เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 การประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนชุดที่ 13 ครั้งที่ 5 ได้จัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมายด้านเศรษฐกิจของจีนในปี 2565
- ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.5
- มีการจ้างงานใหม่จะมากกว่า 11 ล้านคน และอัตราการว่างงานที่ได้รับการสำรวจจะไม่เกินร้อยละ 5
- ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3
- รายได้ของประชาชนจะเติบโตในระดับเดียวกันกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีน
- การค้าระหว่างประเทศจะมีเสถียรภาพและจะมีการยกระดับคุณภาพสินค้าที่นำเข้าและส่งออก
- ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศจะมีความสมดุลในภาพรวม
- จะรักษาให้ผลผลิตข้าวสารและธัญพืชอยู่ในระดับมากกว่า 6.5 แสนล้านกิโลกรัม
- ปริมาณการปล่อยมลพิษจะมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน ธ.ค. 2564 ในการประชุม Central Economic Work Conference (CEWC) ของจีนได้มีการกล่าวถึงความท้าทายของเศรษฐกิจจีน 3 ประการ ได้แก่ (1) อุปสงค์ชะลอตัว อาทิ การบริโภคฟื้นตัวล่าช้า (2) อุปทานได้รับผลกระทบ อาทิ การขาดแคลนชิป และ (3) การขาดความเชื่อมั่นของตลาด ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการกล่าวถึงมาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว
มาตรการกระตุ้นการบริโภค
ปัจจุบัน การฟื้นตัวของการบริโภคในจีนยังคงมีความล่าช้า อันเป็นผลจาก (1) การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการบริโภคออฟไลน์และการบริโภคในภาคบริการอย่างต่อเนื่อง และ (2) ชาวจีนมีแรงกดดันด้านการจ้างงานและรายได้มากยิ่งขึ้น ทำให้มีความต้องการบริโภคลดลง ทั้งนี้ มาตรการการกระตุ้นการบริโภคของจีนในปี 2565 จะเน้นส่งเสริมการจ้างงานและเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน รวมทั้งยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการ
มาตรการรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทาน
ในปี 2564 อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของจีนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาขาดแคลนชิป ทั้งนี้ ในปี 2565 จีนมีมาตรการส่งเสริมให้สามารถพึ่งพาตนเองทางด้านเทคโนโลยีได้มากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เช่น การปรับลดภาษีของบริษัทนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและบริษัทภาคการผลิตที่ดำเนินการวิจัยขั้นพื้นฐาน และสนับสนุนเงินทุนให้แก่บริษัท SMEs ที่มีศักยภาพด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี หรือที่เรียกว่า “บริษัทยักษ์น้อย (little giants)”
มาตรการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ตลาด
โดยในปี 2565 จีนจะดำเนินมาตรการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ตลาด เช่น (1) การปรับลดภาษีและการคืนภาษีให้แก่บริษัทภาคการผลิตและผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งคาดว่าจีนจะปรับลด/คืนภาษีประมาณ 2.5 ล้านล้านหยวนในปี 2565 (2) เพิ่มการปล่อยเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและเงินกู้ที่สนับสนุนเกษตกร และ (3) ผลักดันการปรับลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ เช่น การปรับลดราคาไฟฟ้า การปรับลดค่าธรรมเนียมของบริษัทแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่เพื่อลดภาระของร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็ก และการปราบปรามการเก็บค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมที่ไม่เหมาะสมของหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น
แหล่งข้อมูล:
http://www.gov.cn/premier/2022-03/05/content_5677248.htm
http://www.gov.cn/xinwen/2022-03/05/content_5677186.htm
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู