อุตสาหกรรมเซรามิกเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น มายาวนาน ในปี 2564 มีมูลค่าการผลิตสูงกว่า 5 หมื่นล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 47.2 ของมูลค่า GDP ทั้งเมือง ในจำนวนนี้ มูลค่าการผลิตของบริษัทรายใหญ่สูงกว่า 1.58 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 เมืองจิ่งเต๋อเจิ้นมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิกอย่างต่อเนื่องโดยมีพัฒนาการที่สำคัญ ได้แก่
(1) การพัฒนาโครงการสำคัญ อาทิ การสร้างเขตมรดกทางวัฒนธรรมเซรามิกแห่งชาติและเขตนำร่องทางนวัตกรรม ด้วยเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านหยวน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาเมืองที่ครอบคลุมการก่อสร้างหอจัดแสดงนิทรรศการและผลงานทางศิลปะ โรงแรม อพาร์ทเมนท์ ศูนย์การศึกษาและฝึกอบรม และคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2565
(2) การลงทุนของบริษัทที่ใช้เทคโลยีขั้นสูง ในปี 2564 มีการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเพิ่มขึ้นกว่า 2,600 ราย โดยมีการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง อาทิ บริษัท Konka Group จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะรายใหญ่ (สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเซินเจิ้น) ซึ่งได้ลงทุนโครงการผลิตนาโนเซรามิก ชนิดบางเฉียบ เซรามิกโปร่งแสง และเซรามิกกันกระสุน
(3) การแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการค้าและวัฒนธรรมเซรามิกระหว่างประเทศ อาทิ การสนับสนุนให้บริษัท Jingdezhen Ceramics จำกัด ร่วมมือกับบริษัทจากเยอรมนีพัฒนา “ฐานการฝึกอบรมการผลิตเซรามิกอัจฉริยะจีน–เยอรมัน 4.0” ซึ่งได้ดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเยอรมนีแล้ว 11 แห่ง และได้มีการลงนามความร่วมมือด้านการฝึกอบรม การวิจัยและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต และการออกแบบผลิตภัณฑ์ ร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษากว่า 20 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนั้น ยังส่งเสริมการจัดนิทรรศการวัฒนธรรมเซรามิกในประเทศต่าง ๆ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคยุโรป รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเซรามิกกว่า 400 กิจกรรม
(4) การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเซรามิก ในปี 2564 เมืองจิ่งเต๋อเจิ้นได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากกว่า 53.32 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 137 รายได้การท่องเที่ยว 4.79 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32
ทั้งนี้ รัฐบาลเมืองจิ่งเต๋อเจิ้นตั้งเป้าหมายมูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมเซรามิกให้สูงกว่า 1 แสนล้านหยวนภายในปี 2566 ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมเซรามิกเป็นอุตสาหกรรมแรกของเมืองจิ่งเต๋อเจิ้นที่มีมูลค่าการผลิตมากกว่า 1 แสนล้านหยวน
เมืองจิ่นเต๋อเจิ้งถือเป็นต้นแบบที่ดีของการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากโดยเน้นการ ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่นและการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องแบบองค์รวมทั้งระบบ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตใหม่ ๆ ซึ่งไทยสามารถศึกษาและส่งเสริมการถ่ายทอดนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่างานเซรามิกของไทยมากยิ่งขึ้นได้
แหล่งอ้างอิง http://jx.news.cn/2022-03/11/c_1128459415.htm
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู