เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 สำนักงานพัฒนาและบริหารบิ๊กดาต้านครกุ้ยหยาง (Guiyang Municipal Bureau of Big Data Development and Management) ได้แถลงแผนปฏิบัติการ “รีสตาร์ทซอฟต์แวร์” ในเขตนครกุ้ยหยางและเขตเมืองใหม่กุ้ยอัน ปี 2565-2568 โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 รายได้จากอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของนครกุ้ยหยางและเขตเมืองใหม่กุ้ยอันจะมีมูลค่าเกินกว่าแสนล้านหยวน ขณะที่มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีมากกว่าร้อยละ 30
ตามแผนปฏิบัติการดังกล่าวคาดการณ์ว่า ในปี 2565 นครกุ้ยหยางและเขตเมืองใหม่กุ้ยอันจะมีรายได้จากอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ 50,000 ล้านหยวน จำนวนบริษัทซอฟต์แวร์ 5,500 บริษัท และมีจำนวนบริษัทที่มีรายได้เกินกว่า 5 ล้านหยวนมากกว่า 350 บริษัท จากนั้นจะเร่งเครื่องการพัฒนาต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568 เพื่อให้รายได้จากอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของนครกุ้ยหยางและเขตเมืองใหม่กุ้ยอันมีมูลค่าเกินกว่าแสนล้านหยวน จำนวนบริษัทซอฟต์แวร์เพิ่มเป็น 8,000 บริษัท และมีจำนวนบริษัทที่มีรายได้เกินกว่า 5 ล้านหยวนมากกว่า 600 บริษัท
แผนปฏิบัติการดังกล่าวยังระบุเพิ่มเติมว่า การเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในครั้งนี้จะมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของซอฟต์แวร์ ซอฟต์แวร์ที่ทำงานเฉพาะทาง (Embedded Software) แพลตฟอร์มรูปแบบใหม่ และการบริการของเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ใน 3 ด้าน ได้แก่
- การบริการคลาวด์ (Cloud Services) โดยจะมุ่งเน้นการสร้างฐานบริการคลาวด์ให้มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัย การสนับสนุนให้ธุรกิจยกระดับความเป็นดิจิทัล และการตอบสนองต่อความต้องการของรัฐบาลและผู้ประกอบการในการโยกย้ายข้อมูลไปยังระบบคลาวด์ โดยจะอาศัยข้อได้เปรียบด้านพลังงานและการเป็นแหล่งคลัสเตอร์ศูนย์ข้อมูลบิ๊กดาต้าของนครกุ้ยหยางมาส่งเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าและการยกระดับอุตสาหกรรมบริการคลาวด์ รวมถึงอาศัยการเป็น “ศูนย์เครือข่ายพลังการประมวลผลแห่งชาติ” ของมณฑลกุ้ยโจวมาพัฒนากำลังการประมวลผลและระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) รูปแบบใหม่ เพื่อให้อุตสาหกรรมบริการคลาวด์มีมูลค่ามากกว่า 70,000 ล้านหยวนภายในปี 2568
- นวัตกรรมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมุ่งเน้นพัฒนาความก้าวหน้าของความปลอดภัยในระบบข้อมูลและความปลอดภัยของระบบเครือข่าย เพื่อให้อุตสาหกรรมด้านนวัตกรรมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมีมูลค่ามากกว่า 8,000 ล้านหยวนภายในปี 2568
- องค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล โดยจะเร่งการจัดตั้งระบบการกำกับดูแลทรัพยากรข้อมูล การเพิ่มประสิทธิภาพการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงการยกระดับการดำเนินงานของศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลบิ๊กดาต้านครกุ้ยหยาง เพื่อให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลมีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านหยวนภายในปี 2568
ที่มา: http://gz.news.cn/2022-03/03/c_1128432455.htm
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู