เมืองเฉวียนโจวมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นของมณฑลฝูเจี้ยน โดยมีมูลค่า GDP สูงเป็นอันดับ 1 ของมณฑลต่อเนื่องกว่า 20 ปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของเมืองเฉวียนโจวเติบโตจาก 4.8 แสนล้านหยวนในปี 2555 เป็น 1.13 ล้านล้านหยวนในปี 2564 และในครึ่งแรกของปี 2565 เมืองเฉวียนโจวมีมูลค่า GDP สูงกว่า 5.6 แสนล้านหยวน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5
ความสำเร็จของการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองเฉวียนโจว เป็นผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมใน 9 สาขาหลัก ซึ่งแต่ละสาขามีมูลค่าการผลิตสูงกว่า 1 ล้านล้านหยวน ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (2) อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (ปริมาณการผลิตเท่ากับร้อยละ 10 ของจีน) (3) อุตสาหกรรมรองเท้า (ปริมาณการผลิตเท่ากับร้อยละ 40 ของจีน หรือร้อยละ 20 ของโลก) (4) อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (ปริมาณการส่งออกลูกอมคิดเป็น 1 ใน 4 ของประเทศ) (5) อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง (ปริมาณการส่งออกวัสดุก่อสร้างเท่ากับร้อยละ 35 ของประเทศ) (6) อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (1 ใน 9 ฐานการกลั่นน้ำมันรายใหญ่แห่งชาติ) (7) อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์หัตถกรรม (ปริมาณการส่งออกเซรามิกเท่ากับ ร้อยละ 65 ของจีน) (8) อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์เครื่องจักร และ (9) อุตสาหกรรมการพิมพ์กระดาษ ซึ่งอุตสาหกรรมข้างต้นส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยมีการแบ่งพื้นที่การลงทุนอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความสมบูรณ์และมีเอกลักษณ์เฉพาะ อาทิ อำเภอจิ้นเจียงขึ้นชื่อว่าเป็น “อำเภอแห่งรองเท้าของจีน” อำเภอสือซือเป็น “อำเภอแห่งสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของจีน” อำเภอหนานเป็น “อำเภอแห่งวัสดุก่อสร้างของจีน” เขตเฉวียนก่างขึ้นชื่อว่าเป็น “ฐานปิโตรเคมีของจีน” อำเภอฮุ่ยอานขึ้นชื่อว่าเป็น “อำเภอแห่งการแกะสลักหินของจีน” และอำเภอเต๋อฮวาขึ้นชื่อว่าเป็น “อำเภอแห่งเซรามิกของโลก”
นอกจากนั้น รัฐบาลเมืองเฉวียนโจวมุ่งยกระดับอุตสาหกรรมโดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้ยกระดับการผลิตเป็นระบบอัตโนมัติ ส่งผลให้มูลค่าการผลิตสูงกว่า 3.4 แสนล้านหยวนต่อปี และมีวิสาหกิจในห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกว่า 20,000 ราย อีกทั้งยังมุ่งสนับสนุนวิสาหกิจภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักที่ทันสมัย โดยผู้ประกอบการภาคเอกชนคิดเป็นร้อยละ 95 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งเมือง ส่งผลให้เมืองเฉวียนโจวติดอันดับเมืองที่มีศักยภาพด้านอุตสาหกรรม 10 อันดับแรกของจีน และเมืองที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ 50 อันดับแรกของจีน
ขณะที่อุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยแรงงานเข้มข้นของไทย เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอและรองเท้า ยังคงเผชิญกับความท้าทายด้านการผลิตจากต้นทุนวัตถุดิบและแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยผู้ประกอบการไทยต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการส่งเสริมขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs ในขยายตลาดการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักของเมืองเฉวียนโจวอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สอดคล้องกัน
แหล่งอ้างอิง https://www.cnii.com.cn/znzz/202208/t20220811_403884.html
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู