ณ ปัจจุบันนี้ เชื่อว่า…ผู้อ่านหลายท่านคงเริ่มคุ้นเคยกับคำว่า “เศรษฐกิจแบ่งปัน” หรือ Sharing Economy ซึ่งเป็นนิยามใหม่ของการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการพึ่งพาและเติบโตไปด้วยกันระหว่างภาคธุรกิจกับสังคม แนวคิดการดำเนินธุรกิจที่เชื่อว่า… ทุกคนสามารถนำสิ่งของ(เกือบ)ทุกสิ่งมาแบ่งปันกันได้
แม้ว่าแนวคิด “เศรษฐกิจแบ่งปัน” จะเริ่มต้นจากกลุ่มประเทศฝั่งยุโรปตั้งแต่เมื่อ 40 กว่าปีก่อน แต่แนวคิดดังกล่าวกลับสะท้อนความสำเร็จและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางใน ‘จีนแผ่นดินใหญ่’ จนกลายเป็นกระแสโด่งดังและเป็นกรณีศึกษาในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
แนวคิดการดำเนินธุรกิจที่เชื่อว่าสามารถนำสิ่งของ(เกือบ)ทุกสิ่งมาแบ่งปันกันได้ในประเทศจีน ได้พัฒนาและปรับตัวจนเกิดเป็นระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) ที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งของบางสิ่งต้องถอยตัวออกจากตลาด ขณะที่สิ่งของที่สามารถสนองตอบความต้องการในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคยังคงอยู่รอดในตลาดจีน ไม่ว่าจะเป็นจักรยาน รถยนต์ไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า พาวเวอร์แบงก์
จนถึงวันนี้ คอนเซ็ปต์การแบ่งปันได้พัฒนาไปอีกขั้น เมื่อเร็วๆนี้ เมืองหลิ่วโจวของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงประสบความสำเร็จในการ ‘แชร์พนักงานบริษัท’ ระหว่างบริษัท 2 รายเป็นครั้งแรกของเมือง ซึ่งช่วยเติมเต็มความต้องการแรงงานของอีกฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับภาคธุรกิจอื่นด้วย
เรื่องราวของการ ‘แชร์พนักงานบริษัท’ เกิดขึ้นระหว่างโรงงานผู้ผลิตน้ำตาล Liuxing Sugar Manufacturing ในเครือ Guangxi Sugar Group (广西糖业集团柳兴制糖有限公) กับโรงงานผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอะไหล่ Liuzhou Jinjing Electric Appliance Co.,ltd. (柳州津晶电器有限公司) ได้ร่วมกันลงนามสัญญาการแบ่งปันพนักงาน โดยพนักงานล็อตแรก จำนวน 41 คนของโรงงานน้ำตาล Liuxing จะเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะก่อนเข้าทำงานที่โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า Jinjing โดยโรงงานน้ำตาล Liuxing วางแผนจะ ‘แชร์พนักงานบริษัท’ ให้โรงงานน้ำตาลอีก 200 คน
ผู้อ่านอาจเกิดข้อสงสัยว่า… แชร์พนักงานให้ไปทำงานที่บริษัทอื่น แล้วบริษัทตัวเองจะดำเนินธุรกิจต่อไปยังไง หรืออาจสงสัยว่า… เป็นวิธีการขับไสไล่ส่งพนักงานหรือป่าว
คำตอบไขข้อสงสัย คือ การดำเนินธุรกิจที่ใช้วิธีการ ‘แชร์พนักงานบริษัท’ ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นลักษณะจำเพาะของสายธุรกิจที่สามารถตอบสนองความต้องการระหว่างกัน กล่าวคือ ระหว่างช่วงเดือนเมษายน – ตุลาคมของทุกปีเป็นช่วงปิดหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาล Liuxing ซึ่งพนักงานจะพักงานอยู่กับบ้าน แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า Jinjing มีอัตราการผลิตสูง แต่ขาดแคลนพนักงาน
ขณะที่ในช่วงเดือนตุลาคม – มีนาคมของปีถัดไปนั้น เป็นช่วงฤดูหีบอ้อยที่โรงงานน้ำตาลมีความต้องการใช้แรงงาน โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า Jinjing พร้อมแบ่งปันพนักงานพนักงานราว 100 คนไปทำงานที่โรงงานน้ำตาล Liuxing เช่นกัน
นอกจากนี้ สำนักงานทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคมเมืองหลิ่วโจวได้พัฒนากลไกการทำงานเพื่อผลักดันและสร้างหลักประกันให้กับโมเดลการ ‘แชร์พนักงานบริษัท’ เพื่อสร้างแพลตฟอร์มการ ‘แชร์พนักงานบริษัท’ ระดับเมืองที่มีความหลากหลายและมีความครบวงจร อาทิ การจัดตั้งคณะทำงานย่อย (ประสานงานร่วมระหว่างหน่วยงานประกันสังคม อนุญาโตตุลาการ การจัดหางาน) การเปิดช่องทางพิเศษ หรือ Green Lane ในการไกล่เกลี่ยและคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ให้ทุกฝ่าย การประสานกับสำนักงานกิจการภาษีเพื่อสร้างเกราะป้องกันให้ธุรกิจสามารถยืนหยัดอยู่ได้ในโลกธุรกิจ ทำให้ผู้จ้างสบายใจ ลูกจ้างวางใจ
บีไอซี เห็นว่า พัฒนาการของเศรษฐกิจแบ่งปันในรูปแบบของการ ‘แชร์พนักงานบริษัท’ ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ เป็นปรากฎการณ์ที่มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะในแง่มุมของการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในองค์กรให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด ตามตัวอย่างข้างต้นที่ การ ‘แชร์พนักงานบริษัท’ ได้ช่วยตอบโจทย์ความต้องการแรงงานระหว่าง 2 สายธุรกิจแบบ win-win situation และเป็นกรณีศึกษาที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยสามารถนำไปต่อยอดและปรับใช้ได้
จัดทำโดย : นางสาวเนตรนภา บุญมา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนาหนิง
เรียบเรียงโดย : นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนาหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ http://gx.chinanews.cn วันที่ 12 พฤษภาคม 2565
The post เมืองหลิ่วโจว ผุดไอเดีย ‘แชร์พนักงานบริษัท’ เติมเต็ม ‘ช่องว่าง’ ในตลาดแรงงาน ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ appeared first on thaibizchina.