มณฑลเจียงซีเป็นมณฑลหนึ่งของจีนที่มีทรัพยากรแร่ซีลีเนียม (Selenuim) สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของจีน โดยมีพื้นที่ดินที่อุดมไปด้วยแร่ซีลีเนียม คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 10 ของทั้งประเทศ โดยเฉพาะเมืองผิงเซียง มีพื้นที่ที่อุดมไปด้วยแร่ซีลีเนียมทั้งหมดกว่า 2.2 ล้านไร่ หรือร้อยละ 91 ของพื้นที่ทั้งเมือง ปริมาณซีลีเนียมเฉลี่ย 0.61 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และพื้นที่ดินที่อุดมไปด้วยสังกะสีทั้งหมดกว่า 1.7 ล้านไร่ หรือร้อยละ 73 ของพื้นที่ทั้งเมือง จึงได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในรายชื่อ 30 เมืองที่อุดมไปด้วยซีลีเนียมธรรมชาติของจีนโดยสมาคมธรณีวิทยาแห่งชาติจีน นอกจากนั้น เมืองผิงเซียงยังมีทรัพยากรแร่อื่น ๆ อาทิ แร่สังกะสี โดยมีพื้นที่ที่อุดมด้วยแร่ธาตุสังกะสีกว่า 2,700 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 72 ของพื้นที่ทั้งหมดของเมืองผิงเซียง
เมืองผิงเซียงมุ่งพัฒนาภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมโดยใช้จุดเด่นของการมีทรัพยากรดินที่อุดมไปด้วยแร่ซีลีเนียมและสังกะสี ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายช่วยต้านอนุมูลอิสระและชะลอวัย โดยมีโครงการสำคัญ เช่น การสร้างฐานอุตสาหกรรมการเกษตรที่อุดมไปด้วยแร่ซีลีเนียมและสังกะสีมากกว่า 66,666 ไร่ รวมถึงฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่อุดมไปด้วยแร่ซีลีเนียมมากกว่า 60 รายการ อาทิ ฐานผลิตข้าว 2 แห่ง และชา 2 แห่ง โดยยี่ห้อข้าวของเมืองผิงเซียงได้รับรางวัลแบรนด์ข้าวคุณภาพสูงยอดนิยม 10 อันดับแรกของจีน และรางวัลข้าวดีที่อุดมไปด้วยซีลีเนียมของจีน นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่มีศักยภาพของเมืองจำนวน 3 ราย ได้รับเลือกให้อยู่ในรายชื่อโครงการสาธิตทางการเกษตรผลิตผลที่อุดมด้วยแร่ซีลีเนียมระดับประเทศ ได้แก่ บริษัท อาหารอี้ผิงชุน อำเภอหลู่ซี จำกัด ผู้ผลิตปศุสัตว์ ข้าว เห็ด และชาน้ำมันที่อุดมด้วยแร่ซีลีเนียม บริษัท ชาว่านหลงซาน เมืองผิงเซียง จำกัด ผู้ผลิตใบชาที่อุดมด้วยแร่ซีลีเนียม และบริษัท Genuineseed จำกัด ผู้ผลิตข้าวที่อุดมด้วยแร่ซีลีเนียม โดยปัจจุบัน บริษัท Genuineseed จำกัด มีฐานผลิตข้าวที่อุดมด้วยแร่ซีลีเนียมตั้งอยู่ที่อำเภอเหลียนหัว เมืองผิงเซียง มีพื้นที่กว่า 4,580 ไร่ และเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวที่อุดมไปด้วยแร่ซีลีเนียมให้กับตลาดฮ่องกง
นอกจากนั้น รัฐบาลผิงเซียงออกแผนพัฒนาอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมโดยใช้ประโยชน์จากแร่ซีลีเนียมและสังกะสีในปี 2565 โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่ (1) กำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมที่อุดมไปด้วยแร่ซีลีเนียม โดยมุ่งพัฒนาการเพาะปลูกข้าวและการเลี้ยงปศุสัตว์ในทุ่งหญ้าที่อุดมไปด้วยแร่ซีลีเนียม รวมถึงขยายการเพาะปลูกพืชและผลไม้ อาทิ พีช ส้มสะดือ ส้มโอ ชา ผัก ฯลฯ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชนบทและช่วยให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ (2) ยกระดับการวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาศักยภาพการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรและส่งเสริมอุตสาหกรรมซีลีเนียมและสังกะสีของเมืองผิงเซียงสู่การพัฒนาการเกษตรที่มีลักษณะเฉพาะทางนิเวศวิทยาในระดับมณฑล และ (3) ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมซีลีเนียมและสังกะสีอย่างครอบคลุมทั้งด้านการเกษตร การแปรรูปอาหาร การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และบ่มเพาะวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับซีลีเนียมและสังกะสีให้แข็งแกร่งเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ
ฐานผลิตข้าวที่อุดมไปด้วยแร่ซีลีเนียมของเมืองผิงเซียง
การพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรที่อุดมไปด้วยแร่ซีลีเนียมและสังกะสีของเมืองผิงเซียงเป็นหนึ่งในแนวทางการฟื้นฟูชนบทโดยเน้นการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกรในชนบทอย่างยั่งยืน โดยในปี 2564 อุตสาหกรรมการเกษตรที่อุดมไปด้วยแร่ซีลีเนียมและสังกะสีได้สร้างงานให้กับเกษตรกรกว่า 93,000 คน ช่วยให้เกษตรกรจำนวน 3,741 ครัวเรือน หลุดพ้นจากความยากจนได้สำเร็จ ซึ่งไทยสามารถเรียนรู้และศึกษานวัตกรรมทางการเกษตรใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรของไทย รวมถึงอาจพิจารณาสำรวจความร่วมมือกับผู้ประกอบการจีนด้านการวิจัยและพัฒนาทางชีวภาพ การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรที่มีคุณภาพสูงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งการกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดจีนได้มากยิ่งขึ้น
แหล่งอ้างอิง http://jx.people.com.cn/n2/2022/0722/c190262-40048534.html
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู