บริษัท Huawei ประกาศเดินหน้าธุรกิจด้าน “พลังงานดิจิทัล” (digital power) โดยมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมการสร้างระบบกักเก็บและบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าสำหรับบริษัทหรือศูนย์ข้อมูล (data center) โดยนวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ประมาณร้อยละ 60 – 97 ปัจจุบัน บริษัท Huawei จำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานดิจิทัลในกว่า 170 ประเทศทั่วโลก และมีแผนที่จะดำเนินโครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านพลังงานดิจิทัลเพิ่มเติม มูลค่าการลงทุนกว่า 4,000 ล้านหยวน (630 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
Digital Power คืออะไร
ธุรกิจพลังงานดิจิทัล (digital power) เป็นธุรกิจที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ควบคุมและจัดสรรการพัฒนาพลังงานสะอาด โดยบริษัท Huawei พัฒนาและออกแบบระบบปัญญาประดิษฐ์ในการจัดการพลังงานอัจฉริยะสำหรับโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (solar farm) และศูนย์ข้อมูล (data center) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดไฟฟ้าได้มากถึงร้อยละ 60 – 97
ทำไมบริษัท Huawei ต้องลงทุนด้านพลังงานดิจิทัล
ในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาส่งผลต่อธุรกิจสมาร์ทโฟนของบริษัท Huawei กอปรกับแนวโน้มการพัฒนาพลังงานสะอาด และเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุด (carbon emissions peak) ของจีนภายในปี ค.ศ. 2030 จึงทำให้บริษัท Huawei ตัดสินใจหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจพลังงานดิจิทัลมากขึ้น โดยบริษัทฯ มีความได้เปรียบในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจากการพัฒนาระบบการจัดการพลังงานดิจิทัลของอุปกรณ์สื่อสารของบริษัท
การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ
บริษัท Huawei มีความร่วมมือด้านพลังงานดิจิทัลกับรัฐบาลหลายประเทศ เช่น โครงการสร้างศูนย์ข้อมูลพลังงานแสงอาทิตย์ของรัฐบาลดูไบซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลที่ปล่อยคาร์บอนต่ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก โครงการกักเก็บพลังงานบริเวณชายฝั่งทะเลแดงของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียที่จะกลายเป็นโครงการกักเก็บพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ บริษัท Huawei ยังเป็นผู้จำหน่ายอุปกรณ์และบริการสำหรับให้กับโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำในสิงคโปร์ และให้บริการด้านเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ในอินโดนีเซียและกัมพูชา เป็นต้น โดยในส่วนของไทย เมื่อปี 2564 บริษัทฯ ได้ประกาศแผนขยายธุรกิจพลังงานดิจิทัลและมีความร่วมมือด้านพลังงานดิจิทัลกับองค์กรของไทย 35 แห่ง
พลังงานดิจิทัลกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทย
ปัจจุบัน ไทยได้กำหนดเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายในระดับโลกศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวเห็นว่า ไทยควรพิจารณาศึกษา ซึ่งหากมีข้อมูลเพิ่มเติมประการใด ศูนย์ BIC จะรายงานข้อมูลให้ทราบต่อไป
.สุวิชญา กีปทอง เขียน
สรศักดิ์ บุญรอด เรียบเรียง
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://asia.nikkei.com/Spotlight/Huawei-crackdown/Huawei-s-digital-power-business-key-to-survival-amid-U.S.-crackdown
https://asia.nikkei.com/Business/China-tech/Huawei-pivots-to-renewable-energy-as-smartphones-slump
https://www.huawei.com/th/news/th/2021/huawei-expands-new-bu-digital-power
https://www.thansettakij.com/economy/525423
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู