แนวคิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วย ‘เทคโนโลยี’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ปัจจุบัน ทั่วโลกมุ่งให้ความสำคัญกับการปฏิรูปและยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือที่เรียกสั้นๆว่า ยุค 4IR (Fourth Industrial Revolution) ยุคที่อัตราเร่งของการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ในระดับสูง และเป็นยุคที่ทุกสรรพสิ่งเชื่อมโยงและขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
ปรากฎการณ์ข้างต้นมีนัยยะสำคัญต่อการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต ห่วงโซ่อุตสาหกรรม และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก การเชื่อมโยงถึงกันช่วยให้สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยกรมพาณิชย์กว่างซี และสำนักพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่กว่างซี ได้ร่วมกันประกาศ “ข้อคิดเห็นว่าเกี่ยวกับการเร่งรัดความร่วมมือทางการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลของเขตฯ กว่างซีจ้วงในต่างประเทศ” ซึ่งเป็นประกาศข้อคิดเห็นในระดับรัฐบาลมณฑลฉบับแรกในประเทศจีนที่มุ่งสนับสนุนให้ภาคธุรกิจไปดำเนินความร่วมมือทางการลงทุนในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในต่างประเทศ พร้อมมอบเงินทุนสนับสนุนการ ‘ก้าวออกไป’ ของภาคธุรกิจ
“เศรษฐกิจดิจิทัล หากจะพูดในเชิงเทคนิค ครอบคลุมเทคโนโลยีเกิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Big Data, Cloud Computing,
Internet of Things, Block Chain, Artificial Intelligence และ 5G
หากพูดในแง่ของการประยุกต์ใช้งานแล้ว ตัวแทนสำคัญ ก็คือ New retail และ New manufacturing”
นายหยาง ชุนถิง อธิบดีกรมพาณิชย์กว่างซี กล่าวว่า เขตฯ กว่างซีจ้วงจะดำเนินการเชิงรุกเพื่อเชื่อมโยงกับ “แผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025” หรือ ASEAN Digital Master plan 2025 (ADM 2025) โดยจะสนับสนุนการจัดตั้งสมาพันธ์ส่งเสริมการก้าวออกไปบุกเบิกตลาดต่างประเทศของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับข้อคิดเห็นฯ ที่ระบุว่า เขตฯ กว่างซีจ้วงมุ่งพัฒนาความร่วมมือเชิงลึกด้านเศรษฐกิจดิจิทัลกับอาเซียน การเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการพัฒนาโปรเจกต์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลในประเทศสมาชิกอาเซียน อาทิ Smart Nation ของสิงคโปร์ Cloud-first ของมาเลเซีย รวมถึง Digital Thailand ของประเทศไทย
โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล อาทิ ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Center) คลาวด์คอมพิวติ้ง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เครือข่าย 5G เคเบิ้ลภาคพื้นดินและเคเบิ้ลใต้น้ำ และเครือข่ายบรอดแบรนด์ รวมทั้งการสนับสนุนเชิงเทคนิคในโปรเจกต์ด้านชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน อาทิ การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การเงินดิจิทัล (Digital Finance) โลจิสติกส์อัจฉริยะ (Smart Logistic) และดิจิทัลเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
“ขณะเดียวกัน กว่างซีจะให้การส่งเสริมธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่มีอัตลักษณ์กว่างซี อาทิ การเกษตร แพทย์และสมุนไพรจีน และวัฒนธรรม การใช้กระบวนการในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) ในการบุกเบิกตลาดต่างประเทศ การพัฒนาโปรเจกต์ความร่วมมือที่เป็นต้นแบบนำร่อง อาทิ เมืองอัจฉริยะ (Smart City) การท่องเที่ยวดิจิทัล (Digital Tourism) การแพทย์ทางไกล และการศึกษาดิจิทัล (Digital Education) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนิคมในต่างประเทศกับธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซข้ามแดนและแพลตฟอร์ม รวมทั้งจัดตั้งคลังสินค้าในต่างประเทศ และพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการด้านดิจิทัลเพื่อการค้าข้ามแดน” นายหยางฯ อธิบดีกรมพาณิชย์กว่างซี ให้ข้อมูล
นอกจากนี้ กว่างซียังจะพัฒนาการให้บริการด้านเศรษฐกิจดิจิทัลข้ามแดน พัฒนาฟังก์ชันของแพลตฟอร์มส่งเสริมการก้าวออกไปต่างประเทศของวิสาหกิจกว่างซี “桂企出海+” (เว็บไซต์ www.investgx.com) ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และสนับสนุนให้วิสาหกิจยานยนต์อัจฉริยะ การผลิตอัจฉริยะ การเกษตรอัจฉริยะ และการประมงอัจฉริยะ พัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลข้ามแดน
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัท China-ASEAN Information Harbor Co., Ltd. (中国—东盟信息港股份有限公司) หรือ CAIH เป็นวิสาหกิจรายสำคัญของกว่างซีที่ ‘ก้าวออกไป’ บุกเบิกตลาดในอาเซียน อาทิ ศูนย์ IT และแพลตฟอร์มมัลติมีเดียดิจิทัลในอินโดนีเซีย eSIM ในมาเลเซียและกัมพูชา ศูนย์เทคโนโลยีคลาวด์ผ่านดาวเทียมใน สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน-อาเซียนในประเทศไทย
บีไอซี เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายครั้งใหญ่ของประเทศไทย เป็นสิ่งที่ภาครัฐและภาคเอกชนไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับตนเอง ทั้งนี้ ทุกฝ่ายของไทยสามารถใช้โอกาสจากการพัฒนาโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ในการผูกโยงและดึงดูดความร่วมมือกับเขตฯ กว่างซีจ้วง ทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและทักษะดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล Digital Park Thailand ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการ Thailand Digital Valley ที่ใช้ดึงดูดการลงทุนด้านดิจิทัลใน Digital Park Thailand โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลทั้งกลุ่ม New Skill กลุ่ม Up-Skill และ กลุ่ม Re-Skill เพื่อรองรับทิศทางเศรษฐกิจดิจิทัล
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网广西) วันที่ 12 ตุลาคม 2565
เว็บไซต์ www.china-cer.com.cn (经济形势报告网) วันที่ 12 ตุลาคม 2565
เว็บไซต์ http://swt.gxzf.gov.cn (广西商务厅) วันที่ 11 ตุลาคม 2565
เว็บไซต์ www.investgx.com/index.do (桂企出海+)
เว็บไซต์ www.caih.com (中国东信)