สำนักงานสถิติมณฑลเสฉวนเปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 GDP ของมณฑลเสฉวนมีมูลค่า 1,273,924 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 เติบโตในสภาพที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีรายละเอียดดังนี้
- อุตสาหกรรมปฐมภูมิ [1] มีมูลค่า 80,842 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 อุตสาหกรรมทุติยภูมิ [2] มีมูลค่า 468,216 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 และอุตสาหกรรมตติยภูมิ [3] มีมูลค่า 724,866 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564
- ด้านการเกษตรเติบโตในเกณฑ์ดี ผลผลิตผักและเห็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ผลผลิตแตงและผลไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ผลผลิตชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 และผลผลิตพืชยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564
- ผลผลิตสุกร 16.399 ล้านตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบเป็นรายปี ผลผลิตโค 848,000 ตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ผลผลิตแกะ 4.212 ล้านตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 และผลผลิตสัตว์ปีก 180 ล้านตัว ลดลงร้อยละ 3.2
- มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนวัตกรรมขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5
- ภาคบริการกลับมาเติบโตในไตรมาสแรก มูลค่าอุตสาหกรรมการบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 โดยมีมูลค่าอุตสาหกรรมการรับส่งข้อมูล ซอฟต์แวร์ และบริการเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 มูลค่าอุตสาหกรรมค้าส่งและค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 มูลค่าอุตสาหกรรมการเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 และมูลค่าอุตสาหกรรมการขนส่ง คลังสินค้า และไปรษณีย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5
- การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 การลงทุนในอุตสาหกรรมปฐมภูมิลดลงร้อยละ 2.2 การลงทุนในอุตสาหกรรมทุติยภูมิเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 และการลงทุนในอุตสาหกรรมตติยภูมิเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1
- ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 591,700 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 รายได้จากธุรกิจอาหาร อยู่ที่ 78,310 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 1.5
- มูลค่าการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 248,030 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 151,990 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 96,040 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 ผลิตภัณฑ์ส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องกลและเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่า 113,030 ล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 74.4 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด คู่ค้ารายใหญ่ 5 อันดับแรกของมณฑลเสฉวน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อาเซียน สหภาพยุโรป ไต้หวัน และญี่ปุ่น โดยการค้ากับอาเซียนเติบโตร้อยละ 25.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ปริมาณการนำเข้าและส่งออกผ่านท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูซวงหลิวอยู่ที่ 44,800 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564
ปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของ GDP มณฑลเสฉวน
นาย Zeng Junlin นักเศรษฐศาสตร์และโฆษกสำนักงานสถิติมณฑลเสฉวน เปิดเผยว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 หลายระลอกในประเทศจีน ทำให้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจเกิดความไม่แน่นอนและมีความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของมณฑลเสฉวนกำลังค่อย ๆ ฟื้นตัว และกลับสู่สภาวะปกติอย่างมั่นคง โดยมีปัจจัย 4 ประการ ดังนี้
ประการแรก นโยบายของรัฐบาล นับตั้งแต่ต้นปี 2565 รัฐบาลมณฑลเสฉวนได้ออกนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการรักษาเสถียรภาพการเติบโตและส่งเสริมการพัฒนาของอุตสาหกรรม 18 ข้อ มาตรการส่งเสริมภาคบริการ 43 ข้อ มาตรการส่งเสริมการลงทุน 7 ข้อ และภารกิจหลักเพื่อส่งเสริมการบริโภค 26 ข้อ ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของมณฑลเสฉวนมีการเติบโต
ประการที่สอง โครงสร้างอุตสาหกรรมมีเสถียรภาพมากขึ้น ปัจจุบันการเติบโตของอุตสาหกรรมปฐมภูมิได้กลับสู่ระดับปกติ อุตสาหกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ พลังงานไฟฟ้า-ความร้อน น้ำมัน-ก๊าซ และการผลิตยานยนต์มีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก นับได้ว่าเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด อุตสาหกรรมบริการฟื้นตัวอย่างมั่นคง อุตสาหกรรมสุขภาพ ซอฟต์แวร์และการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว และอุตสาหกรรมการเงินเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ประการที่สาม การเพิ่มจำนวนของวิสาหกิจใหม่ ในไตรมาสแรก มีบริษัทจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 มีบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวนเพิ่มขึ้น 465 แห่ง
ประการที่สี่ วิสาหกิจขนาดใหญ่เติบโตอย่างรวดเร็ว และมีความสามารถในการป้องกันความเสี่ยง และมีความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ GDP ในไตรมาสแรกของมณฑลเสฉวนเติบโตเช่นกัน อาทิ บริษัทค้าปลีกชั้นนำ 100 อันดับแรกมีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 มีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์ของมณฑลเสฉวน
มณฑลเสฉวนเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ คมนาคม โลจิสติกส์ และเป็นประตูสู่ภาคตะวันตกจีน มีศักยภาพด้านการค้า การลงทุน และการขนส่ง-โลจิสติกส์ และยังคงรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจได้ดีท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไทยและมณฑลเสฉวนสามารถกระชับความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน เพื่อผื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมตติยภูมิ ซึ่งมณฑลเสฉวนมีความสามารถโดดเด่นในด้านดังกล่าว (ตัวเลขอุตสาหกรรมตติยภูมิมีมูลค่าเกินกว่าครึ่งของตัวเลข GDP) นอกจากนี้ ไทยยังสามารถเรียนรู้จากปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของ GDP มณฑลเสฉวน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการออกมาตรการหรือนโยบายที่ส่งผลต่อการยกระดับภาคอุตสาหกรรมของไทยต่อไป
ลำดับที่ | รายการ | จำนวน | เพิ่มขึ้น/ลดลงร้อยละ
(เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564) |
1. | GDP | 1,273,924 ล้านหยวน | +5.3 |
2. | อุตสาหกรรมปฐมภูมิ | 80,842 ล้านหยวน | +4.3 |
3. | อุตสาหกรรมทุติยภูมิ | 468,216 ล้านหยวน | +6.4 |
4. | อุตสาหกรรมตติยภูมิ | 724,866 ล้านหยวน | +4.8 |
ด้านอุตสาหกรรม | |||
5. | มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวน | +8.1 | |
6. | มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนวัตกรรมขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวน | +17.5 | |
ภาคบริการ | |||
7. | มูลค่าอุตสาหกรรมการรับส่งข้อมูล ซอฟต์แวร์ และบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ | +8.6 | |
8. | มูลค่าอุตสาหกรรมค้าส่งและค้าปลีก | +6.7 | |
9. | มูลค่าอุตสาหกรรมการเงิน | +5.9 | |
10. | มูลค่าอุตสาหกรรมการขนส่ง คลังสินค้า และไปรษณีย์ | +3.5 | |
ด้านการบริโภค | |||
11. | ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค | 591,700 ล้านหยวน | +5.1 |
12. | รายได้จากธุรกิจอาหาร | 78,310 ล้านหยวน | -1.5 |
ด้านการลงทุน | |||
13. | การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร | +10.1 | |
14. | การลงทุนในอุตสาหกรรมปฐมภูมิ | -2.2 | |
15. | การลงทุนในอุตสาหกรรมทุติยภูมิ | +15.4 | |
16. | การลงทุนในอุตสาหกรรมตติยภูมิ | +9.1 | |
การค้าระหว่างประเทศ | |||
17. | มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ | 248,030 ล้านหยวน | +26.2 |
18. | มูลค่าการส่งออก | 151,990 ล้านหยวน | +38.3 |
19. | มูลค่าการนำเข้า | 96,040 ล้านหยวน | +10.9 |
แหล่งข้อมูลอ้างอิง: เว็บไซต์สำนักข่าว Cdrb (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565)
http://www.cdrb.com.cn/epaper/cdrbpc/202204/20/c97120.html
เว็บไซต์ baijiahao.baidu (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565)
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1730420735173620577&wfr=spider&for=pc
[1] อุตสาหกรรมปฐมภูมิ ได้แก่ เกษตรกรรม ป่าไม้ การเลี้ยงสัตว์ การประมง ฯลฯ
[2] อุตสาหกรรมทุติยภูมิ ได้แก่ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมการผลิต (ไม่รวมการซ่อมแซมเครื่องจักร อุปกรณ์) การผลิตและการจัดหาไฟฟ้า ก๊าซและน้ำ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ฯลฯ
[3] อุตสาหกรรมตติยภูมิ คือ อุตสาหกรรมการบริการ อาทิ การขนส่ง คลังสินค้าและไปรษณีย์ การส่งข้อมูล บริการด้านคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ ค้าส่งและค้าปลีก โรงแรมที่พักและอาหาร การเงิน อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจใช้เช่า การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ บริการทางเทคนิค การสำรวจทางธรณีวิทยา การอนุรักษ์น้ำ การจัดการสิ่งแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ การบริการที่อยู่อาศัย และการบริการอื่น ๆ การศึกษา สุขภาพ ประกันสังคมและสวัสดิการสังคม วัฒนธรรม กีฬา ความบันเทิง และการท่องเที่ยว ฯลฯ