี 2564 มีมูลค่า 475,775 ล้านหยวน จำแนกเป็น (1) การส่งออก 256,607 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 และ (2) การนำเข้า 219,168 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6

6.2 สินค้าที่มณฑลส่านซีส่งออกยังต่างประเทศสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

6.2.1 ผลิตภัณฑ์เครื่องจักรกลและเครื่องใช้ไฟฟ้า 231,880.75 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.55

6.2.2 ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 138,437.13 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.75

6.2.3 เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ 138,289.24 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.88

6.2.4 แผงวงจรไอซี 111,663 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.45

6.2.5 คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ด้านการสื่อสาร 49,505 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.24

นอกจากสินค้าข้างต้นที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดแล้ว จากข้อมูลพบว่ายังมีกลุ่มสินค้าส่งออกที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่

6.2.6 ปลั๊กอินชาร์ตไฟสำหรับรถยนต์พลังงานไฮบริด 81.81 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 44,677.27

6.2.7 เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (ไมโครเวฟ) 920,000 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29,468.55

6.2.8 อุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ (Automatic data processing equipment) 533.41 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5,215.3021

6.2.9 เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (ตู้เย็น) 41.84 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4,422.22

6.2.10 นาฬิกาข้อมือ 1.48 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3,441.95

6.3 สินค้าที่มณฑลส่านซีนำเข้าจากต่างประเทศสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่      

6.3.1 ผลิตภัณฑ์เครื่องจักรกลและเครื่องใช้ไฟฟ้า 157,352.22 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.82

6.3.2 เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ 92,493.26 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.79

6.3.3 ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 91,793.2 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.76

6.3.4 แผงวงจรไอซี 87,845.67 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.94

6.3.5 เซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณืที่เกี่ยวข้อง 19,317.36 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 80.33

นอกจากสินค้าข้างต้นที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุดแล้ว จากข้อมูลพบว่ายังมีกลุ่มสินค้านำเข้าที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่

6.3.6 ปุ๋ยเคมี 510,000 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27,480.8776

6.3.7 ผลิตภัณฑ์เครื่องหนังจากวัวและม้า 9.25 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21,485.7466

6.3.8 เกลือแกง 250,000 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6,835.6276

6.3.9 นาฬิกาข้อมือไฟฟ้า 7.89 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4,928.059

6.3.10 เยื่อกระดาษ 2.6 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1,880.9667

 6.4 พื้นที่ที่มีการนำเข้า-ส่งออกสูงสุด

ชื่อเมือง มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ (อัตราการเติบโตเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563) มูลค่าการส่งออก (อัตราการเติบโตเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563) มูลค่าการนำเข้า (อัตราการเติบโตเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563)
นครซีอาน 439,995.96 ล้านหยวน (+ร้อยละ 26.51) 236,192.1 ล้านหยวน (+ร้อยละ 32.99) 203,803.86 ล้านหยวน (+ร้อยละ 19.75)
เมืองถงชวน 1,005.8 ล้านหยวน (+ร้อยละ 40.78) 75.72 ล้านหยวน (-ร้อยละ 68.12) 930.07 ล้านหยวน (+ร้อยละ 95)
เมืองเป่าจี 8,806.09 ล้านหยวน (+ร้อยละ 10.89) 4,248.02 ล้านหยวน (+ร้อยละ 19.59) 4,558.07 ล้านหยวน (+ร้อยละ 3.84)
เมืองเสียนหยาง 15,779.37 ล้านหยวน (+ร้อยละ 39.05) 9,400.29 ล้านหยวน (+ร้อยละ 73.13) 6,379.09 ล้านหยวน (+ร้อยละ 7.78)
เขตเกษตรหยางหลิง 870.07 ล้านหยวน (-ร้อยละ 8.02) 671.37 ล้านหยวน (+ร้อยละ 6.2) 199.35 ล้านหยวน (-ร้อยละ 36.62)
เมืองเว่ยหนาน 1,651.15 ล้านหยวน (+ร้อยละ 1.9) 1507.68 ล้านหยวน (+ร้อยละ 12.17) 143.87 ล้านหยวน (-ร้อยละ 47.99)
เมืองฮั่นจง 3,105.15 ล้านหยวน (+ร้อยละ 57.33) 2,089.03 ล้านหยวน (+ร้อยละ 47.58) 1,016.13 ล้านหยวน (+ร้อยละ 82.07)
เมืองอันคัง 599.68 ล้านหยวน (-ร้อยละ 40.61) 579.35 ล้านหยวน (-ร้อยละ 40.06) 20.33 ล้านหยวน (-ร้อยละ 52.89)
เมืองซังลั่ว 2,069.38 ล้านหยวน (+ร้อยละ 24.47) 788.54 ล้านหยวน (-ร้อยละ 46.89) 1,280.84 ล้านหยวน (+ร้อยละ 620.66)
เมืองเหยียนอาน 535.21 ล้านหยวน (-ร้อยละ 78.69) 116.09 ล้านหยวน (+ร้อยละ 30.98) 419.12 ล้านหยวน (-ร้อยละ 82.7)
เมืองยวีหลิน 2,227.23 ล้านหยวน (+ร้อยละ 85.58) 1,610.63 ล้านหยวน (+ร้อยละ89.38) 616.61 ล้านหยวน (+ร้อยละ 76.33)

