รัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนออกมาตรการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ที่มีคุณภาพสูงปี 2565-2568 โดยมีแผนการดำเนินการที่สำคัญดังนี้
1) การพัฒนาอุตสาหกรรมหลัก 6 สาขา ได้แก่
(1) ชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceutical) มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพที่ล้ำสมัย อาทิ การตรวจวิเคราะห์ DNA และ RNA หรืออณูชีววิทยา (Molecular biology) เทคโนโลยีการตัดต่อ DNA การวิจัยและพัฒนายาโปรตีนและเปปไทด์ เซรุ่มและวัคซีนป้องกันโควิค-19 และการรักษาด้วยพันธุกรรมบำบัด (Gene Therapy) ฯลฯ
(2) ยา การเร่งวิจัยและพัฒนายาที่มีองค์ประกอบของยาใหม่ ๆ อาทิ ยาฆ่าเชื้อ ยาต้านมะเร็ง ยาต้านไวรัส ยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด ยาระบบประสาท และยารักษาโรคแพ้ภูมิตัวเอง เพื่อนำไปสู่การทดลองทางคลีนิกและการผลิตเชิงพาณิชย์
(3) แพทย์แผนจีน ยกระดับเทคโนโลยีการสกัดและแยกสารออกฤทธิ์จากพืชสมุนไพรธรรมชาติ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมในการผลิตสารออกฤทธิ์สำหรับยาแพทย์แผนจีน และขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารทางการแพทย์ (medical food) สำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรคและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ
(4) อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เร่งการวิจัยและพัฒนา 1) นวัตกรรมวัสดุเทียมฝังในร่างกาย เช่น วัสดุเทียมด้านศัลยกรรมกระดูกและศัลยกรรมประสาท อาทิ ข้อเทียม ประสาทหูเทียม รวมถึงกระจกตาเทียม เลนส์เทียม และลิ้นหัวใจเทียม 2) อุปกรณ์ตรวจวินิจฉัยและน้ำยาตรวจสำหรับโรคต่าง ๆ อาทิ โรคทางพันธุกรรม เนื้องอก โรคตับ โรคเอดส์ และโรคโควิด-19 เป็นต้น 3) เครื่องตรวจวิเคราะห์ ณ จุดดูแลผู้ป่วย (POCT) และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ เครื่อง MRI และ CT scan 4) เครื่องจัดลำดับทางพันธุกรรมโดยใช้เทคโนโลยี High-Throughput Sequencing (HTS) และ 5) เครื่องมือ/อุปกรณ์สำหรับการแพทย์ทางไกล
(5) การผลิตทางชีวภาพ (Bio-manufacturing) อาทิ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ วิตามิน โคเอ็นไซม์ และกรดอะมิโน และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลเพื่อสร้างฐานนวัตกรรมทางชีววิทยาทางทะเล และนวัตกรรมยาจากทรัพยากรทางทะเล อาทิ ยาต้านแบคทีเรีย ยาต้านไวรัส และการเก็บรักษาภาวะเจริญพันธุ์ (Fertility Preservation)
(6) การบริการชีวการแพทย์ สนับสนุนการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสถาบันทางการแพทย์ หน่วยงานภาครัฐ และมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างระบบบริการทดลองทางคลินิกร่วมกัน และส่งเสริมการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การจัดลำดับพันธุกรรม (DNA Sequencing) เซลล์บำบัด (Cell Therapy) การใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) และการวิเคราะห์ข้อมูลจาก Big Data
2) การจัดตั้งกองทุน 1 พันล้านหยวนเพื่อสนับสนุนการวิจัย อาทิ การให้เงินอุดหนุนแก่สถาบันวิจัยและพัฒนาด้านเภสัชศาสตร์ที่เข้ามาลงทุนในฝูเจี้ยนในอัตราไม่เกินร้อยละ 50 ของการลงทุนซื้อเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการวิจัยและพัฒนาใหม่
3) การพัฒนาเมืองเซี่ยเหมินและนครฝูโจวเป็นพื้นที่สำคัญด้านนวัตกรรมชีวการแพทย์ อาทิ การก่อสร้างเมืองวิทยาศาสตร์แห่งตะวันออกเฉียงใต้ของจีนที่นครฝูเจี้ยน /เมืองเศรษฐกิจชีวภาพนานาชาติที่เมืองเซี่ยเหมิน / เขตทดลองทางการแพทย์นานาชาติแบบครบวงจรที่นครฝูโจว และการจัดตั้งศูนย์ตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ยาของมณฑลฝูเจี้ยนที่เมืองเซี่ยเหมิน
4) การส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceutical) ระหว่างช่องแคบไต้หวัน อาทิ การจัดตั้งศูนย์ทดสอบและวิเคราะห์คุณภาพยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ข้ามช่องแคบที่มณฑล ฝูเจี้ยน และกระชับความร่วมมือระหว่างฝูเจี้ยนกับไต้หวันในด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ รวมทั้งการวินิจฉัยและการรักษาที่แม่นยำ การแพทย์อัจฉริยะ และส่งเสริมการดึงดูดการลงทุนจากวิสาหกิจผู้ผลิตยาและเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์จากไต้หวัน และแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ องค์กรชีวเภสัชภัณฑ์ และสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของไต้หวันมากยิ่งขึ้น รวมทั้งดึงดูดผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จากไต้หวันเข้ามาทำงานในฝูเจี้ยน
ทั้งนี้ มณฑลฝูเจี้ยนเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจด้านการแพทย์ที่มีความโดดเด่น โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ อีกทั้งยังมีศักยภาพด้านการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับการผลิตยาที่ล้ำสมัย ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของไทยในการยกระดับอุตสาหกรรมยาจากการผลิตยาชื่อสามัญสู่การเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ และอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งการพัฒนายาสมุนไพรไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล ซึ่งไทยอาจพิจารณาศึกษาแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาด้านชีวการแพทย์ของมณฑลฝูเจี้ยน ขณะเดียวกันก็ดึงดูดการลงทุนจากวิสาหกิจที่มีศักยภาพของฝูเจี้ยนเพื่อส่งเสริมเป้าหมายการสร้างอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรของไทยในเขต EEC ต่อไป
แหล่งอ้างอิง https://www.investxiamen.org.cn/detail/5621.html