เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และสภาแห่งรัฐจีนออกประกาศ “แผนการส่งเสริมการฟื้นฟูชนบทในปี 2565 ” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านอัจฉริยะ การเกษตรอัจฉริยะ และส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับการเกษตรแบบบูรณาการ โดยอำเภอต้าอี้ นครเฉิงตู ประสบความสำเร็จในการสร้างหมู่บ้านอัจฉริยะ การสร้างแพลตฟอร์มบริการการเกษตรอัจฉริยะแบบครบวงจร และมีการดำเนินงานในโครงการ “ฟาร์มอัจฉริยะ” 150 ฟาร์มแรกของมณฑลเสฉวน สามารถประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพมากกว่าร้อยละ 15 และเพิ่มรายได้ของเกษตรกรขึ้นร้อยละ 9.8 นอกจากนี้ สำนักงานเกษตรและชนบท อำเภอต้าอี้ เปิดเผยด้วยว่า ตั้งแต่ดำเนินโครงการฯ ต้นทุนในการเพราะปลูกลดลง ประหยัดค่าแรง และสามารถลดมลพิษจากยาฆ่าแมลงและปุ๋ยร้อยละ 10
สวนอุตสาหกรรมการเกษตรอัจฉริยะ
สวนอุตสาหกรรมการเกษตรอัจฉริยะตั้งอยู่ในหมู่บ้านหย่งซิ่ง ตำบลอันเหริน อำเภอต้าอี้ สวนอุตสาหกรรมฯแห่งนี้ได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่มาบูรณาการอย่างลึกซึ้งกับอุตสาหกรรมการเกษตร ระบบการผลิต ระบบปฏิบัติการ และระบบการจัดการ เพื่อปรับปรุงคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร
สวนอุตสาหกรรมฯ ได้สร้างแพลตฟอร์ม portal.scrdny.com (润地吉时雨数字农业平台) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบริการด้านการเกษตรแบบครบวงจร เพื่อยกระดับความทันสมัยทางการเกษตร ใช้เทคโนโลยีดาวเทียม “เป๋ยโต่ว” และอุปกรณ์ดิจิทัลที่ถูกติดตั้งในพื้นที่แต่ละแปลง เป็นระบบตรวจสอบการเกษตรภาคสนามแบบบูรณาการ ช่วยให้การบริการมีความแม่นยำ และช่วยให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเพาะปลูกมีประสิทธิภาพ และยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่น Jishiyu (吉时雨) บนมือถือที่ช่วยให้เกษตรกรทำการเกษตรได้สะดวกสบายภายในคลิ๊กเดียว บริการห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั้งหมดตั้งแต่การจำหน่ายอุปกรณ์ทางการเกษตร เมล็ดพันธุ์พืช และการจัดการพื้นที่เพาะปลูก ช่วยลดปัญหาในกระบวนการเกษตร
เครื่องจักรและอุปกรณ์ทางการเกษตรแบบอัจฉริยะที่ให้บริการ ได้แก่ รถแทรกเตอร์ รถเกลี่ยดิน รถไถ เครื่องหว่านเมล็ด เครื่องบำรุงรักษาพืช เครื่องเก็บเกี่ยว ซึ่งสามารถครอบคลุมทุกขั้นตอนของการทำเกษตร ใช้คนเพียง 2-3 คนในการควบคุมบนคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ โดยต้องตรวจสอบ บำรุงรักษาอุปกรณ์ และการชาร์จพลังงานเป็นครั้งคราวเท่านั้น
การหว่านเมล็ดด้วยเครื่องหว่านเมล็ดอัจฉริยะ ช่วยให้ระยะห่างระหว่างเมล็ดมีความสม่ำเสมอมากขึ้น ทำให้การระบายอากาศและได้รับแสงดีขึ้น เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพืช ส่งผลให้สามารถเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 2-3 และลดปริมาณปุ๋ยและยาฆ่าแมลงลงร้อยละ 5-10 ลดต้นทุนการผลิตร้อยละ 5-10 เนื่องจากการเชื่อมต่อที่แม่นยำจึงสามารถเพิ่มอัตราการใช้ที่ดินได้ร้อยละ 0.5-1 เครื่องจักรสามารถทำงานอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ประหยัดต้นทุนและเพิ่มรายได้เป็นอย่างมาก
มุมมองของเกษตรกรผู้ใช้งาน
จง เหยียนผิง เจ้าของพื้นที่การเกษตรในหมู่บ้านหย่งฉวน ตำบลหวังสื้อ อำเภอต้าอี้ เปิดเผยว่า ตนไม่มีความรู้ด้านการเกษตร ปกติแล้ว ไม่ได้เข้าไปปลูกพืชด้วยตนเอง แต่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำการเกษตร แอปพลิเคชั่น Jishiyu (吉时雨) จะรายงานผลการเติบโตของพืช ความชื้นในดิน ความชื้นในอากาศ อุณหภูมิ ทิศทางลม โรคในพืช และแมลงศัตรูพืช ได้อย่างแม่นยำ สามารถสั่งซื้อเครื่องจักรและใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่นอย่างครบวงจร ตั้งแต่การหว่านปุ๋ย การเก็บเกี่ยวจนถึงการขาย
ปัจจุบัน อำเภอต้าอี้ประสบความสำเร็จในการก่อสร้างหมู่บ้านดิจิทัล ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบบริการทางการเงินและการทำการตลาดด้านการเกษตรให้เป็นดิจิทัล เป็นแบบอย่างของการเกษตรอัจฉริยะของมณฑลเสฉวน และใช้แพลตฟอร์มบริการการเกษตรดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างฟาร์มอัจฉริยะ 200 แห่ง และสร้างอุทยานการเกษตรสมัยใหม่ระดับชาติการเปลี่ยนแปลงจากการเกษตรดั้งเดิมสู่การเกษตรดิจิตัล เป็นความท้าท้ายครั้งใหญ่ของการเกษตรกรรมของไทย
ในอนาคต การเกษตรไม่ใช่งานที่ใช้แรงงานและเครื่องจักรกลอีกต่อไป แต่ต้องอาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาบูรณาการในการเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนและการใช้ทรัพยากร ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคง และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรยุคใหม่ เกษตรกรไทยควรตระหนักถึงการปรับตัว เปิดใจในการศึกษาและเรียนรู้เทคโนโลยีการเกษตรใหม่ ๆ เพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคของการเกษตรดิจิตัลอย่างเต็มรูปแบบ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ cdrb.com (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565)
http://www.cdrb.com.cn/epaper/cdrbpc/202203/21/c95701.html
ขอบคุณรูปภาพจาก 润地吉时雨数字农业平台