เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 มณฑลกานซูจัดการประชุมสภาประชาชนครั้งที่ 13 สมัยที่ 6 โดยมีนายเหริน เจิ้นเห้อ (Ren Zhenhe: 任振鹤) ผู้ว่าการมณฑลกานซู เป็นผู้แถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลในปี 2564 และเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจในปี 2565 นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอานได้จัดทำข้อมูลการค้าระหว่างไทย-กานซู เพื่อประโยชน์ในการติดตามสภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคจีนตะวันตกเฉียงเหนือ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
- ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2564
ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) มณฑลกานซู 1.02 ล้านล้านหยวน โดยเป็นการเติบโตถึงหลักล้านล้านได้เป็นครั้งแรก อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 6.9 GDP นครหลานโจวมีมูลค่า 323,130 ล้านหยวน โดยเป็นการเติบโตถึงระดับ 3 แสนล้านหยวน ได้เป็นครั้งแรก อัตราการขยายตัวร้อยละ 6.1
- ภาพรวมการลงทุน
2.1 การลงทุนในกลุ่มวิสาหกิจขนาดใหญ่ รัฐบาลมณฑลกานซูนำโมเดล 1+N+X1 ซึ่งเป็นโมเดลหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 มาใช้ในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมศักยภาพในพื้นที่ ในปี 2564 มีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ 240 โครงการ งบประมาณการลงทุนกว่า 12,500 ล้านหยวน
2.2 การลงทุนในกลุ่มวิสาหกิจพลังงาน มีการลงทุนเพิ่มในเหมืองถ่านหินเพิ่ม 2 แห่ง (邵寨,赫城煤炭) ทำให้ในปีที่ผ่านมา กานซูมีกำลังการผลิตถ่านหินเพิ่มขึ้น 8 ล้านตัน ในด้านการขุดเจาะน้ำมัน เขตขุดเจาะพลังงานหล่งตง (陇东油区油气) มีกำลังการผลิตทะลุ 10 ล้านตันได้เป็นครั้งแรก ทำให้พื้นที่สาธิตพลังงานเยี่ยเหยียนโหยว (页岩油开发示范区) เป็นพื้นที่สาธิตที่มีกำลังการผลิตทะลุหลักล้านตันได้เป็นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา ในส่วนของการลงทุนด้านพลังงานสะอาด มณฑลกานซูได้เริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างโรงผลิตไฟฟ้าขนาด 12.85 ล้านกิโลวัตต์ และโครงการติดตั้งเครื่องเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับฐานการผลิตขนาด 7.4 ล้านกิโลวัตต์ โดยทั้งสองโครงการถือเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มณฑลกานซูตั้งเป้าจะยกระดับศักยภาพการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดของตนเองให้ได้ 33.55 ล้านกิโลวัตต์ นอกจากกำลังดำเนินโครงการข้างต้นแล้ว เมื่อปีที่ผ่านมา มณฑลกานซูได้ก่อสร้างแล้วเสร็จในโครงการฐานการผลิตไฟฟ้าฉางเล่อระยะที่ 2 ขนาดกำลังผลิต 2 ล้านกิโลวัตต์ (常乐电厂二期) โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหล่งเตี้ยนเพื่อส่งต่อไปยังมณฑลซานตง (陇电入鲁) ขนาด 4*1 ล้านกิโลวัตต์ ทำให้ในปีที่ผ่านมา มณฑลกานซูผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ 44,600 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 15.6
