ไฮไลท์
- ปัจจุบัน ประเทศจีนให้ความสำคัญกับคำว่า “เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม” เป็นอย่างมาก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รัฐบาลท้องถิ่นได้ตอบสนองนโยบายจากส่วนกลางเพื่อก้าวผ่านสู่ “เศรษฐกิจและสังคมสีเขียว” โดยเฉพาะการจำกัดและกำจัดอุตสาหกรรมที่สิ้นเปลืองพลังงานและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมและการบริการให้มีเทคโนโลยีคอนเทนต์สูง ซึ่งรวมถึงสาขาการขนส่งและโลจิสติกส์ด้วย
- ท่าเรือฝางเฉิงก่างของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้เริ่มใช้งาน “สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุก” เป็นที่แรกในกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (หรืออ่าวตังเกี๋ย) พร้อมกับรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า อีกจำนวน 10 คัน ซึ่งจะใช้ในการปฏิบัติงานภายในเขตท่าเรือฝางเฉิงก่าง เป็นการขานรับนโยบาย “เศรษฐกิจและสังคมสีเขียว” ของประเทศจีน
- “สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ รุ่น 10W-1” เป็นโครงการนำร่องสู่การปรับเปลี่ยนรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันไปใช้รถบรรทุกที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ใช้เวลาในการประกอบติดตั้งเพียง 3 วัน ระบบการทำงานใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะที่มีความล้ำสมัยในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ เช่น ชุดอุปกรณ์ยกแบตเตอรี่รถบรรทุกด้วยพลังแม่เหล็ก ระบบวัดระยะห่างด้วยเรดาร์ ระบบระบุตำแหน่งด้วย AI Vision และ 5G
- กระบวนการเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้เวลาสั้นๆ เพียง 5 นาที เป็นการก้าวข้ามข้อจำกัดแบบเดิมที่ต้องจอดรถรอชาร์จแบตเตอรี่ 3-6 ชั่วโมง ชุดแบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ใช้ เป็นแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนฟอสเฟต (LiFePO4) ที่มีแรงขับเคลื่อน 141 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานถึง 10-12 ชั่วโมง ชุดอุปกรณ์เปลี่ยนแบตเตอรี่สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ 144 ครั้งต่อวัน สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานของรถบรรทุกในท่าเรือได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นับเป็นอีกความเคลื่อนไหวของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ที่เร่งขานรับนโยบาย Go Green (ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) และนโยบาย Carbon Neutral (ความเป็นกลางทางคาร์บอน) เพื่อขับเคลื่อนท่าเรือสู่ Green Port และ Smart Port
ท่าเรือฝางเฉิงก่างของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้เริ่มใช้งาน “สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุก” เป็นที่แรกในกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (หรืออ่าวตังเกี๋ย) พร้อมกับรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า อีกจำนวน 10 คัน ซึ่งจะใช้ในการปฏิบัติงานภายในเขตท่าเรือฝางเฉิงก่าง
สำหรับ “สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ รุ่น 10W-1” เป็นโครงการนำร่องสู่การปรับเปลี่ยนรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันไปใช้รถบรรทุกที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ดังกล่าวมีเนื้อที่ 300 ตร.ม. ตัวสถานีประกอบขึ้นจากตู้คอนเทนเนอร์ 5 ตู้ การประกอบติดตั้งและทดสอบการใช้งานใช้เวลาเพียง 3 วัน ระบบการทำงานใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะที่มีความล้ำสมัยในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ อาทิ ชุดอุปกรณ์ยกแบตเตอรี่รถบรรทุกขนาดใหญ่ด้วยพลังแม่เหล็กที่มีความต้านทานแรงลมและการโยกไหวได้เป็นที่แรกของประเทศจีน รวมถึงระบบวัดระยะห่างด้วยเรดาร์ ระบบระบุตำแหน่งด้วย AI Vision และเทคโนโลยี 5G ซึ่งสามารถทำงานด้วยความแม่นยำโดยไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุม
แหล่งที่มา : Xinhua News
กระบวนการเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้เวลาสั้นๆ เพียง 5 นาที เป็นการก้าวข้ามข้อจำกัดแบบเดิมที่ต้องจอดรถรอชาร์จแบตเตอรี่ 3-6 ชั่วโมง ชุดแบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ใช้ เป็นแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนฟอสเฟต (LiFePO4) ที่มีแรงขับเคลื่อน 141 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานถึง 10-12 ชั่วโมง ชุดอุปกรณ์เปลี่ยนแบตเตอรี่สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ 144 ครั้งต่อวัน สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานของรถบรรทุกในท่าเรือได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าที่นำมาปฏิบัติงานในท่าเรือเป็นรถบรรทุก แบรนด์ Chenglong H7 (乘龙) ของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ Dongfeng Liuqi (东风柳汽有限公司) ในเมืองหลิ่วโจว เขตฯ กว่างซีจ้วง ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง รถบรรทุกระบบไฟฟ้า 10 คัน ช่วยลดการสิ้นเปลืองน้ำมันดีเซลได้ปีละ 2 แสนลิตร และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 480 ตัน
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ประเทศจีนให้ความสำคัญกับคำว่า “เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม” เป็นอย่างมาก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รัฐบาลท้องถิ่นได้ตอบสนองนโยบายจากส่วนกลางเพื่อก้าวผ่านสู่ “เศรษฐกิจและสังคมสีเขียว” โดยเฉพาะการจำกัดและกำจัดอุตสาหกรรมที่สิ้นเปลืองพลังงานและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมและการบริการให้มีเทคโนโลยีคอนเทนต์สูง ซึ่งรวมถึงสาขาการขนส่งและโลจิสติกส์ด้วย
สำหรับกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (อ่าวตังเกี๋ย) ศูนย์ BIC ได้นำเสนอข่าวคราวความคืบหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีภายในท่าเรืออย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของท่าเทียบเรือให้ตอบสนองต่อปริมาณการขนถ่ายสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ท่าเรือขยับเข้าใกล้เป้าหมายการเป็น “ท่าเรืออัจฉริยะ” หรือ smart port แบบสมบูรณ์
ที่ผ่านมา ท่าเรือฝางเฉิงก่าง ได้นำเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G และเทคโนโลยีเครือข่ายพลังงานต่ำ (NB-IoT) ของ China Mobile และเทคโนโลยี Edge Computing / Computer Vision / AI และการระบุตำแหน่งที่มีความแม่นยำสูงมาใช้ เพื่อพัฒนาและต่อยอดกิจกรรมที่เกิดขึ้นในท่าเรือ ซึ่งช่วยลดต้นทุนแรงงานบริเวณหน้างาน และช่วยให้กิจกรรมการผลิตในท่าเทียบเรือมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มการตรวจสอบอัจฉริยะแบบเบ็ดเสร็จด้วยการผสมผสานเทคโนโลยี 5G บิ๊กดาต้า หุ่นยนต์ และคลาวด์คอมพิวติง
ขณะที่ท่าเรือเที่ยซานในเมืองเป๋ยไห่ (Tieshan Port/铁山港) ก็ได้ทดสอบประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของรถบรรทุกไร้คนขับ ร่วมกับรถบรรทุกที่มีอยู่ในปัจจุบันภายในท่าเทียบเรือ
ท่าเรือชินโจว ซึ่งเป็นท่าเรือหลักของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ได้ใช้งานท่าเทียบเรืออัจฉริยะแห่งที่ 5 ของประเทศจีน การทำงานของเครนยกตู้สินค้าและรถขนถ่ายตู้สินค้า (shutter truck) ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ และการพัฒนาโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” แบบไร้รอยต่อในบริเวณท่าเรือ ช่วยให้การขนส่งกระจายสินค้าทำได้สะดวกรวดเร็วและครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน
ความสำเร็จข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของกว่างซี(จีน)ในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อการใช้งานในท่าเรือ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานและการพัฒนาระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
บีไอซี เห็นว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นต้นแบบการเรียนรู้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยในการนำไปต่อยอดการทำงาน หรือพัฒนาแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับท่าเรือในกว่างซีเพื่อยกระดับประสิทธิภาพงานขนส่งและโลจิสติกส์ของท่าเรือ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกของสองฝ่าย
นอกจากนี้ ‘ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี’ เป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย ทั้งนี้ หากพิจารณาในเชิงกายภาพ การขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศไทยและกว่างซีมีระยะทางสั้น ขณะที่ในเชิงนโยบาย หน่วยงานภาครัฐก็พยายามพัฒนาและยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกรวดเร็วในการนำเข้า-ส่งออก และกระจายสินค้า
เชื่อว่า…การพัฒนาเทคโนโลยีของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพการขนถ่ายสินค้าในท่าเทียบเรือให้สูงขึ้น และช่วยดึงดูดให้ผู้ค้าหันมาใช้ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ในการนำเข้า-ส่งออกเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตอันใกล้ “ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้” จะกลายเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่มีบทบาทสำคัญในเวทีการค้า และเป็น ข้อต่อ สำคัญในระบบงานขนส่งสินค้าผ่านไปยังจีนตอนใน เอเชียกลาง และยุโรป ซึ่งปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวมีเส้นทางเดินเรือไปยังท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยแล้วด้วย
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.fcgsnews.com (防城港市新闻网) วันที่ 07 เมษายน 2565
เว็บไซต์ www.dflzm.com.cn (东风柳洲汽车有限公司) วันที่ 07 เมษายน 2565