เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 แฮชแท็ก #ชาวนครฉงชิ่ง-มณฑลเสฉวนชอบทานเนื้อสัตว์# ได้กลายเป็นแฮชแท็กยอดนิยมบนแพลตฟอร์ม Weibo
จากข้อมูลสถิติ “National Statistical Yearbook 2021” หมวดการบริโภคเนื้อสัตว์ใหญ่และสัตว์ปีก ระบุว่า มณฑลที่มีการบริโภคเนื้อสัตว์ใหญ่ (เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแพะ/แกะ) มากที่สุดต่อคนคือ นครฉงชิ่ง ในขณะที่มณฑลเสฉวนและมณฑลกวางตุ้งครองอันดับ 2 ร่วมกัน
นาย Xie Zefeng นักวิเคราะห์ข้อมูลของศูนย์ข้อมูลสุกรนครฉงชิ่ง เขตหรงชาง (Chongqing Rongchang Pig Data Center) ให้ข้อมูลว่า การที่นครฉงชิ่งมีปริมาณการบริโภคเนื้อหมูต่อคนมากที่สุดในจีน เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารของชาวฉงชิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ชอบทานเนื้อหมูอยู่เป็นทุนเดิม ในขณะเดียวกัน นครฉงชิ่งตั้งอยู่ตอนกลางของจีน ไม่มีพื้นที่ติดทะเล อาหารทะเลจึงมีราคาแพง ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงวัว แกะ ไก่ เป็ดและสัตว์ปีกอื่น ๆ ค่อนข้างสูงมากเช่นกัน
นายหวู่ ลี่เว่ย เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อของ Hema Xiansheng นครฉงชิ่ง เปิดเผยว่า ยอดขายเนื้อสัตว์ของ Hema Xiansheng ในนครฉงชิ่งจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของจีนมาโดยตลอด” ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับอาหารประจำถิ่นของชาวมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง เช่น หมูผัดพริกหยวก หมูผัดเห็ดหูหนู เนื้อวัวผัดพริกดอง และเนื้อหมูสำหรับต้มในหม้อไฟ
นักข่าวจากสำนักข่าว CQ News ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้บริโภคในซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ เช่น Hema Xiansheng และ Chongbaixin Century และพบว่า ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งซื้อเนื้อสัตว์สัปดาห์ละ 3 -4 ครั้ง และค่าใช้จ่ายในการซื้อเนื้อสัตว์เทียบเป็นเงินจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของค่าอาหารทั้งหมด และมองว่าการที่ชาวนครฉงชิ่งบริโภคเนื้อสัตว์มากที่สุดในจีน เป็นเพราะว่าชาวนครฉงชิ่งชอบรับประทานหม้อไฟหมาล่า ซึ่งมีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบหลัก
ข้อมูลปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ต่อหัวของชาวนครฉงชิ่ง ในปี 2563 ของสำนักงานสถิตินครฉงชิ่ง ระบุว่า ปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ของชาวเมืองอยู่ที่ 36.47 กก./คน/ปี ประกอบด้วยเนื้อหมู 29.21 กก./คน/ปี เนื้อวัว 2.66 กก./คน/ปี เนื้อแกะ 0.57 กก./คน/ปี และเนื้อสัตว์อื่น ๆ 4.02 กก./คน/ปี ปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ของชาวชนบทอยู่ที่ 33.52 กก./คน/ปี ประกอบด้วยเนื้อหมู 30.92 กก./คน/ปี เนื้อวัว 0.74 กก./คน/ปี เนื้อแกะ 0.36 กก./คน/ปี เนื้อสัตว์อื่น ๆ 1.5 กก./คน/ปี
ข้อมูลจากแพลตฟอร์มซื้อขายวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหาร Dingdong แสดงให้เห็นว่า ชาวนครฉงชิ่งชื่นชอบการรับประทานเนื้อหมูมากที่สุด โดยผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ขายดี 5 อันดับแรกในนครฉงชิ่ง ได้แก่ เนื้อหมูสับ เนื้อหมูสามชั้น เนื้อหมูส่วนหัวไหล่ ปีกไก่ และเนื้อวัวส่วนขา
ในอดีตนครฉงชิ่งเคยเป็นพื้นที่ที่อยู่ในการปกครองของมณฑลเสฉวน ดังนั้น ประชาชนทั้งสองเมืองจึงมีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่คล้ายคลึงกัน “อาหารเสฉวน” เป็นอาหารพื้นเมืองของชาวมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งมีรสชาติเผ็ดชา โดยมักมี “หมาล่า” เป็นวัตถุดิบหลักที่คนไทยรู้จักกันดี และใส่น้ำมันในปริมาณมาก เมนูอาหารจะประกอบไปด้วยเนื้อหมูเป็นส่วนใหญ่ อาทิ หมูผัดพริกหยวก (回锅肉) หมูผัดซอสเปรี้ยว (鱼香肉丝) หม้อไฟเสฉวน-ฉงชิ่ง (四川/重庆火锅) หมูต้มน้ำมัน (水煮肉片) ฯลฯ
พฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์ของชาวมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งส่งผลให้การทำปศุสัตว์ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 เติบโตอย่างต่อเนื่อง มณฑลเสฉวนมีผลผลิตสุกร 16.399 ล้านตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 ผลผลิตโค 848,000 ตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ผลผลิตแกะ 4.212 ล้านตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 นครฉงชิ่งมีผลผลิตสุกร 5.812 ล้านตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 ผลผลิตโค 88,000 ตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 ผลผลิตแกะ 1.275 ล้านตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2565 จากการตรวจสอบของกระทรวงเกษตรและกิจการชนบท พบว่า ราคาเฉลี่ยของเนื้อหมูในตลาดค้าส่งทั่วประเทศอยู่ที่ 20.98 หยวน/กก. โดยราคาเนื้อหมูของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งใกล้เคียงกับราคาเฉลี่ยดังกล่าว เทียบเป็นเงินไทยประมาณ 105 บาท นักวิเคราะห์จากหลายสถาบันให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันต้นทุนในการเลี้ยงสุกรอยู่ที่ 14-18 หยวน/กก. เทียบเป็นเงินไทยประมาณ 70-90 บาท
ที่ผ่านมา วิสาหกิจในจีนจึงขยายการลงทุนด้านการเพาะเลี้ยงสุกรในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2563 บริษัท New Hope Group ได้ลงทุนโครงการฟาร์มขยายพันธุ์สุกร 200,000 ตัวในเขตเผิงสุ่ย นครฉงชิ่ง ด้วยเงินลงทุนรวม 192.4712 ล้านหยวน โดยสามารถขยายพันธุ์สุกรได้ 200,000 ตัวต่อปี รวมถึงลงทุนในโครงการฟาร์มขยายพันธุ์สุกร 1 ล้านตัวในเมืองกว่างอัน มณฑลเสฉวน ด้วยเงินลงทุนรวม 1,466.95 ล้านหยวน โดยสามารถขยายพันธุ์สุกรได้กว่า 1 ล้านตัวต่อปี ทั้งนี้ เมื่อปี 2564 เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านการลงทุนเชิงกลยุทธ์ร่วมกับคณะกรรมการพาณิชย์นครฉงชิ่ง โดยมีแผนลงทุน 1 หมื่นล้านหยวนในโครงการฟาร์มสุกร 1 ล้านตัว ในเขตฉีเจียง นครฉงชิ่ง
นอกจากนี้ อาหารไทยมีรสชาติเผ็ดร้อนเช่นเดียวกับอาหารเสฉวน จึงทำให้อาหารไทยได้รับความนิยมจากชาวมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง และเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารไทยที่มีความสนใจประกอบธุรกิจในจีน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยจึงจำเป็นต้องศึกษาวัฒนธรรมและพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เพื่อประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนเมนูให้สอดคล้องกับความนิยมของผุ้บริโภค และตรงกับความต้องการของตลาดในพื้นที่นั้น ๆ โดยยังคงรักษารสชาติไทยแท้ของอาหารไว้ เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารไทยสู่ชาวจีน และใช้อาหารไทยเป็นเครื่องมือในการเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ
ผู้ประกอบการไทยที่สนใจลงทุนด้านปศุสัตว์ในจีน ควรศึกษาความต้องการของตลาดในแต่ละพื้นที่ รวมถึงรายละเอียดเพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านกฎหมาย ข้อปฏิบัติ หรือนโยบายส่งเสริมการลงทุน และควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจในพื้นที่ก่อนตัดสินใจลงทุน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ 163.com (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565)
https://3g.163.com/dy/article/H73CLV070548M8VQ.html
https://www.163.com/dy/article/H7I2NQUO0537Q9NT.html
เว็บไซต์ baijiahao.baidu (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565)
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1674268472585652833&wfr=spider&for=pc
เว็บไซต์ feedtrade (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565)
https://www.feedtrade.com.cn/livestock/pigs/2021-05-26/2285830.html