จากข้อมูลข้างต้น พบว่านครซีอานยังคงเป็นพื้นที่ที่มีภาพรวมการค้าระหว่างประเทศสูงสุดในมณฑลส่านซีที่ 439,995.96 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.51 นอกจากนี้ พบว่าการค้าระหว่างประเทศของเมืองยวีหลินมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดใน 11 พื้นที่ ข้อมูลเพิ่มเติมจากศุลกากรเมืองยวีหลินระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้การค้าระหว่างประเทศของเมืองเติบโตขึ้นมาจากการส่งออกแคลเซียมคาร์บอเนต แผงวงจรไฟฟ้า ถุงมือยางและ PVCs แร่สังกะสี และถั่วเขียวที่เพิ่มขึ้น และมีการยกระดับความการให้บริการทางศุลกากรที่มากขึ้น ส่งผลให้การนำเข้าส่งออกทำได้อย่างคล่องตัว

  1. การค้าระหว่างมณฑลส่านซีกับไทย

7.1 ข้อมูลจากศุลกากรนครซีอาน ระบุว่า ในปี 2564 มณฑลส่านซีและไทยมีการค้าระหว่างประเทศรวม 3,886.43 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 36.79 จำแนกเป็น การส่งออก 3,476.48 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 33.24 และการนำเข้า 409.95 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 76.65

7.2 สินค้าที่มณฑลส่านซีส่งออกไปประเทศไทย 6 อันดับแรก ได้แก่

7.2.1 พิกัดศุลกากร 85 เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าฯ 1,681 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.03

7.2.2 พิกัดศุลกากร 84 เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กลฯ 335.16 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.7

7.2.3 พิกัดศุลกากร 90 อุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์ฯ 323.67 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 855.54

7.2.4 พิกัดศุลกากร 63 ของที่ทำด้วยสิ่งทอ สิ่งทอที่จัดทำแล้วอื่น ๆ ของเป็นชุด เสื้อผ้าที่ใช้แล้วและของที่ใช้แล้ว 285.88 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 139.89

7.2.5 พิกัดศุลกากร 8 ผลไม้และลูกนัตที่บริโภคได้ฯ 220.85 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 1.79

7.2.6 พิกัดศุลกากร 38 เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด 141.19 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 46.88

นอกจากกลุ่มสินค้าส่งออกข้างต้นแล้ว ยังพบว่ามีสินค้าที่มณฑลส่านซีส่งออกไปไทยที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่

7.2.7 พิกัดศุลกากร 62 เครื่องแต่งกายและของที่ใช้ประกอบกับเครื่องแต่งกายฯ 75,188 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11,379.08

7.2.8 พิกัดศุลกากร 21 ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ 1.25 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1,857.27

7.2.9 พิกัดศุลกากร 96 ผลิตภัณฑ์เบ็ดเตล็ด 12.12 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 998.26

7.2.10 พิกัดศุลกากร 72 เหล็กและเหล็กกล้า 2.2 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 656.67

7.2.11 พิกัดศุลกากร 49 หนังสือที่พิมพ์เป็นเล่ม หนังสือพิมพ์ รูปภาพ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของอุตสาหกรรมการพิมพ์ ต้นฉบับที่เขียนหรือดีดพิมพ์ และแปลน 3.26 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 293.95

