เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 อุทยานเทคโนโลยีซินชวนได้ทดสอบรถยนต์อัจฉริยะไร้คนขับจำนวน 12 คัน ประกอบด้วย รถโดยสารประจำทาง 4 คันและรถแท็กซี่ 8 คัน ซึ่งได้รับป้ายทะเบียนรถยนต์ชนิดไร้คนขับเป็นชุดแรก โดยรถยนต์อัจฉริยะเหล่านี้สามารถใช้งานได้อย่างถูกกฎหมาย และอุตสาหกรรมรถยนต์ในนครเฉิงตูกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของการขับเคลื่อนอัจฉริยะ
การทดสอบในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสาธิตรถยนต์อัจฉริยะไร้คนขับของอุทยานเทคโนโลยีซินชวน เขตไฮเทคโซน นครเฉิงตู ถือเป็นโครงการรถยนต์ขับเคลื่อนอัจฉริยะโครงการแรกของมณฑลเสฉวน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 โดยอุทยานเทคโนโลยีซินชวนมีแผนสร้างพื้นที่สาธิตการเชื่อมต่อเครือข่ายอัจฉริยะที่ใช้ 5G+AI และสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมที่จำเป็นสำหรับการใช้งานเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การทดสอบไปจนถึงการใช้งานเชิงพาณิชย์ ครอบคลุมสถานที่สำคัญๆ เช่น สถานีรถไฟใต้ดิน สนามกีฬา นอกจากนี้ ยังมีรถยนต์จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 2 คันและรถทำความสะอาดไร้คนขับ 2 คัน ให้บริการในอุทยานเทคโนโลยีซินชวนอีกด้วย
รถยนต์อัจฉริยะไร้คนขับถูกพัฒนาโดยบริษัท Baidu Apollo ซึ่งใช้เทคโนโลยีการขับเคลื่อนอัจฉริยะที่ล้ำหน้าที่สุดในปัจจุบัน มีเซนเซอร์หลากหลายรูปแบบ และกล้องที่สามารถรับสภาพแวดล้อมของถนน ข้อมูลจะถูกส่งไปยังศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะ เมื่อผ่านการประมวณผลโดย AI แล้ว ข้อมูลจะถูกส่งไปยังตัวรถเพื่อสั่งงานให้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งเซนเซอร์ กล้องความละเอียดสูง และอุปกรณ์ไร้สายต่าง ๆ กว่า 500 รายการ บริเวณทางแยก 35 จุดในอุทยานฯ เพื่อใช้สำหรับการทดสอบการขับขี่อัตโนมัติ
ระหว่างการทดสอบจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ด้านหน้าและด้านหลังของรถบัส เจ้าหน้าที่ด้านหน้าเป็นคนขับรถโดยสารประจำทางที่มีประสบการณ์พร้อมใบอนุญาตขับขี่ประเภท A ซึ่งสามารถเข้าควบคุมรถในกรณีฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยด้านหลังรถมีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล ดูแลสถานการณ์ภายในรถและบริเวณรอบตัวรถ และรายงานต่อเจ้าหน้าที่ด้านหน้ารถในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังมีรถรักษาความปลอดภัยติดตามสำหรับให้ความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินอีกด้วย
เจ้าหน้าที่ของ Baidu เปิดเผยว่า ปัจจุบันเป็นการทดสอบแบบไม่มีผู้โดยสาร ในอนาคตมีแผนจะทดสอบแบบมีผู้โดยสาร และเมื่อการทดสอบเสร็จสิ้น จะไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำรถ อาจมีการเก็บค่าโดยสาร และประชาชนสามารถเรียกแท็กซี่ไร้คนขับผ่านแอปพลิเคชั่นได้
เจ้าหน้าที่เขตไฮเทคโซนเปิดเผยด้วยว่า หากการทดสอบในครั้งนี้เป็นไปด้วยดี คาดว่าจะสามารถนำไปใช้ในงานกีฬามหาวิทยาลัยโลก (FISU World University Games) ครั้งที่ 31 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในนครเฉิงตู ในเดือนมิถุนายน 2565
เทคโนโลยีขับเคลื่อนอัจฉริยะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมรถยนต์มากขึ้น ไม่เพียงแต่รถยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้นปัจจุบันถูกนำมาปรับใช้กับรถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ รถจำหน่ายสินค้า และรถทำความสะอาด ฯลฯ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและมีราคาสูง จึงยังไม่สามารถเข้าถึงประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ดี ภายหลังจากการทดสอบความปลอดภัย และการออกนโยบาย-กฎหมายรองรับ รวมถึงการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ขับเคลื่อนอัจฉริยะ คาดว่ารถยนต์ดังกล่าวจะสามารถเห็นได้ทั่วไปตามท้องถนน
ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน และเป็นที่ตั้งของผู้ผลิตยานยนต์ระดับโลกมากกว่า 20 ราย อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะ ในส่วนของยานยนต์ขับเคลื่อนอัจฉริยะไทยยังต้องนำเข้าชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องและต้องการการลงทุนในด้านดังกล่าว ดังนั้น ไทยจึงพร้อมเปิดรับการลงทุนของวิสาหกิจจีน ยินดีร่วมมือกับวิสาหกิจจีนและให้วิสาหกิจเหล่านี้เป็นห่วงโซ่อุตสาหกรรมของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติในไทย เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ baijiahao.baidu (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565)
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1726281054284411646&wfr=spider&for=pc
เว็บไซต์ mbd.baidu (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565)
ขอบคุณรูปภาพจาก สำนักข่าว RED STAR NEWS