“การพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพึ่งพาตนเอง และการสร้างสรรค์นวัตกรรม” เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ได้รับการหยิบยกในแผนแม่บทการพัฒนาประเทศของรัฐบาลจีน
บนเวทีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลก ต้องมี “รอยเท้า” ของประเทศจีนปรากฎอยู่ ประเทศจีนได้แสดงความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่โดดเด่นในสายตาชาวโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการด้านอวกาศอย่างระบบดาวเทียมเป๋ยโต่ว การก่อสร้างสถานีอวกาศ โครงการด้านมหาสมุทรอย่างการสร้างเรือดำน้ำลึกขับเคลื่อนด้วยมนุษย์ และอื่นๆ อาทิ เทคโนโลยีนิวเคลียร์ รถไฟความเร็วสูง การสื่อสาร 5G เทคโนโลยี AI และอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน
และประเทศจีนยังคงเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการสร้างจีนให้เป็นประเทศผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วันนี้ บีไอซี มาอัปเดตความเคลื่อนไหวใหม่ในการขับเคลื่อนแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกว่างซี(จีน)
เมื่อไม่นานมานี้ สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติจีน หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “CAST” (China Association for Science and Technology) เพิ่งประกาศรายชื่อสถานที่ 194 แห่งทั่วประเทศจีนที่ได้รับการรับรองให้เป็น “ฐานนวัตกรรม Innovation China” (“科创中国”创新基地) ซึ่งเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมี 3 แห่งที่ติดโผบัญชีรายชื่อชุดแรกนี้ด้วย
ก่อนอื่น เราไปทำความรู้จักกับ “ฐานนวัตกรรม Innovation China” คือ แพลตฟอร์มความร่วมมือที่สมาคม CAST ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย โดยเฉพาะด้านนวัตกรรมและการนำ“ผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์” เพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศจีน โดยมีสาขาสำคัญ อาทิ เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ การผลิตอุปกรณ์สมัยใหม่ คาร์บอนต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชีวการแพทย์ (biomedical) วัสดุใหม่ และเศรษฐกิจดิจิทัล
“ท่านทราบหรือไม่ว่า… ในปี 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนจัดสรรงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) ราว 72,091 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 15.3% (YoY) นับเป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนนวัตกรรม ส่งเสริมการส่วนร่วมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น”
“ฐานนวัตกรรม Innovation China” จำแนกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย (Industry-University-Research Institute Collaboration) กลุ่มที่ 2 การบ่มเพาะนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ (Innovation and Entrepreneurship Incubation) และ กลุ่มที่ 3 ความร่วมมือด้านนวัตกรรมระหว่างประเทศ (International Innovative Cooperation)
จากที่ได้เกริ่นไปในตอนต้นว่า… ในเขตฯ กว่างซีจ้วงมี 3 องค์กรที่ติดโผบัญชีรายชื่อ “ฐานนวัตกรรม Innovation China” ชุดแรกของประเทศจีนด้วย ตามไปดูว่ามีที่ไหนบ้าง
(1) ฐานนวัตกรรมวัสดุอลูมิเนียมอัลลอยด์คุณภาพสูงระดับไฮเอนด์ของบริษัท ALG Aluminium Inc. (广西南南铝加工有限公司) นครหนานหนิง นับเป็นตัวแทนเพียง 1 เดียวจากกว่างซีที่มีชื่ออยู่บัญชีฐานนวัตกรรม Innovation China กลุ่มที่ 1 แพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย (จากทั้งหมด 132 แห่งทั่วประเทศจีน)
ในแวดวงวัสดุใหม่ของจีน ต้องมีชื่อของบริษัท ALG Aluminium Inc. ตลอดหลายปีมานี้ บริษัทฯ ได้ค้นพบเทคโนโลยี (breakthrough) การผลิตและแปรรูปวัสดุอลูมิเนียมระดับ High-end ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ยานยนต์ และสารกึ่งตัวนำ (Pan semiconductor/泛半导体) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมวัสดุใหม่ของประเทศจีน
“ฐานนวัตกรรมวัสดุอลูมิเนียมอัลลอยด์คุณภาพสูงระดับ High-end” เป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถของบริษัท ALG Aluminium Inc. ที่มีอยู่เดิม เป็นหน่วยบ่มเพาะ (Incubator) ด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และแปลงผลงานวิจัยสู่การใช้งานจริง ช่วยส่งเสริมการบูรณาการในเชิงลึกระหว่างการขับเคลื่อนนวัตกรรม (Innovation drive) กับเศรษฐกิจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Economy)
(2) ฐานนวัตกรรมหลิงต้งของบริษัท Liuzhou Wuling Auto Science Co.,Ltd. (柳州五菱汽车科技有限公司) เมืองหลิ่วโจว อยู่ในบัญชีฐานนวัตกรรม Innovation China กลุ่มที่ 2 แพลตฟอร์มการบ่มเพาะนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ (มีอยู่ 46 แห่งทั่วประเทศจีน)
จากสถานที่ตั้งที่เมืองหลิ่วโจว และชื่อองค์กรที่มีคำว่า Wuling (อู่หลิง) ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า… ต้องเกี่ยวข้องกับ “ยานยนต์” โดย “ฐานนวัตกรรมหลิงตง” เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้บ่มเพาะนวัตกรรมและสร้างห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ ช่วยสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและเงินทุนให้กับภาคธุรกิจ/โครงการด้านนวัตกรรมที่เข้าอยู่ในฐานนวัตกรรมหลิงตง
ข้อมูลเบื้องต้น ระบุว่า ฐานนวัตกรรมหลิงตงได้บ่มเพาะผู้ประกอบการสำเร็จแล้ว 65 ราย ธุรกิจขนาดกลาง-เล็กด้านเทคโนโลยีที่สำคัญระดับประเทศ 16 ราย และประสบความสำเร็จในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และมีทรัพย์สินทางปัญญา 73 รายการ
ที่ผ่านมา การวิจัยและพัฒนาชิปที่ใช้สำหรับยานยนต์ และเทคโนโลยีดิจิทัลยานยนต์อย่าง ICVs (Intelligent and Connected Vehicle) ของเมืองหลิ่วโจว ถือว่ามีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และเป็นรากฐานที่ดีสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลยานยนต์และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
(3) ฐานนวัตกรรมเมืองกุ้ยก่างของสถาบัน Institute for High and New Technology Application (贵港市高新技术应用研究所) เมืองกุ้ยก่าง
สถาบันวิจัย Institute for High and New Technology Application เป็นหน่วยบ่มเพาะนวัตกรรม (incubator) ที่สำคัญของเมืองกุ้ยก่าง และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ บ่มเพาะนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม (Small and Micro Enterprises) และสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก (Small and Medium Enterprises)
ระบบการบ่มเพาะและสร้างความเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ “การสร้างแปลงต้นกล้า (พื้นที่การเรียนรู้แนวใหม่ หรือ Maker space) – การบ่มเพาะต้นกล้า (Startup Incubator) – การเร่งการเติบโตของต้นกล้า (Startup Accelerator)” โดยให้คำปรึกษาและช่วยเหลือสตาร์ทอัพในช่วงเริ่มต้นไอเดียให้มีแผนการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไปจนถึงการเร่งอัตราการเติบโตและเพิ่มมูลค่าของธุรกิจที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านบุคลากร การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเงินการลงทุน การบริการด้านเทคโนโลยี และการนำผลงานวิจัยไปต่อยอดเชิงพาณิชย์
บีไอซี เห็นว่า สตาร์ทอัปไทยสามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อเสริมศักยภาพและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด โดยสามารถพัฒนาความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ เช่น การทำโครงการร่วมกัน การทดลองใช้นวัตกรรมเพื่อการขยายตลาด หรือการดึงสตาร์ทอัปที่มีศักยภาพและมีความสนใจจะมาขยายธุรกิจในไทย ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกว่างซี(จีน) สามารถตอบโจทย์และเชื่อมโยงกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของประเทศไทย
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมี “ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นอีกกลไกการทำงานที่คอยให้การสนับสนุนและแสวงหาแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างไทยกับจีน ที่สถาบันการศึกษาและสตาร์ทอัปไทยสามารถใช้ประโยชน์ได้ด้วย
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gxnews.com.cn (广西新闻网) วันที่ 01 กันยายน 2565
หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี (广西日报) วันที่ 29 สิงหาคม 2565
เว็บไซต์ www.smelz.com (柳州中小企业网) วันที่ 16 สิงหาคม 2565
เว็บไซต์ www.cast.org.cn (中国科学技术协会)
เว็บไซต์ www.algig.cn (南南铝)