2.3 การลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทค ในปีที่ผ่านมามีการลงทุนในอุตสาหกรรมข้างต้นเพิ่มขึ้น 142 ราย และจากสถิติตั้งแต่มีการลงทุนของอุตสาหกรรมไฮเทคในพื้นที่จนถึงปี 2564 พบว่ามี 234 วิสาหกิจผ่านการรับรองให้เป็นวิสาหกิจด้านการวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับมณฑลแล้ว ในจำนวนนี้ยังได้รับการรับรองในระดับชาติที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 67 ราย และในปีที่ผ่านมาการลงทุนในด้านนี้เติบโตขึ้นร้อยละ 39.7 ปริมาณการส่งคำร้องจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.96 โดยมี 10 ผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับรางวัลจากหน่วยงานระดับชาติ
2.4 การลงทุนในระบบสาธารณูปโภค ในปีที่ผ่านมามณฑลกานซูเสร็จสิ้นการก่อสร้างโครงการที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนไปจำนวนมาก อาทิ โครงการก่อสร้างทางด่วนเชื่อมต่อพื้นที่ภายนอกเมืองใหญ่ ๆ รวม 675 กม. การก่อสร้างทางด่วนเพิ่ม 8 จุด โครงการพัฒนาคุณภาพน้ำใน 144 หมู่บ้าน โครงการติดตั้งเสาสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ชนบท โครงการติดตั้งและกระจายเสาสัญญาณ 5G ในพื้นที่หลักของเมืองใหญ่ ๆ โครงการอพยพที่พักอาศัยให้กับครอบครัวยากจน 2,259 ครัวเรือน โครงการจัดหางานให้แก่แรงงานในชนบท 103,000 คนรัฐบาลมณฑลกานซูยังได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลนครเทียนจินและมณฑลซานตงกว่า 3,840 ล้านหยวน เพื่อใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรในเขตชนบท ซึ่งงบประมาณดังกล่าวสามารถนำมาใช้เพื่อกระตุ้นการบริโภคในเขตชนบทและเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 5,770 ล้านหยวน นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมามณฑลกานซูยังให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมี 23 วิสาหกิจผ่านมาตรฐานการรับรองโรงงานสีเขียวระดับประเทศ (国家绿色工厂)
2.5 การลงทุนด้านเกษตรกรรม ตลอดทั้งปีมณฑลกานซูมีการสร้างฐานฝึกอบรมการเพาะเลี้ยงที่ได้รับมาตรฐาน 786 แห่ง ครอบคลุมใน 14 อำเภอ ทั้งมณฑลมีวิสาหกิจชั้นนำด้านการเกษตรวม 139 ราย และมีฐานสาธิตการเกษตรเชิงบูรณาการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแห่งชาติ 6 แห่ง (农村产业融合发展示范园) นอกจากนี้ การขยายพื้นที่เพาะปลูกในกลุ่มพืชเศรษฐกิจของมณฑล ได้แก่ ข้าวโพด มันฝรั่ง และพืชชนิดแตง มีอัตราการเติบโตขึ้นร้อยละ 6, 18.2 และ 8.2 ตามลำดับ
2.6 การลงทุนจากเงินทุนต่างประเทศในโครงการต่าง ๆ มีมูลค่า 351,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 17 ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนจากวิสาหกิจ Fortune 500 จำนวน 3 รายใน 23 โครงการ
- การให้บริการภาครัฐเพื่อให้บริการวิสาหกิจ
3.1 ในปีที่ผ่านมา มีวิสาหกิจจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ 849 ราย ส่งผลให้ทั้งมณฑลมีวิสาหกิจขนาดไมโคร-ปานกลางทะลุ 2 ล้านรายเป็นครั้งแรก ในจำนวนนี้ เป็นการจัดตั้งวิสาหกิจในกลุ่มอุตสาหกรรม 312 ราย นอกจากนี้ รัฐบาลมณฑลกานซูได้สนับสนุนการปล่อยสินเชื่อให้แก่วิสาหกิจขนาดไมโคร-ขนาดกลาง ไปกว่า 72,125 ล้านหยวน และลดภาระ ด้านภาษีให้แก่กลุ่มวิสาหกิจข้างต้นไปกว่า 153 ล้านหยวน
3.2 มณฑลกานซูปฏิรูปการให้บริการภาครัฐผ่านระบบ Big Data อย่างจริงจัง ทำให้ปัจจุบัน ระบบให้บริการประชาชนในหน่วยงานภาครัฐระดับมณฑลสามารถให้บริการด้วยระบบออนไลน์ได้แล้วกว่าร้อยละ 86.8 ในระดับเขตเมืองครอบคลุมถึงร้อยละ 90
- การคมนาคมและขนส่งสินค้า
4.1 ในปี 2564 มณฑลกานซูได้เปิดเส้นทางการขนส่งสินค้าทางราง China-Euro Freight Train (Lanzhou) เส้นใหม่ เชื่อมต่อระหว่างเมืองอี้อู-หลานโจว-มอสโก และเส้นทางเมืองอู่เวย-เมืองทบิลิซิ จอร์เจีย ตลอดปีมีการขนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศผ่านเส้นทางข้างต้นและเส้นทางดั้งเดิมอื่น ๆ รวม 498 เที่ยว กว่า 17,100 โบกี้ และได้มีการลงทุนก่อตั้งคลังจัดเก็บสินค้าในต่างประเทศเพิ่มอีก 6 แห่ง
4.2 การค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนมีมูลค่า 860 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 มากถึง 1.14 เท่า
- การค้าระหว่างประเทศ
5.1 ข้อมูลจากศุลกากรนครหลานโจวระบุว่า การค้าระหว่างประเทศมีมูลค่า 49,100 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.4 จำแนกเป็น การส่งออกมูลค่า 9,690 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 และการนำเข้า มูลค่า 39,400 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.7
5.2 ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ระบุว่าการค้าระหว่างประเทศระหว่างมณฑลกานซูกับไทยมีมูลค่า 34.36 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 219.06 ล้านหยวน) แบ่งเป็น มณฑลกานซูนำเข้าจากไทย 9.76 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 62.23 ล้านหยวน) และมณฑลกานซูส่งออกไปไทย 24.57 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 156.82 ล้านหยวน)
5.3 ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ระบุว่า สินค้าที่มณฑลกานซูนำเข้าจากไทยมากที่สุด 7 อันดับแรก ได้แก่
5.3.1 พิกัดศุลกากร 27 เชื้อเพลิงที่ได้จากแร่ น้ำมันแร่ 8.367 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 53.35 ล้านหยวน) ติดอันดับครั้งแรก
5.3.2 พิกัดศุลกากร 12 เมล็ดพืชและผลไม้ที่มีน้ำมัน เมล็ดธัญพืช 536,277 เหรียญสหรัฐ (ราว 3.42 ล้านหยวน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2435.11
5.3.3 พิกัดศุลกากร 8 ผลไม้และลูกนัตที่บริโภคได้ เปลือกผลไม้จำพวกส้มหรือเปลือกแตง 424,019 เหรียญสหรัฐ (ราว 2.7 ล้านหยวน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 234.13
5.3.4 พิกัดศุลกากร 11 ผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมโม่สีเมล็ดธัญพืช 249,610 เหรียญสหรัฐ (ราว 1.59 ล้านหยวน) ติดอันดับครั้งแรก
5.3.5 พิกัดศุลกากร 85 เครื่องจักรไฟฟ้า, อุปกรณ์ไฟฟ้า 149,544 เหรียญสหรัฐ (ราว 953,447 หยวน) ลดลงร้อยละ 59.88
5.3.6 พิกัดศุลกากร 17 น้ำตาลและขนมที่ทำจากน้ำตาล (ชูการ์คอนเฟกชันเนอรี) 19,200 เหรียญสหรัฐ (ราว 122,413 หยวน) ติดอันดับครั้งแรก
5.3.7 พิกัดศุลกากร 33 เอสเซนเชียลออยล์และเรซินอยด์ฯ 15,696 เหรียญสหรัฐ (ราว 100,072 หยวน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.16
5.4 ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ระบุว่า สินค้าที่มณฑลกานซูส่งออกไปไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก
5.4.1 พิกัดศุลกากร 85 เครื่องจักรไฟฟ้า, อุปกรณ์ไฟฟ้า 4.091 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 26.08 ล้านหยวน) ลดลงร้อยละ 37.9
5.4.2 พิกัดศุลกากร 38 เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด 4.004 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 25.53 ล้านหยวน) ติดอันดับครั้งแรก
5.4.3 พิกัดศุลกากร 28 เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ สารประกอบอินทรีย์ฯ 3.64 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 23.2 ล้านหยวน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 123.04
5.4.4 พิกัดศุลกากร 84 เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กลฯ 2.96 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 18.87 ล้านหยวน) ลดลงร้อยละ 40.34
5.4.5 พิกัดศุลกากร 7 พืชผักรวมทั้งรากและหัวบางชนิดที่บริโภคได้ 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 17.88 ล้าน หยวน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.7
นอกจากสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรกแล้ว จากข้อมูลยังพบว่ายังมีกลุ่มสินค้าที่มีอัตราการเติบโตสูง ได้แก่
5.4.6 พิกัดศุลกากร 73 ของที่ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า 144,985 เหรียญสหรัฐ (ราว 924,380 หยวน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2,412.3
5.4.7 พิกัดศุลกากร 51 ขนแกะ ขนละเอียด หรือขนหยาบของสัตว์ฯ 58,694 เหรียญสหรัฐ (ราว 374,215 หยวน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 331.57
5.4.8 พิกัดศุลกากร 76 อะลูมิเนียมและของที่ทำด้วยอะลูมิเนียม 279,208 เหรียญสหรัฐ (ราว 1.78 ล้านหยวน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 256.03
(อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนโดย The People’s Bank of China ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2564)
- เป้าหมายการดำเนินงานในปี 2565
6.1 ในการประชุมสภาประชาชนครั้งที่ 13 สมัยที่ 15 คณะผู้บริหารมณฑลได้เน้นย้ำถึงหัวใจสำคัญของการพัฒนาศักยภาพในพื้นที่ที่ยึดมั่นแนวทางสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของ ปธน. สี จิ้นผิง สร้างประเทศที่มีความเข้มแข็งและทันสมัยแห่งสังคมนิยมอย่างรอบด้าน ยึดมั่นหลักการเสถียรภาพ 6 ประการ (六稳) ได้แก่ เสถียรภาพและความมั่นคงในด้านการจ้างงาน การเงิน การค้าต่างประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศ การลงทุน และการประมาณการ (Stabilizing employment, finance, foreign trade, foreign investment, investment and expectation) และหลักประกัน 6 ประการ (六保) ได้แก่ การประกันด้านการจ้างงาน ชีวิตความเป็นอยู่พื้นฐานของประชาชน ความมั่นคงของตลาด ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน รักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทาน และการดำเนินงานของระดับพื้นฐาน พร้อมเป้าหมายการดำเนินงานในด้านเศรษฐกิจอีก 8 ประการ ได้แก่ (1) ยกระดับศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโครงการทางด้านพลังงาน อาทิ โครงการขยายกำลังการผลิตและกำลังส่งปิโตรเคมีหล่งตง (陇东综合能源基地) ให้ได้ 14.65 ล้านตัน (จากเดิม 10 ล้านตัน) โครงการผลิตไฟฟ้าส่งต่อไปยังมณฑลซานตง เจ้อเจียง โดยใช้ศักยภาพจากฐานการผลิตไฟฟ้ายวี่เหมินชางหม่า (玉门昌马) และเพิ่มสถานีสูบน้ำบริเวณภูเขาผานเต้า เมืองจางเยี่ย 3-4 แห่ง (张掖盘道山) โครงการก่อสร้างศูนย์อนุมัติการใช้ผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพ (生物制品批签发中心: Biological products batch issuing center) โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมการรักษาโรคด้วยระบบบำบัดคาร์บอนไอออน (碳离子治疗系统) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การมุ่งสนับสนุนโครงการก่อตั้งฐานนำร่องอุตสาหกรรมสมุนไพรจีน (中医药产业发展综合试验区) โครงการก่อตั้งศูนย์ข้อมูลระดับชาติ ณ เมืองชิ่งหยาง (庆阳国家级数据中心) เพื่อรองรับการทำงานของดาวเทียมสื่อสารเป๋ยโต่วและการยกระดับความปลอดภัยของระบบไซเบอร์ นอกจากนี้ ในปีนี้ มณฑลกานซูจะร่วมกับมาเก๊าในการเปิดพื้นที่สาธิตนวัตกรรมและการพัฒนาแพทย์แผนจีนต้าวานชวี-หลานไป๋ (大湾区兰白自创去中医药创新发展示范区) (2) การกระตุ้นการบริโภคในพื้นที่และเพิ่มประสิทธิภาพในการคมนาคมขนส่ง ในปีนี้มณฑลกานซูตั้งเป้าแล้วเสร็จโครงการเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อเมืองจงเว่ย-นครหลานโจว ตลอดจนการสร้างส่วนต่อขยายในเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเส้นต่าง ๆ ให้ได้ 184 กม. ตลอดจนโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าเชื่อมต่อสนามบินจงชวนไปยังเมืองอู่เวย และการเริ่มโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟหลานโจวเชื่อมต่อเมืองใหญ่ๆ ในมณฑล อาทิ เมืองไป๋สุ่ย เมืองหล่งหนาน อ. ติ้งซี อ. ผิงเหลียง เป็นต้น ในด้านการกระตุ้นการบริโภคในพื้นที่ รัฐบาลจะสนับสนุนนครหลานโจว เมืองเทียนสุ่ย เมืองจิ่วเฉวียน เมืองจางเยี่ย เมืองชิ่งหยางให้เป็นพื้นที่ศูนย์กลางการบริโภคของมณฑล (省消费中心城市) ควบคู่ไปกับการผลักดันให้พื้นที่อำเภอต่าง ๆ สามารถเข้าถึงช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านศูนย์ค้าส่งขนาดใหญ่ในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งเร่งยกระดับ 19 แหล่งท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานถึงระดับ 5A เพื่อเพิ่มคุณค่าให้แก่ผู้บริโภคที่มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากขึ้น (3) การพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง รัฐบาลจะยังคงสนับสนุน 39 หมู่บ้านชนบทให้สามารถเลี้ยงตนเองได้อย่างสมบูรณ์ (乡村振兴重点帮扶县) เพิ่มสัดส่วนรายได้ประชากรต่อหัวให้มากขึ้น สนับสนุนการก่อตั้งโครงการ “1 อำเภอ 1 นิคมฯ” (一县一园) และโครงการฟื้นฟู 100 หมู่บ้าน (百村振兴计划) เพื่อเป็นโครงการหลักในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท นอกจากนี้ รัฐบาลจะเร่งเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพืชและปศุสัตว์ (ข้าวโพด มันฝรั่ง พืชตระกูลแตง เนื้อวัว และเนื้อแพะ) ด้วยเทคโนโลยีและมาตรฐานสูง 3.6 ล้านหมู่ (ราว 1.47 ล้านไร่) เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางด้านอาหาร และจะตั้งเป้าสร้าง 3 ฐานสาธิตทางการเกษตรระดับชาติเพิ่มปี 3 แห่งด้วย โดยจะเร่งสนับสนุนวิสาหกิจที่เข้าลงทุนให้มีศักยภาพในการผลิตได้ถึง 1,000-10,000 ล้านหยวนต่อปี (4) เพิ่มช่องทางการค้ากับเมืองขนาดใหญ่ต่างมณฑล โดยเฉพาะเป้าหมายเพิ่มความร่วมมือกับเมืองอี้อู มณฑลเจ้อเจียง, เมืองชิงต่าว มณฑลซานตง และนครเทียนจินซึ่งเป็นเมืองท่าเรือสำคัญของจีน ในการขนส่งสินค้าผ่านรูปแบบการขนส่งหลากหลายผ่านท่าเรือข้างต้น นอกจากนี้ มณฑลกานซูตั้งเป้าที่จะเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านระบบราง และยังตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางขากลับ (นำสินค้าจากต่างประเทศกลับเข้าจีน) ให้เพิ่มขึ้น เพื่อลดปริมาณการสิ้นเปลืองในการตีรถรอบขากลับ ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของเขตโลจิสติกส์นครหลานโจวให้มีมาตรฐานมากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากท่าเรือเหลียนหยุนกั่ง (连云港港口集团: Port of Lianyungang) มาเป็นพันธมิตรในการอบรมและพัฒนาความร่วมมือนี้ รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (5) ยกระดับความเป็นสากลในระบบ/ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ เน้นการพัฒนาระดับการให้บริการภาครัฐผ่านระบบออนไลน์ และมีความสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกันกับภาพรวมของประเทศ การนำระบบฮอตไลน์ให้บริการภาครัฐ “กานเจิ้งทง 12345” (甘政通12345) (6) การยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรอย่างต่อเนื่อง อาทิ การผลักดันโครงการสร้างที่พักอาศัยให้แก่ผู้ที่อาศัยในแหล่งเสื่อมโทรม 68,900 ครัวเรือน การสร้างบ้านพักในราคาที่เข้าถึงได้ (Affordable housing program) จำนวน 10,000 ห้อง พร้อมกับเร่งแก้ปัญหาการขึ้นทะเบียนขอใช้ที่ดินที่ในอดีตอาจมีความยุ่งยากให้ผู้ร้องได้รับความสะดวกมากขึ้น การสร้างและพัฒนาโรงเรียนและหอพักคณาจารย์ที่เสื่อมโทรมในอำเภอทุรกันดาร 900 แห่งตลอดจนการสร้างโรงเรียนเด็กเล็กในพื้นที่ชนบท 23 แห่ง การสร้างบ้านพักคนชราระดับชุมชนเพิ่มอีก 120 แห่ง การสนับสนุนเงินทุนในสถานที่ฝึกอบรมวิชาชีพให้แก่ประชาชนที่ประสงค์เข้ารับการอบรมในสาขาต่าง ๆ 400,000 ราย รวมไปถึงการสนับสนุนประชากรที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข 10,000 ราย ให้สามารถเข้ารับการศึกษาในระดับปริญญาได้ (ตั้งแต่ 8000-10,000 หยวนตลอดหลักสูตร) เพิ่มโปรแกรมการตรวจหาโรคมะเร็งฟรีในโปรแกรมการตรวจสุขภาพสตรีจำนวน 200,000 ราย และการอพยพประชากรในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยประจำปีจำนวน 4,000 ครัวเรือน
นอกจากนี้ รัฐบาลมณฑลกานซูยังได้ประกาศเป้าหมายดัชนีทางเศรษฐกิจปี 2565 ดังนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.5 อัตราการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 9 การบริโภคในพื้นที่เติบโตร้อยละ 8 การค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 จำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 320,000 คน รายได้ประชากรในเขตเมืองและเขตชนบทเฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และร้อยละ 10 ตามลำดับ และปริมาณข้าวและธัญพืชสำรองจะต้องมีไม่ต่ำกว่า 24,000 ล้านกิโลกรัม อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า รัฐบาลมณฑลกานซูมิได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานและเป้าหมายการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมสีเขียว (十大绿色生态产业) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจเป็นไปได้ถึงความต้องการปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของผู้บริหารมณฑลชุดใหม่ ให้สามารถตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอานจะติดตามพัฒนาการและนำเสนอความคืบหน้าในโอกาสต่อไป
___________
- โมเดล 1+N+X = 1 หมายถึงแผนพัฒนาฯ, N และ X หมายถึงการวางแผนแนวทางที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาหลักในแต่ละพื้นที่ มุ่งเน้นจุดเด่นและศักยภาพของแต่ละพื้นที่เพื่อให้เป็นโมเดลสนับสนุนการพัฒนาที่ใช้ได้จริง
ข้อมูลอ้างอิง
- http://www.szgw.gansu.gov.cn/system/2021/02/01/030267011.shtml
- https://baijiahao.baidu.com/s?id=1689829031129136428&wfr=spider&for=pc