อุตสาหกรรมวัสดุใหม่ของเมืองเซี่ยเหมินเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีมูลค่าการผลิตสูงกว่า 1.07 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นจาก 4.2 หมื่นล้านหยวนในปี 2559 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า กลายเป็นห่วงโซ่อุตสาหกรรมใหม่อีกสาขาหนึ่งของเมืองเซี่ยเหมินที่มีมูลค่าการผลิตสูงกว่า 1 แสนล้านหยวนเป็นครั้งแรก โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนจากการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมเกิดใหม่ อาทิ เทคโนโลยีสารสนเทศ อวกาศ IoT โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้าที่มีความต้องการของตลาดทั้งภายในจีนและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งวัสดุใหม่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตของอุตสาหกรรมเกิดใหม่เหล่านี้
เมืองเซี่ยเหมินยังเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจสาขาวัสดุใหม่ที่แข็งแกร่งระดับประเทศ อาทิ (1) บริษัท Xiamen Tungsten จำกัด (XTC) ซึ่งเป็นวิสาหกิจรายใหญ่ในอุตสาหกรรมทังสเตนของมณฑลฝูเจี้ยน และเป็นผู้ผลิตและส่งออกทังสเตนในสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์ทังสเตนทั่วโลก รวมทั้งวัสดุแม่เหล็กที่ผลิตจากแร่ธาตุหายาก และ (2) บริษัท XTC New Energy Materials (Xiamen) จำกัด วิจัยและพัฒนาวัสดุจากธาตุลิเธียมโคบอลต์ออกไซด์ (LiCoO 2) แรงดันสูงสำหรับการผลิตวัสดุขั้วแคโทดแบตเตอรี่ลิเธียมไออน ซึ่งมีส่วนช่วยในการส่งเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมไออนของเมืองเซี่ยเหมินโดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 48 ของตลาดภายในประเทศจีน
ในอนาคต หน่วยงานภาครัฐของเมืองเซี่ยเหมินมีแผนที่จะปรับปรุงนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุใหม่เพื่อพัฒนาห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมวัสดุใหม่ของเมืองเซี่ยเหมิน โดยเน้นการพัฒนาวัสดุประเภททังสเตน โมลิบดีนัม วัสดุสำหรับอุปกรณ์ออปโตอิเล็กทรอนิกส์ และแร่ธาตุหายากตามความต้องการใช้งานของเพิ่มขึ้นของผู้บริโภค รวมถึงการพัฒนาการออกแบบ และการสนับสนุนให้บริษัทแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนชั้นนำจับคู่ธุรกิจกับบริษัทในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องของเมืองเซี่ยเหมินให้มากขึ้น ตลอดจนสนับสนุนความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจชั้นนำ มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยในเมืองเซี่ยเหมินเพื่อสร้างฐานการฝึกอบรมและฐานบูรณาการการผลิต-การศึกษา ทั้งนี้ ปัจจุบันในเมืองเซี่ยเหมินมีสถาบันวิจัยและพัฒนาวัสดุใหม่ระดับประเทศ ระดับมณฑลและระดับเมืองกว่า 60 แห่ง อาทิ ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมเฉินเจียเกิง สถาบันวิจัยวัสดุแร่ธาตุหายากเซี่ยเหมิน ของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และสถาบันวิจัยวัสดุเซี่ยเหมิน เป็นต้น
อุตสาหกรรมวัสดุใหม่มีแนวโน้มที่จะก้าวขึ้นเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมศักยภาพของมณฑลฝูเจี้ยน ไทยจึงควรจับตามองและติดตามพัฒนาการต่อไป รวมถึงอาจพิจารณาโอกาสในการสร้างความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้นวัตกรรมการผลิตวัสดุใหม่ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุใหม่ของไทย
แหล่งอ้างอิง http://fj.people.com.cn/n2/2022/0302/c181466-35156356.html
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู