เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ศูนย์เครือข่ายพลังการประมวลผลแห่งชาติ” ของมณฑลกุ้ยโจวได้เริ่มโครงการ “ข้อมูลตะวันออกประมวลผลตะวันตก” (东数西算) ไปพร้อม ๆ กับศูนย์เครือข่ายพลังการประมวลผลแห่งชาติในอีก 7 พื้นที่ ได้แก่ เขตพื้นที่เศรษฐกิจปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย เขตเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี เขตความร่วมมืออ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area) เขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่ง เขตฯ มองโกเลียใน มณฑลกานซู่ และเขตฯ หนิงเซี่ย
โครงการ “ข้อมูลตะวันออกประมวลผลตะวันตก” นับเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของมณฑลกุ้ยโจวให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นหลังจากได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องบิ๊กดาต้าระดับชาติ (National Big Data Pilot Zone) แห่งแรกของจีนเมื่อปี 2559 และในอนาคต ด้วยข้อได้เปรียบด้านภูมิประเทศที่เหมาะสมของมณฑลจะทำให้กุ้ยโจวกลายเป็นศูนย์กลางพลังการประมวลผลแห่งอนาคตที่สำคัญของจีน นอกจากนี้ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 (2564-2568) มณฑลกุ้ยโจวยังมีแผนติดตั้งเซิร์ฟเวอร์มากกว่า 4 ล้านเครื่องภายในศูนย์บิ๊กดาต้าที่มีอยู่ทั้งหมดของมณฑล รวมถึงการสร้างศูนย์พลังประมวลผลระดับเพตะไบต์ (Petabyte)
อนึ่ง โครงการ “ข้อมูลตะวันออกประมวลผลตะวันตก” นับเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตาม “แผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของจีน” ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 โดยเป็นการประสานงานความร่วมมือระหว่างภาคตะวันออกกับภาคตะวันตกของจีน ด้วยการนำข้อมูลจากภาคตะวันออกให้ภาคตะวันตกประมวลผลโดยผ่านระบบเครือข่ายพลังประมวลผลรูปแบบใหม่ ปัจจุบัน ด้วยข้อมูลของภาคตะวันออกที่มีจำนวนมากและไม่สามารถขยายแหล่งพลังประมวลผลได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านทรัพยากร เช่น ที่ดิน และพลังงาน ทำให้ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากภาคตะวันตกที่ยังมีอยู่จำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานหมุนเวียน รวมถึงศักยภาพในการพัฒนาศูนย์บิ๊กดาต้าที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการพลังประมวลผลของภาคตะวันออก ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพลังการประมวลผลของทั้งประเทศ รวมถึงการยกระดับการพัฒนาพลังงานสีเขียว การขยายการลงทุน และการส่งเสริมการพัฒนาภูมิภาคที่มีการประสานงานกันระหว่างภาคตะวันออกกับภาคตะวันตกของจีน
ที่มา: https://www.163.com/dy/article/H0HNP2SK0552DNFX.html
https://m.thepaper.cn/baijiahao_16834991
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู