สำนักงานพัฒนาและบริหารบิ๊กดาต้ามณฑลกุ้ยโจวเปิดเผยถึงพัฒนาการของเศรษฐกิจดิจิทัลของมณฑลในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งยังคงเติบโตด้วยดี โดยมีจุดเด่น 4 ด้าน ได้แก่
- ธุรกิจให้บริการซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของมณฑลเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย (1) อัตราการขยายตัวของธุรกิจให้บริการซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของมณฑลครองอันดับหนึ่งในจีนติดต่อกัน 8 เดือน ระหว่างเดือนสิงหาคม 2564 จนถึงเดือนมีนาคม 2565 และอัตราการขยายตัวยังเกินกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 25 (2) รายได้ของธุรกิจซอฟต์แวร์ติดอันดับที่ 15 ของประเทศ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ และ (3) กำไรรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.9
- ธุรกิจขนาดใหญ่มีทิศทางการเติบโตที่ดี ปัจจุบัน มณฑลกุ้ยโจวมีธุรกิจให้บริการซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ 241 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงสิ้นปี 2564 จำนวน 13 ราย โดยในจำนวน 241 รายนี้ บริษัทหัวเหวย คลาวด์ (Huawei Cloud) ซึ่งมีศูนย์บิ๊กดาต้าตั้งอยู่ในเขตเมืองใหม่กุ้ยอัน ครองแชมป์รายได้สูงสุด ส่วนบริษัทที่มีรายได้มากกว่าร้อยล้านหยวนมีจำนวน 16 บริษัท เช่น บริษัท Guizhou-Cloud Big Data Industry Development และบริษัท Aipo Cloud (Guizhou) Technology ส่วนบริษัทที่มีอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 50 มีจำนวนถึง 64 บริษัท นอกจากนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ศูนย์บิ๊กดาต้าของไชน่ายูนิคอม (China Unicom) และสวนข้อมูลและคลาวด์คอมพิวติ้งของไชน่าเทเลคอม (China Telecom) ได้รับคัดเลือกเป็นต้นแบบศูนย์ข้อมูลรูปแบบใหม่ระดับประเทศประจำปี 2564 จากกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีน
- โครงการขนาดใหญ่เร่งขยายการลงทุน โดยโครงการเมืองนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบิ๊กดาต้านครกุ้ยหยาง (Guiyang Big Data Sci-Tech Innovation City) ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตเมืองใหม่กุ้ยอัน ได้รับอนุมัติการก่อสร้างจากรัฐบาลมณฑลกุ้ยโจวเมื่อเดือนธันวาคม 2564 มีขนาดพื้นที่ตามแผนที่วางไว้ประมาณ 54 ตารางกิโลเมตร โดยในระยะแรกจะใช้พื้นที่ 11.9 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบัน มีบริษัทด้านบิ๊กดาต้าเข้าไปลงทุนแล้ว 100 ราย และโครงการขนาดใหญ่ 8 โครงการได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 6,500 ล้านหยวน
- การเพิ่มขีดความสามารถในการบูรณาการ เช่น (1) มีจำนวนผู้ประกอบการเข้าร่วม “โครงการผนวกดิจิทัลเข้ากับการดำเนินงานของธุรกิจ” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและบรรลุเป้าหมายในช่วงไตรมาสแรกที่ตั้งไว้ (2) เมื่อเดือนมีนาคม 2565 “แนวทางการจัดการห่วงโซ่อุปทานให้มีความเป็นดิจิทัล” ได้รับการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นมาตรฐานท้องถิ่นฉบับแรกของมณฑลกุ้ยโจวในด้านซัพพลายเชนดิจิทัล (3) ดำเนินโครงการสมาร์ทซิตี้ด้วยการสร้าง “ชุมชนปลอดภัยอัจฉริยะ” มากกว่า 3,200 แห่ง รวมถึงเปิดให้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตแนวใหม่ เช่น เหอหม่า เฟรช (Hema Fresh) และอิวหมี่โกว (Umigo) กว่า 60 แห่ง (4) แอปพลิเคชัน “อีหม่ากุ้ยโจว” (一码贵州) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าออนไลน์ภายใต้การนำของกรมพาณิชย์มณฑลกุ้ยโจวและสำนักงานบริหารการพัฒนาบิ๊กดาต้ามณฑลกุ้ยโจว เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ปัจจุบัน มีผู้จำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์ม 38,000 ราย ผลิตภัณฑ์กว่า 113,000 รายการ และสร้างรายได้ 17,270 ล้านหยวน ส่วนแอปพลิเคชัน “อีหม่าโหยวกุ้ยโจว” (一码游贵州) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการออนไลน์ด้านการท่องเที่ยวครบวงจรของมณฑลทีนักท่องเที่ยวสามารถค้นหาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว จองที่พัก ร้านอาหาร และวางแผนการเดินทาง เปิดใช้ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ปัจจุบัน มีผู้ดาวน์โหลดใช้งาน 25.39 ล้านคน และผู้เข้ามาใช้งานสะสม 350 ล้านคน/ครั้ง
ที่มา: https://www.sohu.com/a/541930917_115239
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู