เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 รัฐบาลเขตฯ เต๋อหงจัดงาน “Dehong Coffer Industry Development Conference” ที่เมืองหมางซื่อซึ่งเป็นเมืองเอกของเขตฯ เต๋อหง ในรูปแบบผสมผสานออฟไลน์กับออนไลน์ โดยมีแนวคิด “สร้างโอกาสใหม่ให้แก่กาแฟเต๋อหง” พร้อมมีกิจกรรมจำนวนมาก เช่น การเปิดตัวตราสัญลักษณ์แบรนด์กาแฟเต๋อหง “DERHOO” (德宏咖啡故事) การสัมมนาในหัวข้อการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟของเขตฯ เต๋อหง การจัดแสดงผลิตภัณฑ์กาแฟของเขตฯ เต๋อหง การชิมกาแฟ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ และการลงนามความร่วมมือกับสมาคมกาแฟของไทยและเมียนมา
ที่สำคัญ ภายในงานครั้งนี้ นายเว่ย กาง ผู้ว่าการเขตฯ เต๋อหง ได้ประกาศ “แผนปฏิบัติการ 3 ปีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟคุณภาพสูงของเขตฯ เต๋อหง” กำหนดเป้าหมายส่งเสริมให้เขตฯ เต๋อหงเป็นฐานการผลิตเมล็ดกาแฟคุณภาพระดับโลก ฐานการแปรรูปผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุดของจีน และศูนย์กลางซื้อขายกาแฟจีน-อาเซียน โดยภายในปี 2568 เขตฯ เต๋อหงตั้งเป้าจะมีพื้นที่เพาะปลูกกาแฟคุณภาพสูงมากกว่า 150,000 หมู่ (ประมาณ 62,500 ไร่) มีปริมาณเมล็ดกาแฟตากแห้งมากกว่า 20,000 ตัน ในจำนวนนี้ เป็นกาแฟคุณภาพสูงร้อยละ 80 และเป็นกาแฟระดับพรีเมียมร้อยละ 30 โดยภาพรวมอุตสาหกรรมกาแฟของเขตฯ เต๋อหงมีมูลค่ารวมมากกว่า 5,000 ล้านหยวนและมีมูลค่าการค้ากว่า 8,000 ล้านหยวน
ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการดังกล่าวได้กำหนดภารกิจ 8 ด้านเพื่อบรรลุเป้าหมายข้างต้น ประกอบด้วย
(1) สร้างฐานการผลิตกาแฟ โดยเน้นการเพาะปลูกในพื้นที่ความสูง 1,200-1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเลในเมืองหมางซื่อและอำเภอหยิงเจียงของเขตฯ เต๋อหง ลดการเพาะปลูกในพื้นที่ความสูงต่ำกว่า 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ขยายพื้นที่เพาะปลูกกาแฟสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับเขตฯ เต๋อหงปีละ 10,000 หมู่ (ประมาณ 4,166 ไร่) ปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูกกาแฟที่มีผลผลิตต่ำปีละ 15,000 หมู่ (ประมาณ 6,250 ไร่) โดยภายใน 3 ปี มีพื้นที่เพาะปลูกกาแฟใหม่และพื้นที่เพาะปลูกกาแฟที่ได้รับการปรับปรุงรวม 75,000 หมู่ (ประมาณ 31,250 ไร่) รวมมีพื้นที่เพาะปลูกกาแฟคุณภาพสูง 150,000 หมู่ (ประมาณ 62,500 ไร่)
(2) ยกระดับมาตรฐานการแปรรูป โดยกำหนดให้มีศูนย์แปรรูปเมล็ดกาแฟสดขั้นต้น 6 แห่งที่มีศักยภาพการแปรรูปเมล็ดกาแฟสดขั้นต้นได้แห่งละ 5,000 ตันต่อปี คิดรวมเป็นปีละ 30,000 ตัน ปฏิรูปบทบาทของเขตฯ เต๋อหงจาก “การผลิตวัตถุดิบ” เป็น “การแปรรูปขั้นสูง” ทั้งกาแฟคั่ว กาแฟบด น้ำกาแฟเข้มขัน กาแฟฟรีซดราย กาแฟแคปซูล กาแฟไนโตร กาแฟสำเร็จรูป (ทรีอินวัน) และชาเปลือกเมล็ดกาแฟ เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายให้การแปรรูปกาแฟขั้นสูงมีมูลค่ามากกว่า 3,500 ล้านหยวนในปี 2568
(3) บ่มเพาะวิสาหกิจในอุตสาหกรรมกาแฟ โดยยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกาแฟผ่านกระบวนการปรับโครงสร้าง ช่วยแก้ไขปัญหาอุปสรรค กระตุ้นบทบาทนำของผู้ประกอบการรายใหญ่ ดูแลรักษาแบรนด์ผลิตภัณฑ์กาแฟของเขตฯ เต๋อหง ดึงดูดการลงทุนของวิสาหกิจในสาขาที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกาแฟ บ่มเพาะให้มีผู้ประกอบการรายใหญ่ในพื้นที่มากกว่า 10 ราย ส่งเสริมการพัฒนาไร่กาแฟที่มีเอกลักษณ์เฉพาะซึ่งประกอบธุรกิจตั้งแต่การเพาะปลูกกาแฟ การแปรรูปขั้นต้น และการแปรรูปขั้นสูง ตลอดจนผลักดันแนวทางการพัฒนาตามแนวคิด “Niche-Boutique-High End-Customized”
(4) ปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต โดยดึงดูดทรัพยากรบุคคลในอุตสากรรมกาแฟ ยกระดับทักษะเชิงเทคนิคของบุคลากร ส่งเสริมความร่วมมือกับสถาบันวิจัยทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ และการอบรมความรู้ด้านการเกษตรสมัยใหม่ตามแนวคิด “ผลิต ศึกษา วิจัย และส่งเสริม” สร้างคลังเมล็ดพันธุ์กาแฟระดับประเทศเพื่อรวบรวมสายพันธุ์กาแฟกว่า 1,000 ตัวอย่าง รวมถึงพัฒนาสายพันธุ์กาแฟใหม่ที่มีสิทธิบัตรของตนเอง 5-10 สายพันธุ์
(5) สร้างแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ โดยใช้จุดแข็งที่เขตฯ เต๋อหงขึ้นชื่อว่าเป็น “แหล่งกำเนิดของกาแฟในจีน” และการที่กาแฟเต๋อหงเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิภาค (Geographical Indications: GI) สร้างแบรนด์กาแฟของเขตฯ เต๋อหง พร้อมกำหนดมาตรฐานเชิงเทคนิค คุณภาพ ภาพลักษณ์ด้านสุขภาพ และมูลค่าของผลิตภัณฑ์กาแฟของเขตฯ เต๋อหง
(6) ขยายตลาดกาแฟ ตามแนวคิด “ตั้งหลักที่เต๋อหง มุ่งสู่ทั่วประเทศจีน ครอบคลุมเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริการทั่วโลก” ให้ความสำคัญกับตลาดภายในจีนและต่างประเทศ ใช้จุดแข็งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเขตฯ เต๋อหงสร้างความร่วมมือกับแหล่งผลิตกาแฟในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้โอกาสจากสิทธิประโยชน์ความตกลง RCEP ผลักดันให้เขตฯ เต๋อหงเป็น “ศูนย์กลางการซื้อขายกาแฟจีน-อาเซียน” ตลอดจนส่งเสริมการค้ากาแฟในระดับนานาชาติ
(7) ผลักดันบูรณาการด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม โดยประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมกาแฟของเขตฯ เต๋อหง ส่งเสริมการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวควบคู่กับอุตสาหกรรมกาแฟ สร้างเขตต้นแบบการผลิตกาแฟพรีเมียมที่มีเอกลักษณ์ ตั้งแต่การเพาะปลูก การแปรรูป การจำหน่าย การสัมผัสประสบการณ์ใหม่ และวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อย พร้อมสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและกาแฟ 2-3 เส้นทาง
(8) สร้างระบบที่มีมาตรฐาน โดยสร้างมาตรฐานของกาแฟของเขตฯ เต๋อหงที่อ้างอิงมาตรฐานสากลตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม ตั้งแต่การเพาะปลูก การแปรรูป และผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนเมล็ดกาแฟเชิงพาณิชย์คุณภาพสูงและกาแฟพรีเมียมต่อผลผลิตกาแฟทั้งหมดของเขตฯ เต๋อหง เพื่อให้เขตฯ เต๋อหงเป็นแหล่งผลิตกาแฟคุณภาพสูงที่มีชื่อเสียงระดับโลกและเพิ่มมูลค่าแบรนด์กาแฟเขตฯ เต๋อหง
อนึ่ง ในปี 2562 มณฑลยูนนานมีพื้นที่เพาะปลูกกาแฟ 1,589,200 หมู่ (ประมาณ 662,166 ไร่) กระจายตัวอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลซึ่งส่วนใหญ่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาความสูง 1,000-2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ครอบคลุมเมืองผูเอ่อร์ เมืองเป่าซาน เมืองหลินชาง เขตฯ เต๋อหง และเขตฯ สิบสองปันนา โดยมีผลผลิต 146,200 ตัน ครองสัดส่วนผลผลิตกาแฟกว่าร้อยละ 98 ของจีน นอกจากนี้ มณฑลยูนนานยังส่งออกเมล็ดกาแฟและกาแฟแปรรูปกว่า 56,100 ตัน ไปยัง 55 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก อาทิ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อย่างไรก็ดี แม้มณฑลยูนนานจะสามารถผลิตกาแฟมากเป็นอันดับหนึ่งของจีน แต่ก็คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.5-2 ของผลผลิตกาแฟโลก โดยบราซิลครองอันดับหนึ่งด้วยสัดส่วนร้อยละ 38 ขณะที่เวียดนามครองสัดส่วนร้อยละ 16 ดังนั้น การกำหนดราคารับซื้อกาแฟของจีนจึงต้องอ้างอิงตลาดล่วงหน้าในต่างประเทศ ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ราคากาแฟในตลาดโลกตกต่ำ ส่งผลให้ราคารับซื้อกาแฟของจีนอยู่ในระดับต่ำ โดยผู้รับซื้อเป็นผู้กำหนดราคา ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟไม่สามารถกำหนดราคาขายตามที่ต้องการได้ และต้องยอมขายในราคาต่ำเนื่องจากมีข้อจำกัดด้านต้นทุนและมาตรฐานในการเก็บรักษา
จากสถานการณ์ราคาเมล็ดกาแฟผันผวนและตกต่ำข้างต้น เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในมณฑลยูนนานจึงขาดแรงจูงใจในการเพาะปลูกกาแฟและเปลี่ยนไปเพาะปลูกพืชชนิดอื่น ทำให้พื้นที่เพาะปลูกกาแฟและผลผลิตเมล็ดกาแฟของมณฑลยูนนานลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มณฑลยูนนานมีพื้นที่เพาะปลูกกาแฟ 1,497,000 หมู่ (ประมาณ 623,750 ไร่) ลดลงจากเมื่อปี 2557 ซึ่งมณฑลมีพื้นที่เพาะปลูกกาแฟมากที่สุดที่ 1,831,000 หมู่ (ประมาณ 762,916 ไร่) พบว่าลดลงเกือบร้อยละ 20
ในภาพรวม แผนปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟคุณภาพสูงของเขตฯ เต๋อหงดังกล่าว จึงเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามพลิกฟื้นอุตสาหกรรมกาแฟของมณฑลยูนนานผ่านการสร้างแบรนด์กาแฟของมณฑล ดังเช่นก่อนหน้านี้ที่กาแฟ “โฮ่วกู่” แบรนด์กาแฟจีนแบรนด์แรกที่มีจุดกำเนิดจากเขตฯ เต๋อหงเคยประสบความสำเร็จ โดยนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน เคยกล่าวชมในระหว่างกิจกรรมแนะนำมณฑลยูนนานที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ว่า “กาแฟโฮ่วกู่ของมณฑลยูนนานเป็นกาแฟที่ดีที่สุดในบรรดากาแฟที่เคยดื่มจากการเดินทางไปทั่วโลก” ที่สำคัญ ปัจจุบัน เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรุ่นใหม่ของมณฑลยูนนานก็เริ่มหันมาใส่ใจการผลิตกาแฟพรีเมียม ตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ การเพาะปลูก การเก็บเมล็ดที่ต้องเลือกเด็ดเฉพาะเมล็ดที่ได้ขนาดและมีปริมาณน้ำตาลได้มาตรฐานแทนการเก็บแบบทั่วไปที่ใช้มือรูดเมล็ดกาแฟทั้งกิ่ง ไปจนถึงการแปรรูปอย่างพิถีพิถัน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กาแฟของตนเอง โดยมีผลสะท้อนจากยอดขายผลิตภัณฑ์กาแฟของมณฑลยูนนานบนแพลตฟอร์ม Tmall ในปี 2563 ที่มีมูลค่าสูงถึง 245 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 135 ขณะเดียวกันจำนวนแบรนด์กาแฟของมณฑลยูนนานก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80
ที่มา: https://mp.weixin.qq.com/s/0VuZqmEXwevY5yKar-DVHw
https://mp.weixin.qq.com/s/Pn5gm68oJbMMewkmDvvCAw
https://mp.weixin.qq.com/s/wF5ZxkyaAi10kMk-Tx9cmQ
https://mp.weixin.qq.com/s/wz_PoutXTTUjNm2Et3F90A
https://m.gmw.cn/baijia/2022-03/29/1302870832.html