7.3 สินค้าที่มณฑลส่านซีนำเข้าจากประเทศไทยสูงสุด 6 อันดับแรก ได้แก่

7.3.1 พิกัดศุลกากร 85 เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าฯ 211.04 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.76

7.3.2 พิกัดศุลกากร 40 ยางและของที่ทำด้วยยาง 65.27 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1,278.6141

7.3.3 พิกัดศุลกากร 84 เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กลฯ 58.72 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 121.78

7.3.4 พิกัดศุลกากร 8 ผลไม้และลูกนัตที่บริโภคได้ฯ 42.54 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 74.91

7.3.5 พิกัดศุลกากร 30 ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม 10.27 ล้านหยวน (ติดอันดับครั้งแรก)

7.3.6 พิกัดศุลกากร 29 เคมีภัณฑ์อินทรีย์ 3.36 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 126.93

นอกจากกลุ่มสินค้านำเข้าข้างต้นแล้ว ยังพบว่ามีสินค้าที่มณฑลส่านซีนำเข้าจากไทยที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่

7.3.7 พิกัดศุลกากร 33 เอสเซนเชียลออยล์และเรซินอยด์ฯ 1.72 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48,340.64

7.3.8 พิกัดศุลกากร 34 สบู่ สารอินทรีย์ที่เป็นตัวลดแรงตึงผิว สิ่งปรุงแต่งที่ใช้ซักล้าง สิ่งปรุงแต่งที่ใช้หล่อลื่น ไขเทียม ไขปรุงแต่ง สิ่งปรุงแต่งที่ใช้ขัดเงาหรือขัดถู เทียนไขและของที่คล้ายกัน เพสต์สำหรับทำแบบ “ไขที่ใช้ทางทันตกรรม” สิ่งปรุงแต่งทางทันตกรรมซึ่งมีปลาสเตอร์เป็นหลัก 114,645 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 36,411.15

7.3.9 พิกัดศุลกากร 39 พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก 3.95 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14,943.26

7.3.10 พิกัดศุลกากร 95 ของเล่น ของเล่นเกม และของใช้ที่จำเป็นในการเล่นกีฬาฯ 78,878 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12,263.32

7.3.11 พิกัดศุลกากร 61 เครื่องแต่งกายและของที่ใช้ประกอบกับเครื่องแต่งกายฯ 58,530 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2363.38

  1. เป้าหมายการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจในปี 2565

8.1 การกระตุ้นการบริโภคในพื้นที่และรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านการสนับสนุน SMEs ในการเข้าถึงสิทธิ ประโยชน์และมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ อาทิ เงินอุดหนุน ระบบชำระ/คืนภาษี การสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (กลุ่มการผลิต กลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม กลุ่มธุรกิจสีเขียว) ให้ได้รับการยกระดับศักยภาพ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุนกิจการได้สะดวก

8.2 การสนับสนุนโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟ ครส. ซีเหยียน (นครซีอานเชื่อมต่อเมืองเหยียนอาน) ซีคัง (นครซีอานเชื่อมต่อเมืองอันคัง) โครงการขยายสนามบินซีอานเสียนหยางระยะที่ 3 โครงการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำแม่น้ำฮั่นและแม่น้ำเว่ยระยะที่ 2 โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตงจ้วงและโครงการผันน้ำจากแม่น้ำเหลือง เมืองยวีหลิน และโครงการก่อสร้างทางด่วนเชื่อมนครซีอานสู่พื้นที่ตอนใต้ ตลอดจนการรักษาระดับการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ไว้ที่ร้อยละ 7 รักษาระดับการลงทุนจากต่างประเทศไว้ที่ร้อยละ 15 และการลงทุนจากเงินทุนในประเทศไว้ที่ร้อยละ 12

8.3 การส่งเสริมกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการบริโภคในพื้นที่ รัฐบาลจะเร่งสนับสนุนการบริโภคในพื้นที่ผ่านการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคในกลุ่มรถยนต์ อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านอาหาร ร้านค้า ตลอดจนกลุ่มธุรกิจสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและกีฬา เพื่อรักษาระดับการเติบโตของการบริโภคในพื้นที่ไว้ที่ร้อยละ 7.5

8.4 การเพิ่มบทบาทด้านนวัตกรรมและการวิจัย โดยจะยึดแผนการสร้างและพัฒนา “ฉินช่วงหยวน” 3 ปี เป็นหลักในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น เร่งก่อตั้งแพลตฟอร์มและศูนย์ฝึกอบรมทางนวัตกรรมในวิสาหกิจ เพื่อยกระดับศักยภาพเชิงพาณิชย์ การสนับสนุนกลุ่มสถาบันการศึกษาชั้นสูงเพื่อสร้างวิสาหกิจรุ่นใหม่ ๆ (ปี 2564 มีวิสาหกิจขนาดกลาง-เล็กด้านเทคโนโลยีกว่า 13,000 ราย โดยเป็นวิสาหกิจที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงเพิ่มขึ้นกว่า 1,500 ราย เป็นกลุ่มธุรกิจระดับละมั่ง1  จำนวน 200 บริษัท และกลุ่มวิสาหกิจที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ 12 แห่ง โดยมีการลงนามในสัญญากว่า 250,000 ล้านหยวน) พร้อมสนับสนุนเขตซีอานไฮเทคโซน ให้เป็นหัวเรือหลักในการเป็นพี่เลี้ยงเขตไฮเทคในเมืองเหยียนอาน ซังลั่ว ฮั่นจง ถงชวน และยวีหลินได้พัฒนาศักยภาพตนเอง และเร่งประสานการก่อตั้ง สนง. ตัวแทนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติในนครซีอาน โดยเฉพาะในด้านการแปลโมเลกุลยา (Molecular Medicine Translational Science) เลเซอร์ Attosecond  ขั้นสูง (Advanced Attosecond Laser) ฟิวชั่นขับเคลื่อนด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetically Driven Fusion) และความพร้อมในโครงการเตรียมวิจัยด้านการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์

8.5 สนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลและเร่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรม ส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อและเงินทุนสนับสนุนใน 150 วิสาหกิจหลักในพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการใหม่ ๆ เพิ่มสายป่านห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมต้นน้ำ-ปลายน้ำใน 23 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มณฑลส่านซีให้การสนับสนุน2 ตลอดจนการฝึกอบรมกลุ่มวิสาหกิจที่มีขนาดธุรกิจตั้งแต่ 100-1,000 ล้านหยวน ให้ก้าวสู่การเป็นธุรกิจหลักในห่วงโซ่อุปทาน การเร่งโครงการก่อสร้างด้านพลังงานของพื้นที่ทางตอนเหนือของส่านซี (เมืองยวีหลิน และบางส่วนของเมืองเว่ยหนาน) โครงการก่อตั้งศูนย์ดิจิทัลเศรษฐกิจ (国家数字经济创新发展试验区) ตลอดจนการนำอุตสาหรรม AI การสื่อสารดาวเทียม อวกาศ ให้เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีคลาวน์และเทคโนโลยีดิจิทัล เสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งได้อย่างแท้จริง

8.6 เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ รัฐจะยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการด้วย Big Data ฐานข้อมูล ประชาชนลดเวลาและขั้นตอนการอนุมัติเอกสารและคำร้องด้านการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐให้ไม่เกิน 70 และ 100 วัน ตามลำดับ เพิ่มการอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มธุรกิจการเงิน พลังงาน คมนาคมขนส่ง และระบบสาธารณูปโภคให้ได้รับการบริการที่ฉับไว สนับสนุนการลงทุนในพื้นที่เขตสาธิตทางเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยตลอดปีจะต้องมีอัตราการขอใช้ที่ดินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ตลอดจนการมุ่งมั่นในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการระบบการขนส่งสินค้าทางราง เพิ่มการนำแพลตฟอร์มบริการทางการเงินดิจิทัลมาใช้ รักษาสถิติการให้บริการการขนส่งผ่านฉางอันห้าวให้ได้ 4,000 เที่ยว พร้อมเน้นการนำโมเดล “ฉางอันห้าว+เส้นทางเมืองหลัก/เมืองรอง”

