เมื่อเดือนตุลาคม 2565 กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงคมนาคมของจีน ร่วมกันประกาศรายชื่อพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องด้านการพัฒนาเรือล่องแม่น้ำอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ โดยมณฑลฝูเจี้ยนได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่อง[1] เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาเรือล่องแม่น้ำผ่านการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสีเขียว อาทิ ก๊าซธรรมชาติ LNG แบตเตอรี่เมทานอล และเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และการยกระดับการผลิตอุปกรณ์เดินเรือด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการใช้เรือแม่น้ำพลังงานใหม่
ปัจจุบันมณฑลฝูเจี้ยนอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนาเรือไฟฟ้าพลังงานใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ปี 2565 – 2568) เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเรือยนต์ไฟฟ้าพลังงานใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการดำเนินการสำคัญ ได้แก่
(1) การพัฒนาเทคโนโลยีเรือไฟฟ้าและแบตเตอรี่เรือไฟฟ้า อาทิ การก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา และฐานการวิจัยและผลิตแบตเตอรี่เรือไฟฟ้า โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีแบตเตอรี่ไฟฟ้าในเรือขนส่งสินค้าในแม่น้ำ และเรือสำราญ การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานก๊าซธรรมชาติ LNG ในเรือบรรทุกสินค้าที่มีปริมาณสูงกว่า 2,000 ตันในแม่น้ำ ตลอดจนส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานอื่น ๆ อาทิ เมทานอลและพลังงานไฮโดรเจนสำหรับเรือโดยสารและเรือบรรทุกสินค้า
(2) การเร่งพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะ อาทิ การเร่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเรือเดินสมุทรแบบ ไร้คนขับด้วยระบบเครือข่าย 5G ซึ่งสามารถขับเคลื่อนเรือและจอดเทียบท่าอัตโนมัติผ่านการควบคุมโดยเชื่อมต่อกับดาวเทียมเพื่อระบุตำแหน่งผ่านระบบ GPS และ Beidou[2] ซึ่งช่วยลดปัญหาการเดินเรือภายใต้สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะด้านความปลอดภัยขั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเสี่ยงด้านมลภาวะทางน้ำและเพิ่มความปลอดภัยของการเดินเรือยิ่งขึ้น
(3) การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการก่อสร้างสถานีให้บริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเรือไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั้งมณฑล รวมทั้งสนับสนุนท่าเรือ วิสาหกิจ และสถาบันการเงินในการพัฒนาธุรกิจการเช่าเรือไฟฟ้าและการซ่อมบำรุงเรือด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ เป็นต้น
โดยสรุป มณฑลฝูเจี้ยนมีความได้เปรียบทั้งด้านอุตสาหกรรมพลังงานใหม่และอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมบำรุงเรือระดับประเทศ และเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจที่มีศักยภาพในการวิจัยและผลิตแบบเตอรี่ไฟฟ้าชั้นนำของจีนจำนวนมาก รวมทั้งวิสาหกิจวิจัยและผลิตเรือรายใหญ่ อาทิ บริษัท Fujian Shipbuilding Industry Group จำกัด และบริษัท Xiamen Shipbuilding Industry จำกัด นอกจากนั้น มณฑลฝูเจี้ยนได้ดึงดูดวิสาหกิจและสถาบันวิจัยและพัฒนาเรือยนต์ไฟฟ้าชั้นหนึ่งของจีนอย่างสถาบัน China Ship Scientific Research Center (CSSRC) มาลงทุนในมณฑลฝูเจี้ยน โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มมูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมเรือยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์สำหรับการเดินเรือที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ให้ได้มากกว่า 8 หมื่นล้านหยวนภายในปี 2566 เพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายการเป็นฐานการวิจัยและผลิตเรือยนต์ไฟฟ้าพลังงานใหม่ของจีน ภายในปี 2573 มณฑลฝูเจี้ยนจึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเรือไฟฟ้าอัจฉริยะ ตลอดจนการซ่อมบำรุงเรือ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีเรือยนต์ไฟฟ้าของไทย
แหล่งอ้างอิง http://www.mnw.cn/news/fj/2690036.html
[1] พื้นที่อื่น ๆ ที่ได้รับการคัดเลือกได้แก่ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง มณฑลอานฮุย มณฑลซานตง มณฑลหูเป่ย มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเหอเป่ย และเขตปกครองตนเองกว่างซี
[2] BDS คือระบบสัญญาณนำทางดาวเทียมเป่ยโต่วของสำนักงานบริหารกิจการอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA)
The post ฝูเจี้ยนติดรายชื่อพื้นที่นำร่องการพัฒนาเรือล่องแม่น้ำอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ appeared first on thaibizchina.