• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • กุ้ยโจวผลักดัน “ข้าวอานซุ่น” จากแบรนด์ท้องถิ่นสู่ตลาดระดับประเทศ – thaibizchina

กุ้ยโจวผลักดัน “ข้าวอานซุ่น” จากแบรนด์ท้องถิ่นสู่ตลาดระดับประเทศ – thaibizchina

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ข้าวของเมืองอานซุ่นจากมณฑลกุ้ยโจวมีป้ายโฆษณาจำนวนมากในสถานีรถไฟใต้ดินและย่านธุรกิจในนครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานความร่วมมือนครกว่างโจว ถือเป็นการเปิดตลาดแบรนด์ “ข้าวอานซุ่น” ในเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง- มาเก๊า (Greater Bay Area: GBA) อย่างเป็นทางการ

“ข้าวอานซุ่น” เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างนครกว่างโจวกับเมืองอานซุ่น ภายใต้นโยบายการจับคู่ช่วยเหลือระหว่างภาคตะวันออกกับภาคตะวันตกของจีน เพื่อให้มณฑลที่เจริญแล้วทางภาคตะวันออกของจีนสนับสนุนมณฑลทางภาคตะวันตกที่ยังล้าหลังกว่า โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทให้เกิดการพัฒนามากยิ่งขึ้น รวมถึงเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของจีน โดยเมื่อเดือนกันยายน 2564 รัฐบาลเมืองอานซุ่นได้ลงนามความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทอ้ายหมี่ (AI Rice/艾米) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการเกษตรของนครกว่างโจวและด้านเทคโนโลยีขั้นสูงระดับประเทศของจีน ร่วมกันก่อตั้ง “บริษัทสถาบันวิจัยข้าวด้วยระบบดิจิทัลเมืองอานซุ่น” ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เพื่ออาศัยเทคโนโลยีทางการเกษตรของบริษัท AI Rice ช่วยเหลือการเพาะปลูกข้าวในเมืองอานซุ่นให้มีคุณภาพ ส่งเสริมการยกระดับความเป็นอัจฉริยะในอุตสาหกรรมข้าวของเมืองอานซุ่น และสร้างวิถีดิจิทัลให้กับพื้นที่ชนบทของเมืองอานซุ่น รวมถึงเป็นการสนับสนุนรัฐบาลเมืองอานซุ่นในการสร้างแบรนด์ “ข้าวอานซุ่น” ซึ่งเป็นแบรนด์ท้องถิ่นให้มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในระดับประเทศมากยิ่งขึ้น

ระบบดิจิทัลที่ใช้ในการบริหารจัดการการเพาะปลูกข้าวของเมืองอานซุ่นได้รับการพัฒนาโดยบริษัท AI Rice ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าและปัญญาประดิษฐ์เข้ามาจัดการกระบวนการเพาะปลูกข้าว โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) ในแปลงนาข้าว ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลนาข้าวแบบเรียลไทน์ เช่น พื้นที่เพาะปลูก กิจวัตรประจำวันในการลงพื้นที่ของเกษตรกร การควบคุมศัตรูพืช การใช้เครื่องจักรการเกษตร การเจริญเติบโตของข้าว ค่า PH และแร่ธาตุในดิน อุณหภูมิ แสง และทิศทางลม เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาในการเพาะปลูกข้าวได้อย่างทันท่วงที รวมถึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับข้อมูล (traceability) ได้ทั้งหมดอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้กระบวนการเพาะปลูกข้าวได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และเพิ่มมูลค่าแบรนด์สินค้า

ปัจจุบัน บริษัทสถาบันวิจัยฯ ได้คัดเลือกบริษัทท้องถิ่นขนาดใหญ่ของเมืองอานซุ่นกลุ่มแรกซึ่งดำเนินการเพาะปลูกข้าวในรูปแบบความร่วมมือกับเกษตรกร จำนวน 3 บริษัท เข้าร่วมโครงการบริหารจัดการการเพาะปลูกข้าวโดยใช้ระบบดิจิทัล โดยนอกเหนือจากการบริหารจัดการด้านการเพาะปลูกข้าวแล้ว บริษัทสถาบันวิจัยฯ จะให้การช่วยเหลือด้านการเปิดตลาดและการขยายช่องทางการจัดจำหน่าย ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดข้าวของเมืองอานซุ่นให้ก้าวขึ้นสู่สินค้าระดับพรีเมียม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและยกระดับประสิทธิภาพทางการเกษตรของเมืองอานซุ่น

ที่มา: https://weibo.com/ttarticle/p/show?id=2309404772334689976981
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1726065289778878324&wfr=spider&for=pc

 

ข้าว กุ้ยโจว กว่างโจว ดิจิทัล

webmaster

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]