ในปี 2565 จะเพิ่มความถี่ในการเดินขบวนรถจากเมืองรอง  เพื่อขยายช่องทางการส่งออกให้มากขึ้น เพิ่มบทบาทของเขตสาธิตการค้าเสรีให้รองรับต่อสภาพแวดล้อมในการลงทุนธุรกิจต่างชาติ ปฏิรูปขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อนเพื่อให้คล่องตัวสูงสุด เพิ่ม ครม. กับองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ในด้านการอบรมเทคโนโลยีทางการเกษตร ควบคู่ไปกับความร่วมมือกับ 5 ประเทศเอเชียกลาง (คาซัคสถาน เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน ทาจิกิซสถาน และคีร์กิซสถาน) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการภาษี การพิจารณาสินเชื่อ ตลอดจนนโยบายสนับสนุนการส่งออกเพื่อคงระดับการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10

โดยสรุปภาพรวมสภาวะเศรษฐกิจมณฑลส่านซีในปี 2564 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากปี 2563 แล้ว มณฑลส่านซียังคงวางเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างความทัดเทียมระหว่างประชาชนในเขตเมืองและเขตชนบททั้งในส่วนของการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค บริการสาธารณสุข ตลอดจนช่องทางการสร้างรายได้ ทั้งยัง มุ่งส่งเสริมการเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านการพัฒนาและวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนำไปต่อยอดให้เกิดมูลค่าในเชิงพาณิชย์ ขับเคลื่อนธุรกิจกลาง-ปลายน้ำ นอกจากนี้ รัฐบาลส่านซียังคงแสวงหาช่องทางการส่งออกใหม่ ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ในปี 2565 รส่านซียังคงเน้นการยกระดับเมืองอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในกลุ่มเมืองรองที่ต่างล้วนมีศักยภาพเด่นเฉพาะตัว มุ่งสร้างนครซีอานให้เข้าสู่เมืองแห่งดิจิทัลเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการ นอกจากนี้ รัฐบาลจะยังให้ความสำคัญกับแนวทางการรักษาสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับเป้าหมาย carbon neutrality, การส่งเสริมการมีงานทำอย่างต่อเนื่อง, ปฏิรูปขั้นตอนการทำงานภาครัฐที่ซ้ำซ้อนเพื่อให้เกิดความคล่องตัวสูงสุด เพื่อตอบสนองต่อการค้าการลงทุน โดยมีเป้าหมายดัชนีทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ คือ (1) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 (2) รายได้งบประมาณภาครัฐ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 (3) รายได้ประชากรในเขตเมืองและชนบท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 และ 8 ตามลำดับ (4) ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 400,000 ราย (5) อัตราการว่างงานในพื้นที่ไม่เกินร้อยละ 5.5 (6) ปริมาณสำรองของธัญพืชและข้าว ไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านกิโลกรัม(7) อัตราการเติบโตของการลงทุนจากต่างประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15

_______________________

  1. กลุ่มธุรกิจระดับ Gazelle Company ซึ่งเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีอัตราการเติบโตทางธุรกิจสูงอย่างน้อย 20% ต่อปีเป็นระยะเวลา 4 ปีจากฐานรายได้อย่างน้อย 100,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อก้าวสู่ระดับพรียูนิคอร์น
  2. 23 อุตสาหกรรมหลักที่ส่านซีสนับสนุน (Shaanxi Industrial Chains) ได้แก่ (1) CNC Machine Tools (2) Photonics (3) Aviation (4) Heavy-duty trucks (5) Biomedicines (6) Titanium and Alloy (7) New-type Display Device (8) Integrated Circuits (9) Solar Photovoltaic Energy (10) Power Transmission and Transformation Equipment (11) Dairy Products (12) Civilian UAVs (13) Hydrogen energy (14) Addictive Manufacturing (15) Steel Deep-Processing (16) Passenger Vehicles (New Energy) (17) Internet of Things (18) Se-Enriched Food (19) Coal to Olefin Deep Processing (20) Aluminum Magnesium Deep-processing (21) Ceramics Matrix (22) Intelligent Terminals และ (23) Sensors

 

                                                  **************************

 

 

 

The post เศรษฐกิจส่านซีปี 64 ขยายตัว 6.5% การค้ากับไทยเพิ่มขึ้นกว่า 36.79% appeared first on thaibizchina.

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]