อำเภอจ้าวอัน เมืองจางโจว ทางภาคใต้ของมณฑลฝูเจี้ยน มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมหอยนางรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการพัฒนาสำคัญ อาทิ การจัดเก็บและกระจายผลผลิตแบบรวมศูนย์ โดยก่อสร้างศูนย์จัดเก็บและกระจายหอยนางรมรวม 35 ศูนย์ เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการของเสียจากเปลือกหอยและป้องกันการทิ้งของเสียลงทะเล และร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย เช่น สถาบันสมุทรศาสตร์แห่งที่ 3 เมืองเซี่ยเหมิน และมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในการวิจัยเทคโนโลยีการรีไซเคิลเปลือกหอยนางรมให้ผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ เพื่อช่วยแก้ปัญหาขยะที่เกิดจากเปลือกหอยนางรม ซึ่งอำเภอจ้าวอันประสบความสำเร็จในการจัดการขยะจากเปลือกหอยนางรมแล้ว 300,000 ตัน โดยได้นำปุ๋ยชีวภาพจากเปลือกหอยไปใช้ฟื้นฟูพื้นที่เพาะปลูกที่หน้าดินเป็นกรดหรือปนเปื้อนด้วยโลหะหนักแล้วกว่า 625,000 ไร่ และตั้งเป้าหมายจะเพิ่มความสามารถในการจัดการเปลือกหอยนางรมถูกทิ้งเฉลี่ย 250,000 ตันต่อปี
ทั้งนี้ ในปี 2564 อำเภอจ้าวอันมีบริษัทผลิตหอยนางรม 118 แห่ง มีกำลังการแปรรูปกว่า 300,000 ตันต่อปี และมีผลผลิต 316,000 ตันต่อปี รวมมูลค่าการผลิตถึง 650 ล้านหยวน มีผลผลิตสูงเป็นอันดับหนึ่งของมณฑลฝูเจี้ยนซึ่งเป็นมณฑลที่มีพื้นที่การเพาะเลี้ยงหอยนางรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ประมาณ 36,900 เฮกตาร์ ผลผลิตกว่า 2 ล้านตันต่อปี สูงกว่ามณฑลกวางตุ้ง (1.1 ล้านตันต่อปี) มณฑลซานตง (87,000 ตันต่อปี) และมณฑลกว่างซี (66,000 ตันต่อปี)
แหล่งอ้างอิง https://www.163.com/dy/article/GA90NHTR05527HB7.html
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู