เนื้อวัวนับเป็นหนึ่งในแหล่งโปรตีนที่สำคัญของผู้บริโภคชาวจีน แต่ที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตเนื้อวัวของจีนเองยังไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการบริโภคภายในประเทศได้ จึงต้องมีการนำเข้าเนื้อวัวจากต่างประเทศ ขณะที่ในส่วนของมณฑลยูนนานซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ในอดีตก็ได้มีการลักลอบนำเข้าโคเนื้อมีชีวิตจากเมียนมาและลาวมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งมณฑลยูนนานได้ออกนโยบายนำเข้าโคเนื้อมีชีวิตจากเมียนมาและลาว พร้อมกำหนดโควตาและมาตรการกักกันโรค เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าและโรคระบาดที่อาจปะปนเข้ามา
การระบาดของโรคโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการเดินทางไปมาหาสู่ของประชาชนและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นอุปสรรคของมณฑลยูนนานในการดำเนินนโยบายนำเข้าโคเนื้อมีชีวิตจากเมียนมาและลาวซึ่งสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ในขั้นรุนแรง รวมทั้งยังพบการระบาดของโรคลัมปีสกินในลาวอีกด้วย
จากอุปสรรคข้างต้น มณฑลยูนนานจึงได้ปรับนโยบายนำเข้าโคเนื้อมีชีวิตจากเมียนมาและลาว ไปสู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมโคเนื้อภายในมณฑล โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนฝั่งตะวันตกที่มีชายแดนติดกับเมียนมา ได้แก่ เมืองหลินชาง เมืองเป่าซาน เขตฯ เต๋อหง และเมืองผูเอ่อร์ ตามแนวทางไพ่ “อาหารสีเขียว” ของยุทธศาสตร์ไพ่สามใบของมณฑลยูนนาน โดยใช้ประโยชน์จากการที่มณฑลยูนนานมีพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์กว่า 9.85 ล้านหมู่ (ประมาณ 4.1 ล้านไร่) และได้รับการรับรองสายพันธุ์โคท้องถิ่น 6 สายพันธุ์ รวมทั้งยังมีศูนย์เพาะพันธุ์โคเนื้อระดับชาติ 5 แห่ง มากเป็นอันดับหนึ่งของจีน
นับจนถึงปลายปี 2564 มณฑลยูนนานมีปริมาณโคเนื้อในฟาร์ม 8.71 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ร้อยละ 15 อัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 1.6 โดยมีปริมาณโคเนื้อออกจากฟาร์ม 3.452 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ร้อยละ 23.7 อัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 2.4 คิดเป็นปริมาณเนื้อวัว 4.2 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ร้อยละ 31.7 อัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 3.1 ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มณฑลยูนนานมีปริมาณโคเนื้อในฟาร์ม 7.9239 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.6 และมีปริมาณโคเนื้อออกจากฟาร์ม 1.5183 ล้านตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 คิดเป็นปริมาณเนื้อวัว 1.821 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 โดยภายในปี 2568 มณฑลยูนนานตั้งเป้าหมายจะมีปริมาณโคเนื้อออกจากฟาร์มกว่า 4 ล้านตัว คิดเป็นปริมาณเนื้อวัวกว่า 5 แสนตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.6 แสนล้านหยวน เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็น “เมืองแห่งโคเนื้อของจีน”
ทั้งนี้ ในอดีตแหล่งเพาะเลี้ยงโคเนื้อที่สำคัญของจีนตั้งอยู่บริเวณที่ราบภาคกลางตอนบน แต่ปัจจุบันได้เริ่มมีการเคลื่อนย้ายไปสู่ภูมิภาคอื่นของประเทศ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่มีแนวโน้มการพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่น เนื่องจากจุดแข็งด้านพืชอาหารสัตว์ที่มีความอุดมสมบูรณ์และหลากหลาย อีกทั้งยังตั้งอยู่ใกล้กับภาคใต้ของจีน ซึ่งมีประชากรหนาแน่นและเป็นแหล่งที่มีปริมาณการบริโภคเนื้อวัวมากที่สุดในจีน
ที่มา: https://yn.yunnan.cn/system/2022/08/23/032243897.shtml
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู