สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างความผันผวนให้กับอุตสาหกรรมการผลิต บางบริษัทมีคำสั่งซื้อน้อยลง จำเป็นต้องให้พนักงานหยุดงานชั่วคราว หรือร้ายแรงไปกว่านั้น อาจจำเป็นต้องเลิกจ้างเพื่อลดภาระของบริษัท ในขณะเดียวกัน บางบริษัทขาดแคลนแรงงาน และผลิตสินค้าไม่ทันตามคำสั่งซื้อ จำเป็นต้องจ้างพนักงานชั่วคราว ส่งผลให้ตลาดแรงงานขาดเสถียรภาพ ทำให้ลูกจ้างมีรายได้ไม่คงที่ และบริษัทต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและการสิ้นเปลืองทรัพยากรแรงงานในกรณีที่จ้างพนักงานมาแล้วไม่มีคำสั่งการผลิต
นครเฉิงตูจึงผุดไอเดียการ “แชร์พนักงาน” เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยส่งพนักงานจากบริษัทที่มีคำสั่งซื้อหรือมีการผลิตน้อย แต่มีแรงงานเกินความจำเป็น ไปยังบริษัทที่มีการผลิตจำนวนมาก แต่มีแรงงานไม่เพียงพอ โดยเป็นการทำสัญญา “ข้อตกลงการแชร์พนักงานชั่วคราว” ระหว่าง 2 บริษัท และลูกจ้างไม่จำเป็นต้องทำสัญญาจ้างงานใหม่
บริษัท Hope Deepblue Air Conditioning Manufacture Corp., LTD (希望深蓝空调制造有限公司) บริษัทผลิตเครื่องปรับอากาศในนครเฉิงตู เปิดเผยว่า ในช่วงกลางปี 2564 อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องปรับอากาศในนครเฉิงตูกำลังเฟื่องฟู คำสั่งซื้อเครื่องปรับอากาศของบริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด จึงตัดสินใจรับพนักงานชั่วคราวจากบริษัทอื่นกว่า 20 คน ภายใต้ข้อตกลงการ “แชร์พนักงาน”
ในช่วงปลายปี 2564 บริษัทประสบปัญหาคำสั่งซื้อน้อยลง จึงเสนอให้พนักงานบริษัทของตนกว่า 30 คนไปทำงานที่บริษัท Chengdu Huitong West-electronic Co., Ltd (成都汇通西电电子有限公司) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนพนักงานในช่วงที่มีคำสั่งผลิตเข้ามาจำนวนมาก โดยพนักงานกลุ่มดังกล่าวได้ให้ความยินยอมด้วยแล้ว
เนื่องจากลักษณะงานของทั้ง 2 บริษัทมีความคล้ายคลึงกัน หลังจากที่พนักงานของบริษัท Hope Deepblue ผ่านการอบรม ก็สามารถเข้าทำงานในบริษัท Huitong ได้อย่างราบรื่น
ในช่วงเดือนมีนาคม-ปัจจุบัน บริษัท Hope Deepblue มีคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงได้รับพนักงานกลับมาทำงานที่บริษัทเดิม นายโจว เจียซิน พนักงานรายหนึ่งเปิดเผยว่า ตนพอใจกับรูปแบบการ “แชร์พนักงาน” เพราะช่วยให้มีรายได้ที่มั่นคงและได้เรียนรู้ทักษะการทำงานใหม่ ๆ
รัฐบาลนครเฉิงตูจัดตั้งโครงการ “พันธมิตรการแชร์พนักงาน” โดยมีการสำรวจความต้องการแรงงานของบริษัทในนครเฉิงตู ในช่วงเวลาต่าง ๆ ตลอดทั้งปี และรวบรวมข้อมูลพนักงานที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการดังกล่าว มีกลไกการจัดสรรพนักงานที่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย เพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างได้รับประโยชน์สูงสุด ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความมีความเสถียรภาพของตลาดแรงงาน ปัจจุบันมีพนักงานเข้าร่วมโครงการดังกล่าวกว่า 400 ราย
ผู้ประกอบการไทยอาจนำรูปแบบการแชร์พนักงานไปปรับใช้ อาทิ พืชผักผลไม้ของไทยมีฤดูการผลิตที่แตกต่างกัน หรือสถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละเมืองมีช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน การทำสัญญา “แชร์พนักงานชั่วคราว” ภายใต้กรอบของกฎหมาย นอกจากจะช่วยลดภาระให้กับบริษัทที่มีพนักงานมากเกินความจำเป็น และแก้ปัญหาให้กับบริษัทที่กำลังขาดแคลนพนักงานแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้และเพิ่มทักษะการทำงานให้กับพนักงานได้อีกด้วย ตอบโจทย์ความต้องการแบบ Win-Win-Win ทั้ง 3 ฝ่าย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ทางการของสำนักข่าว Chengdu Daily (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2565)
www.cdrb.com.cn/epaper/cdrbpc/202207/05/c100788.html