• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • กว่างซีคลอดแผนคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ภาคธุรกิจไทยสอดแทรกตรงไหนได้บ้าง – thaibizchina

กว่างซีคลอดแผนคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ภาคธุรกิจไทยสอดแทรกตรงไหนได้บ้าง – thaibizchina

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศแผนพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งล้อตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 14 (ระหว่างปี 2564-2568) โดยตั้งเป้าหมายว่า… ปี 2568 เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงจะเป็น “ฐานการวิจัยและพัฒนาและการผลิตขั้นสูงระดับภูมิภาคในด้านอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ” โดยอาศัยเขตเศรษฐกิจ Greater Bay Area (มณฑลกวางตุ้ง เมืองฮ่องกง และเมืองมาเก๊า) รวมถึงพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้และกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็น “พื้นที่คลัสเตอร์สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีระดับประเทศ” สาระสำคัญของแผนดังกล่าว มีดังต่อไปนี้

  • การส่งเสริมและพัฒนา “ห่วงโซ่อุตสาหกรรมเป้าหมาย 8 ประเภท” ได้แก่ (1) อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม (2) ชิ้นส่วนและเทอร์มินอลโทรศัพท์มือถือ (3) อุปกรณ์แสดงผลหน้าจอสมัยใหม่ (4) เทอร์มินอลอัจฉริยะ (5) อุปกรณ์สื่อสารใยแก้วนำแสงและคลื่นไมโครเวฟ (6) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ (7) อุปกรณ์มัลติมีเดียเสียง และ (8) อุปกรณ์เทคโนโลยีบ้านอัจฉริยะ
  • การส่งเสริมและพัฒนาแบบ “บูรณาการความร่วมมือ” และ “แบ่งงานกันทำ” โดยให้เมืองที่มีรากฐานแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาของเมืองรอบข้าง เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรและการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมต้นน้ำ-ปลายน้ำเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด โดยมี “นครหนานหนิง เมืองกุ้ยหลิน และเมืองเป๋ยไห่” เป็นฐานอุตสาหกรรมหลัก

  • การพัฒนา “นิคมอุตสาหกรรม” ไว้รองรับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะต้องมีนิคมอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการผลิต 1 แสนล้านหยวนอย่างน้อย 2 แห่ง และให้นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นตัวกระตุ้นการรวมตัวของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
  • การผลักดันให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาจากกลุ่ม Low-Medium End ไปสู่ Medium-High End รวมทั้งส่งเสริมการต่อยอดการผลิตไปสู่การบริการ เร่งพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมจากการประกอบชิ้นส่วนไปสู่การผลิตเชิงบริการ (service-oriented manufacturing)
  • การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ส่งเสริมให้สถาบันการศึกษามีส่วนร่วมในการบ่มเพาะบุคลากร ‘หัวกะทิ’ ในสายงานเพื่อป้อนสู่ตลาด สร้างระบบนิเวศธุรกิจที่มีศักยภาพการแข่งขันในระดับภูมิภาค
  • การเร่งส่งเสริมดึงดูดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดการรวมตัวกันจนมีขนาดใหญ่ (Large-scale development) โดยเฉพาะห่วงโซ่อุตสาหกรรมอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ชิ้นส่วนและเทอร์มินอลโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์แสดงผลหน้าจอสมัยใหม่

 

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2565 สำนักงานส่งเสริมการลงทุนเขตฯ กว่างซีจ้วงและกรมอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเขตฯ กว่งซีจ้วง ได้ร่วมกันจัดงานประชาสัมพันธ์นโยบายส่งเสริมดึงดูดการลงทุน โดยส่วนหนึ่งได้กล่าวถึงสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในกว่างซี ทั้งการให้เงินรางวัล เงินอุดหนุนต่างๆ อาทิ

  • รับเงินรางวัลแบบจ่ายงวดเดียว หากธุรกิจขนาดใหญ่สามารถทำรายได้ผลประกอบการตามเกณฑ์ที่กำหนดได้เป็นครั้งแรก กล่าวคือ ทะลุ 100,000 ล้านหยวน รับ 10 ล้านหยวน / ทะลุ 50,000 ล้านหยวน รับ 5 ล้านหยวน / ทะลุ 10,000 ล้านหยวน รับ 1 ล้านหยวน / ทะลุ 5,000 ล้านหยวน  รับ 5 แสนหยวน / ทะลุ 3,000 ล้านหยวน รับ 3 แสนหยวน
  • ธุรกิจที่ได้รับการรับรองให้เป็นธุรกิจ ‘ยักษ์เล็ก’ เฉพาะด้าน และธุรกิจที่ได้รับการรับรองให้เป็นธุรกิจชั้นนำในรายสินค้า (เช่น เหล้าขาวบริษัท Guizhou Maotai) หากได้รับการรับรองระดับประเทศ รับเงินรางวัลไม่เกิน 1 ล้านหยวน หากได้รับการรับรองระดับมณฑล รับเงินรางวัลไม่เกิน 5 แสน
  • โรงงานที่กำลังปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องจักรให้มีความทันสมัย จะได้รับเงินอุดหนุนสูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินลงทุนอุปกรณ์เครื่องจักร คิดเป็นจำนวนเงินที่ได้รับสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านหยวน
  • หากโรงงานได้รับการรับรองระดับมณฑลให้เป็น ‘โรงงานอัจฉริยะ’รับเงินรางวัลแบบจ่ายงวดเดียว 1 ล้านหยวน
  • หากโรงงานได้รับการรับรองระดับมณฑลให้เป็น ‘สายการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล’ รับเงินรางวัลแบบจ่ายงวดเดียว 5 แสนหยวน
  • โรงงานที่จัดซื้อหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 10 เครื่องขึ้นไป รับเงินอุดหนุนแบบจ่ายงวดเดียวในอัตรา 20% ของมูลค่าการซื้อหุ่นยนต์ คิดเป็นจำนวนเงินที่ได้รับสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านหยวน
  • สำหรับโครงการลงทุนใหม่ มีสิทธิได้รับเงินรางวัล 5 ปีนับตั้งแต่วันที่เริ่มดำเนินการผลิต ในอัตรา 30% ของการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ (Economic Contribution) ในส่วนที่ต้องนำส่งรัฐบาลมณฑลในปีนั้นๆ โดยเงินรางวัลสะสมจะต้องไม่เกิน 50% ของมูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร คิดเป็นจำนวนเงินที่ได้รับสูงสุดไม่เกิน 20 ล้านหยวน

 

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นครหนานหนิงและเมืองต่างๆ ในกว่างซี กำลังเดินหน้าพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมสู่ดิจิทัลตามเป้าหมาย Digital Guangxi นอกจากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน การปฏิรูปและบูรณาการระบบงานราชการ และราชการกับเอกชนแล้ว ยังส่งเสริมการลงทุนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินนโยบาย Digital Thailand ที่มุ่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนวัตกรรมในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและมีคุณภาพสูง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้านำเข้า-ส่งออกที่สำคัญระหว่างประเทศไทยกับกว่างซีด้วย ดังนั้น บีไอซี เห็นว่า นักลงทุนไทยสามารถแสวงหาความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนกับกว่างซีในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศ และกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ โดยใช้สิทธิประโยชน์จากนโยบายและความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานของกว่างซี รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา
เว็บไซต์ http://www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网广西) วันที่ 18 มิถุนายน 2565
      เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 17 มิถุนายน 2565
      เว็บไซต์ http://gxt.gxzf.gov.cn (广西壮族自治区工业和信息化厅) วันที่ 10 และ 15 มิถุนายน 2565

webmaster

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]