มณฑลฝูเจี้ยนมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ครอบคลุมทุกประเภทของการขนส่งรวมถึงเรือ โดยได้ออกแผนปฏิบัติการนำร่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเรือยนต์ไฟฟ้าของปี 2565 ซึ่งมีการดำเนินการสำคัญ ได้แก่
(1) การส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมเรือยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ อาทิ ส่งเสริมเครือข่าย ความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจชั้นนำภายในมณฑลและนอกมณฑลเพื่อสร้างฐานการวิจัย พัฒนา และผลิตเรือยนต์ไฟฟ้าระดับประเทศ เช่น 1) ส่งเสริมบริษัท Wuhan Changjiang Ship Design Institute (CSDI) จำกัด ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยพัฒนาและออกแบบเรือพลังงานสะอาดชั้นนำของจีน อาทิ เรือพลังงานแบตเตอรี่ เรือพลังงานไฮโดรเจน และเรือพลังงาน LNG มาจัดตั้งสถาบันวิจัยเรืออัจฉริยะที่มีเป็นต่อสิ่งแวดล้อมสาขามณฑลฝูเจี้ยนที่เขตจิ้นอาน นครฝูโจว ซึ่งเริ่มเปิดใช้งานแล้วในวันที่ 8 พ.ค. 2565 เพื่อยกระดับการวิจัยและออกแบบเรือยนต์ไฟฟ้าในมณฑลฝูเจี้ยน รวมทั้งก่อสร้างฐานการวิจัยและพัฒนาเรือยนต์ไฟฟ้าชั้นนำระดับประเทศ 2) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างบริษัท CATL บริษัท China Three Gorges Corporation และบริษัท China State Shipbuilding Corporation Limited เพื่อร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเรือยนต์ไฟฟ้าพลังงานใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยล่าสุดเมื่อต้นปี 2565 ได้มีการเปิดตัวเรือยนต์ไฟฟ้า “ปลาโลมาสีขาว 1” ของบริษัท CATL อย่างเป็นทางการ โดยเรือยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวมีที่นั่งจำนวน 9 ที่นั่ง และเดินเรือได้ระยะทางกว่า 220 กิโลเมตร และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ประมาณ 3 ตันต่อปี และไนโตรเจนออกไซด์ประมาณ 4 ตันต่อปี
(2) การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมเรือยนต์ไฟฟ้า เน้นการส่งเสริม ความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมต่อเรือและการผลิตชิ้นส่วนของเรือ โดยมณฑลฝูเจี้ยนเป็นที่ตั้งของบริษัท Fujian Huadong Shipyard จำกัด ซึ่งมีอู่ซ่อมเรือที่ใหญ่ที่สุดในชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของจีน มีความแข็งแกร่งเป็นอันดับ 5 ในบรรดาอู่ซ่อมเรือ 600 แห่งทั่วโลก มีความสามารถในการซ่อมบำรุงเรือขนาดใหญ่ประมาณ 250 ลำต่อปี โดยกว่าร้อยละ 95 ของเรือที่เข้ามาใช้บริการเป็นเรือจากต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เยอรมนี กรีซ นอร์เวย์ และอังกฤษ นอกจากนั้น ยังมุ่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลัก อาทิ เทคโนโลยีระบบส่งกำลังของแบตเตอรี่ไฟฟ้า รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากสถาบันวิจัยและออกแบบเรือยนต์ไฟฟ้าและวิสาหกิจผลิตเรือยนต์ไฟฟ้าชั้นนำระดับประเทศ และสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านเรือยนต์ไฟฟ้าด้วย
(3) การให้เงินอุดหนุน อาทิ แก่ (1) ผู้ผลิตแบตเตอรี่เรือยนต์ไฟฟ้า สำหรับการจัดซื้อชิ้นส่วนประกอบของระบบแบตเตอรี่เรือยนต์ไฟฟ้าในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ของราคาระบบแบตเตอรี่ไฟฟ้า สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านหยวน (2) ผู้ผลิตเรือยนต์ไฟฟ้า สำหรับการผลิตเรือยนต์ไฟฟ้า ในอัตราไม่เกินร้อยละ 40 ของราคาระบบแบตเตอรี่ไฟฟ้า สูงสุดไม่เกิน 15 ล้านหยวน (3) ผู้ให้บริการเช่าเรือยนต์ไฟฟ้า ร้อยละ 3 ของราคาแบตเตอรี่ไฟฟ้า สูงสุดไม่เกิน 30 ล้านหยวน และ (4) ผู้สั่งซื้อเรือยนต์ไฟฟ้าภายในมณฑล ร้อยละ 5 ของราคาเรือยนต์ไฟฟ้า สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านหยวน
ทั้งนี้ มณฑลฝูเจี้ยนได้มุ่งใช้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมต่อเรือที่แข็งแกร่งและการเป็นฐานซ่อมบำรุงเรือชั้นนำของจีนเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเรือยนต์ไฟฟ้าให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มมูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องภายในปี 2566 ดังนี้ (1) เรือยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์สำหรับการเดินเรือที่ใช้เทคโนโลยีสูง มากกว่า 8 หมื่นล้านหยวน (2) เรือยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เรือขุดเจาะเหมืองใต้ทะเลลึก มากกว่า 3 หมื่นล้านหยวน และ (3) อุปกรณ์เดินเรือสำหรับฟังก์ชันต่าง ๆ เช่น การสำรวจใต้น้ำลึก การให้ ความช่วยเหลือทางทะเล และการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ ฯลฯ มากกว่า 1 หมื่นล้านหยวน ขณะที่ไทยต้องการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุมยานพาหนะทุกประเภทเช่นกัน จึงควรพิจารณาโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมและความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมเรือยนต์ไฟฟ้าของมณฑลฝูเจี้ยนเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเรือยนต์ไฟฟ้าของไทย
แหล่งอ้างอิง http://www.mnw.cn/news/fj/2620447.html
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู