บริษัท CRRC Zhuzhou Institute จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนารถรางอัจฉริยะหรือรถไฟรางเสมือนระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Rail Rapid Transit System: ART) ที่แรกของโลก ชนะการประมูลโครงการก่อสร้างเส้นทางรถรางไฟฟ้าภายในตัวเมืองกูจิง (Kuching) รัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย
รถรางอัจฉริยะเป็นรถที่ผสมผสานข้อดีของรถรางกับรถโดยสารสาธารณะเข้าด้วยกัน โดยใช้เทคโนโลยีรางเสมือนในการขับเคลื่อนพร้อมระบบเซ็นเซอร์ ประกอบด้วยกล้องที่มีความคมชัดสูง ระบบ GPS และเรดาร์ นำทางเดินรถ และเชื่อมโยงเข้ากับ “สมอง” หรือ หน่วยควบคุมส่วนกลางระบบ ART ซึ่งการขับเคลื่อนจะวิ่งบนเลนถนนตามแนวเส้นประสีขาวแทนที่รางจริง จึงทำให้ประหยัดต้นทุนการสร้างรางได้อย่างมาก ทั้งนี้ CRRC Zhuzhou Institute เริ่มวิจัยระบบ ART มาตั้งแต่ปี 2556 และเปิดทดลองเดินรถครั้งแรกที่เมืองจูโจว มณฑลหูหนาน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 300-500 คน ปัจจุบัน รถรางอัจฉริยะเปิดให้บริการเดินรถในหลายเมืองของจีน เช่น อำเภอหย่งซิ่ว (มณฑลเจียงซี) เมืองอี๋ปิน (มณฑลเสฉวน) เมืองเซี่ยเหมิน (มณฑลฝูเจี้ยน) นครฮาร์บิน (มณฑลเฮยหลงเจียง) เมืองซูโจว (มณฑลเจียงซู) และนครเฉิงตู (มณฑลเสฉวน)
สำหรับโครงการก่อสร้างเส้นทางรถรางไฟฟ้าภายในตัวเมืองกูจิงครั้งนี้มีระยะทาง 52 กิโลเมตร ประกอบด้วย 2 เส้นทาง รวม 28 สถานี คาดว่าจะใช้รถรางอัจฉริยะ 38 ขบวน โดยการออกแบบภายนอกตัวรถรางจะได้รับการตกแต่งตามสีของธงรัฐซาราวักและมีมิติคล้ายกับสะพาน ซึ่งมีความหมายสื่อถึงสะพานที่เชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างจีนกับมาเลเซีย สิ่งสำคัญคือ การขับเคลื่อนของรถรางจะใช้พลังงานไฮโดรเจนเพื่อผลิตไฟฟ้าแทนการใช้แบตเตอรี่ ซึ่งจะประหยัดพลังงาน คาร์บอนต่ำ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า นับเป็นครั้งแรกที่ CRRC Zhuzhou Instituteนำพลังงานไฮโดรเจนมาใช้กับรถรางอัจฉริยะ นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายพลังงานสีเขียวของท้องถิ่น โดยเมืองกูจิงจะกลายเป็นเมืองแรกในมาเลเซียที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนกับระบบขนส่งสาธารณะในตัวเมือง
ที่มา: http://www.hn.chinanews.com.cn/news/2022/0720/454120.html
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู