รัฐบาลมณฑลหูหนานประกาศ “แผนพัฒนากลุ่มเมืองนครฉางซา-เมืองจูโจว-เมืองเซียงถาน” เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาให้เป็นกลุ่มเมืองที่มีคุณภาพสูง รวมถึงเป็นการตอบสนองยุทธศาสตร์การเร่งพัฒนาภาคกลางของจีน และสนับสนุนแผนพัฒนากลุ่มเมืองแม่น้ำแยงซีตอนกลางในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีนฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568) ที่คณะรัฐมนตรีจีนประกาศไปเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565
ทั้งนี้ กลุ่มเมืองนครฉางซา-เมืองจูโจว-เมืองเซียงถาน หรือ “ฉาง-จู-ถาน” มีขนาดพื้นที่ 18,900 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย นครฉางซา ตัวเมืองจูโจวและเมืองหลี่หลิงของเมืองจูโจว ตัวเมืองเซียงถาน อำเภอ (ระดับเมือง) เสาซานและอำเภอเซียงถานของเมืองเซียงถาน โดยเมืองทั้งสามแห่งของมณฑลหูหนานข้างต้น ล้วนมีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน กล่าวคือ สำหรับนครฉางซาถือเป็น “เมืองแห่งเครื่องจักรก่อสร้างของจีน” ที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีบริษัทเครื่องจักรก่อสร้างชั้นนำระดับโลกตั้งอยู่จำนวนมาก เช่น Sany, Zoomlion, CRCC และ Sunward โดยมูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมเครื่องจักรก่อสร้างในนครฉางซามีสัดส่วนถึงร้อยละ 27 ของมูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องจักรก่อสร้างของจีน และมีสัดส่วนร้อยละ 7.2 ของโลก ขณะที่เมืองจูโจวมีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมอุปกรณ์คมนาคมทางราง ซึ่งมีบริษัทชั้นนำที่สำคัญ เช่น CRRC Zhuzhou รวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องยนต์อากาศยานขนาดเล็กและขนาดกลาง ตลอดจนอุตสาหกรรมวัสดุโลหะผสม ส่วนเมืองเซียงถานมุ่งเน้นอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ และอุตสาหกรรมวัสดุใหม่ ทั้งนี้ ในปี 2564 กลุ่มเมืองฉาง-จู-ถาน มีจำนวนประชากร 14.84 ล้านคน และมูลค่า GDP รวม 1.79 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39 ของมูลค่า GDP มณฑลหูหนาน
สำหรับแผนพัฒนากลุ่มเมือง “ฉาง-จู-ถาน” ที่รัฐบาลมณฑลหูหนานเพิ่งประกาศนั้น นับเป็นแผนพัฒนากลุ่มเมืองแผนงานแรกในภาคกลางของจีนและเป็นลำดับที่ 4 ของประเทศ ต่อจากแผนพัฒนาของกลุ่มเมืองหนานจิง กลุ่มเมืองฝูโจว และกลุ่มเมืองเฉิงตู ที่ทยอยออกมาเมื่อปี 2564 โดยในส่วนของแผนพัฒนากลุ่มเมืองฉาง-จู-ถานนี้ กำหนดเป้าหมายไว้ 2 ระยะ ได้แก่
ระยะแรกภายในปี 2568 ตั้งเป้าให้การพัฒนาร่วมของนครฉางซา เมืองจูโจว และเมืองเซียงถานในด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน บริการสาธารณะ และประกันสังคม มีความคืบหน้าอย่างมาก รวมถึงความสามารถด้านการแข่งขันก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนกลุ่มเมืองดังกล่าวกลายเป็นต้นแบบ “การพัฒนาคุณภาพสูง ธรรมาภิบาลระดับสูง และคุณภาพชีวิตที่ดี” ของมณฑลหูหนาน
ระยะต่อไปภายในปี 2578 ตั้งเป้าให้ความเป็น “กลุ่มเมือง” ก่อตัวเป็นรูปร่างที่สมบูรณ์ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชนระหว่างเขตเมืองกับชนบทลดลงอย่างมาก บริการสาธารณะขั้นพื้นฐานมีระดับเท่าเทียมกัน ระบบโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงถึงกัน ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นกว่าเดิม และรูปแบบของธรรมาภิบาลมีความทันสมัยขึ้น จนกลายเป็นกลุ่มเมืองที่ทันสมัย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของมณฑลหูหนาน
ขณะเดียวกัน เพื่อให้เป้าหมายข้างต้นประสบความสำเร็จ แผนดังกล่าวได้กำหนดภารกิจสำคัญในการพัฒนากลุ่มเมืองไว้ 6 ประการ ได้แก่
- ส่งเสริมการบูรณาการและการพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้เมืองทั้งสามแห่งมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นและเกิดการประสานเป็นกลุ่มเมือง
- สร้างเครือข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์เชื่อมโยงถึงกัน โดยมีจุดหมายให้เมืองทั้งสามแห่งสามารถเดินทางถึงกันได้ภายในครึ่งชั่วโมง รวมถึงเพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเมืองกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ที่สำคัญระดับประเทศ
- ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกัน เพื่อให้กลุ่มเมืองกลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมการผลิตชั้นนำที่สำคัญของจีน พื้นที่วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่มีความสามารถทางการแข่งขัน และพื้นที่ตอนในของจีนที่ปฏิรูปและเปิดกว้างสู่ภายนอก ตามยุทธศาสตร์ “3 พื้นที่สำคัญ” ของมณฑลหูหนาน โดยภายในปี 2568 หูหนานจะสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการผลิตชั้นนำระดับโลก 3 กลุ่ม ได้แก่ เครื่องจักรก่อสร้าง อุปกรณ์คมนาคมทางราง รวมถึงเครื่องยนตอากาศยานขนาดเล็กถึงขนาดกลางและอุปกรณ์การบิน
- ให้ความสำคัญต่อระบบนิเวศและพัฒนาตามแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- กระชับความร่วมมือในด้านบริการสาธารณะ รวมถึงยกระดับคุณภาพบริการสาธารณะอย่างต่อเนื่อง โดยยึดถือความต้องการของประชาชนเป็นหลัก
- สร้างสภาพแวดล้อมของกลุ่มเมืองให้มีมาตรฐานที่ดี เพื่อให้เกิดความสะดวกในการประกอบธุรกิจ การลงทุน และการจ้างงาน
ที่มา: http://www.hunan.gov.cn/hnszf/hnyw/sy/hnyw1/202203/t20220331_22726255.html
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู