เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกผลิตภัณฑ์ยางพาราจากเวียดนามจำนวน 5 ตู้ ซึ่งขนส่งโดยรถไฟจีน-ลาวได้เดินทางมาถึงเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนนครกุ้ยหยาง ก่อนร่วมขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป “นครกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว-กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี” รวมทั้งหมด 50 ตู้ ออกจากศูนย์โลจิสติกส์นานาชาติบก-ทะเลตูลาหยิงนครกุ้ยหยาง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาขนส่งประมาณ 15 วันไปยังปลายทางที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี นับเป็นการทดลองขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวเชื่อมกับเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปเป็นครั้งแรก
สินค้าเวียดนามดังกล่าวใช้วิธีการขนส่งหลากหลายรูปแบบ โดยเริ่มต้นด้วยการขนส่งทางบกจากเวียดนามใต้สู่ลาว แล้วเปลี่ยนเป็นการขนส่งระบบรางโดยเส้นทางรถไฟจีน-ลาวผ่านนครคุนหมิงถึงนครกุ้ยหยางเพื่อเชื่อมกับเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป จากนั้นจึงออกจากจีนที่ด่าน Khorgos ในเมือง Khorgos (霍尔果斯) ของเขตปกครองตนเองซินเจียง ผ่านประเทศคาซัคสถาน อาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย โรมาเนีย ไปยังปลายทางที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี
การขนส่งหลากหลายรูปแบบครั้งนี้นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ด้านการขนส่งของมณฑลกุ้ยโจว 3 ด้าน ได้แก่ (1) เป็นการทดลองขนส่งสินค้าโดยเส้นทางรถไฟจีน-ลาวเชื่อมกับเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับการขนส่งสินค้าจากอาเซียนไปยังยุโรปที่จากเดิมนิยมขนส่งทางทะเลซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้น (2) เป็นการทดสอบการดำเนินงานของศุลกากรจีน เวียดนาม และลาว ภายใต้กรอบความร่วมมือ RCEP ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษปลอดอากร และ (3) เป็นการร่วมมือระหว่างวิสาหกิจด้านการขนส่งสินค้าของจีน (บริษัท Guizhou Meili Chuanqi Supply Chain Management จำกัด) กับวิสาหกิจด้านการขนส่งสินค้าระดับโลก (DHL และ RTSB Group) ในการขนส่งสินค้าเชื่อมต่อผ่าน 8 ประเทศ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 ศูนย์โลจิสติกส์นานาชาติบก-ทะเลตูลาหยิงเพิ่งจะเปิดตัวขบวนรถไฟขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือชินโจวของเขตฯ กว่างซีขบวนแรก โดยบรรทุกปูนซีเมนต์จำนวน 60 ตู้คอนเทนเนอร์ รวมน้ำหนัก 1,650 ตัน เดินทางถึงท่าเรือชินโจวในวันที่ 23 เมษายน 2565 โดยมีแผนจะเปิดเดินรถไฟขนส่งสินค้าแบบมีตารางเวลาประจำจำนวนสองเที่ยวต่อสัปดาห์ เพื่อขนส่งสินค้าประเภทเทกองเป็นหลัก
พัฒนาการด้านการขนส่งหลากหลายรูปแบบข้างต้นของมณฑลกุ้ยโจว ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการส่งเสริมให้มณฑลกุ้ยโจวเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง โดยมีจุดแข็งจากการที่มณฑลกุ้ยโจวเป็นมณฑลตอนในในภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงกับมณฑลโดยรอบทุกทิศทาง ได้แก่ มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งที่เป็นหนึ่งในศูนย์กลางสำคัญของเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป เขตฯ กว่างซีที่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมกับเวียดนามและเชื่อมการขนส่งทางทะเลผ่านท่าเรือชินโจว และมณฑลยูนนานที่เป็นศูนย์กลางของเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ทั้งนี้ ในภาพรวม นับจนถึงปัจจุบันได้มีการเดินขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปแล้วกว่า 40,000 ขบวน
อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่ไทยจะใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟลาว-จีนในการขนส่งสินค้าไทยต่อไปยังยุโรป ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอีกหลายประการ เช่น (1) ประเภทสินค้าส่งออกของไทยไปยังยุโรป ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับประเภทสินค้าที่จีนอนุญาตให้นำเข้าโดยรถไฟลาว-จีน เพื่อผ่านจีนไปยุโรป โดยเฉพาะหากเป็นสินค้าควบคุมก็จำเป็นต้องรอความคืบหน้าในการก่อสร้างลานกักกันสินค้าจำเพาะประเภทต่าง ๆ ที่ด่านรถไฟโม่ฮาน (2) ด่านขาออกจากจีนของเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปที่แบ่งเป็นช่องทางด้านตะวันตก (เขตฯ ซินเจียง) ช่องทางตอนกลาง (ภาคกลางของเขตฯ มองโกเลียใน) และช่องทางด้านตะวันออก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเขตฯ มองโกเลียใน) โดยขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปส่วนใหญ่นิยมเลือกช่องทางด้านตะวันตกผ่านเขตฯ ซินเจียง ซึ่งอาจประสบปัญหาการจราจรหนาแน่นที่ด่านชายแดนได้ และ (3) ปัจจุบัน มณฑลยูนนานอยู่ระหว่างการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเส้นใหม่เชื่อมกับนครเฉิงตูและนครฉงชิ่ง ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2567 ทำให้การที่มณฑลยูนนานจะเข้าสู่เครือข่ายรถไฟจีน-ยุโรปในปัจจุบันยังต้องใช้เส้นทางรถไฟเส้นเก่าหรือขนส่งผ่านมณฑลกุ้ยโจวเพื่อเชื่อมกับนครเฉิงตูและนครฉงชิ่ง
ที่มา: https://mp.weixin.qq.com/s/erFTobqvNTi8wwQGJyU2wA
http://www.gov.cn/xinwen/2021-04/30/content_5604224.htm#1
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู