มณฑลกุ้ยโจวถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งทรัพยากรด้านพลังงานที่อุดมสมบูรณ์ของจีน โดยมีพลังงานสำคัญหลายชนิด เช่น ถ่านหิน ไฟฟ้า และก๊าซที่แทรกอยู่ตามชั้นหินหรือถ่านหิน (Unconventional Gas) เช่น ก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน (Shale Gas) และก๊าซมีเทนในชั้นถ่านหิน (Coal Bed Methane) ที่ผ่านมา กุ้ยโจวได้พัฒนานโยบายพลังงานให้สอดคล้องกับนโยบายระดับชาติของจีนที่มุ่งเน้นการสร้างระบบพลังงานสมัยใหม่ที่สะอาด คาร์บอนต่ำ ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง โดยในช่วงห้าปีที่ผ่านมา มณฑลกุ้ยโจวมีพัฒนาการด้านพลังงานที่โดดเด่น 4 ประการ ได้แก่
- การพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานใหม่ โดยนับจนถึงสิ้นปี 2564 กุ้ยโจวมีกำลังติดตั้งการผลิตไฟฟ้า 75.73 ล้านกิโลวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 37.4 คิดเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น 20.63 ล้านกิโลวัตต์ ในจำนวนนี้ เป็นพลังงานความร้อน 35.72 ล้านกิโลวัตต์ พลังงานน้ำ 22.83 ล้านกิโลวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ 11.37 ล้านกิโลวัตต์ โดยมณฑลกุ้ยโจวมีกำลังติดตั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำสูงเป็นอันดับ 4 ของจีน รองจากมณฑลเสฉวน มณฑลยูนนาน และมณฑลหูเป่ย รวมถึงมีกำลังติดตั้งการผลิตพลังงานใหม่ 17.6 ล้านกิโลวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 กว่าสามเท่า และการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ยกเว้นพลังงานน้ำ) เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ร้อยละ 3.2 เป็นร้อยละ 9.6 ในปี 2564
- การพัฒนาพลังงานสะอาดแบบบูรณาการ ด้วยการพัฒนาด้านพลังงานควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับท้องถิ่น เช่น การพัฒนา “พลังงานลมผนวกกับการท่องเที่ยว” รวม 24 แห่ง โดยใช้ประโยชน์จากภูมิทัศน์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกิดจากกังหันลมระดับความสูงของเสา 80 เมตรขึ้นไปเพื่อส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และการพัฒนา “พลังงานแสงอาทิตย์ผนวกกับการเกษตร” มากกว่า 50 แห่ง โดยการสร้างสถานีกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับการปลูกพืชผลใต้แผงพลังงานแสงอาทิตย์ หรือการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าบนหลังคาโรงเรือน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มประโยชน์การใช้ที่ดินด้วยการผลิตไฟฟ้าใช้เองและช่วยให้เกษตรกรท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้อีกด้วย
- การปรับโครงสร้างองค์กรของเหมืองถ่านหินและกำจัดกำลังการผลิตที่ล้าสมัย โดยกุ้ยโจวปิดเหมืองถ่านหินที่ไม่ได้มาตรฐานและมีกำลังการผลิตน้อยกว่าสามหมื่นตันต่อปีจำนวน 414 แห่ง จากในปี 2559 ที่มณฑลมีเหมืองถ่านหิน 1,189 แห่ง ลดเหลือ 775 แห่ง ในปี 2564 นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมถ่านหินคุณภาพสูง โดยปัจจุบันเหมืองถ่านหินทั้งหมดได้หันมาใช้เครื่องจักรในการปฏิบัติงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีอัตราการใช้เครื่องจักรในเหมืองถ่านหินอยู่ที่ร้อยละ 62 ขณะเดียวกัน ยังส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมถ่านหินให้มีความเป็นอัจฉริยะ เช่น การวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ตรวจสอบใต้ดิน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G และการพัฒนาระบบขนส่งภายใต้สภาพทางธรณีวิทยาที่ซับซ้อน
- การเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม Unconventional Gas และก๊าซธรรมชาติ โดยในปี 2564 กุ้ยโจวมีปริมาณการผลิต Unconventional Gas 117 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปี 2559 ที่ไม่เคยมีการผลิตมาก่อน และยังทะลุหลักร้อยล้านลูกบาศก์เมตรเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ยังเร่งขยายการวางท่อก๊าซธรรมชาติเพื่อให้ประชาชนทั้ง 88 อำเภอของมณฑล มีก๊าซธรรมชาติใช้ในชีวิตประจำวัน โดยในปี 2564 กุ้ยโจวได้วางท่อก๊าซธรรมชาติเชื่อมต่อระดับอำเภอแล้ว 68 แห่ง รวมระยะทาง 3,194 กิโลเมตร เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 1.46 เท่า หรือเพิ่มขึ้น 1,893 กิโลเมตร
สำหรับทิศทางในอนาคตนั้น มณฑลกุ้ยโจวยังคงให้ความสำคัญกับพลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียน โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักพลังงานมณฑลกุ้ยโจวและคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปมณฑลกุ้ยโจวได้ประกาศ “แผนพัฒนาพลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียนของมณฑลกุ้ยโจวในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568)” ซึ่งมุ่งเน้นความมั่นคงด้านพลังงานและการพัฒนาคุณภาพสูง โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 มณฑลกุ้ยโจวจะมีกำลังติดตั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียนเกินกว่า 65.46 ล้านกิโลวัตต์ พื้นที่ระบบทำความร้อนและความเย็นจากพลังงานใต้พิภพมากกว่า 25 ล้านตารางเมตร และกำลังการผลิตก๊าซชีวภาพเกินกว่า 200 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ การใช้พลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียนของมณฑลกุ้ยโจวจะช่วยลดการใช้ปริมาณถ่านหินถึง 40.48 ล้านตัน และสัดส่วนการใช้พลังงานที่ไม่ได้มาจากฟอสซิล (Non-fossil source) จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 21.6
นอกจากนี้ แผนพัฒนาดังกล่าวยังระบุภารกิจสำคัญเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ได้แก่ (1) ขยายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น ส่งเสริมการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ระดับล้านกิโลวัตต์ในเมืองปี้เจี๋ย เมืองลิ่วผานสุ่ย เมืองอานซุ่น เขตฯ เฉียนซีหนาน และเขตฯ เฉียนหนาน เร่งสร้างฐานพลังงานหมุนเวียนแบบบูรณาการบริเวณแม่น้ำสำคัญของมณฑล เช่น แม่น้ำอูเจียง แม่น้ำเป่ยผานเจียง แม่น้ำหนานผานเจียง และแม่น้ำชิงสุ่ย รวมถึงส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน (Solar Rooftop) ในระดับอำเภอ 13 แห่งของมณฑล (2) พัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากขยะในเมืองและชีวมวล (3) เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานใต้พิภพ (4) ส่งเสริมการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น (5) ส่งเสริมการใช้พลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียน รวมถึงขยายการใช้พลังงานหมุนเวียนในชนบท รวมถึง (6) ยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน
ที่มา: https://www.sohu.com/a/538247914_121106902
http://www.guizhou.gov.cn/ztzl/ssgybzxdflsxgydtp/sdgycy/xdny/cygk/202110/t20211009_70810908.html
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1730547013718877791&wfr=spider&for=pc
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู