อาหารถือเป็นปัจจัยสี่ที่สำคัญของมนุษย์ นโยบายของจีนที่ต้องการให้ประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน “อยู่ดีกินดี” เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย ที่ผ่านมา จีนจึงให้ความสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตของธัญพืชมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2492 จีนมีผลผลิตธัญพืช 100,000 ล้านกิโลกรัม ก่อนสามารถเพิ่มเป็นมากกว่า 685,000 ล้านกิโลกรัมในปี 2564 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และมีผลผลิตกว่า 650,000 ล้านกิโลกรัมติดต่อกันมานานถึง 7 ปี ปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งประการที่มีส่วนช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นก็คือการใช้ปุ๋ย โดยเฉพาะปุ๋ยฟอสฟอรัสของมณฑลกุ้ยโจวที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของจีน
มณฑลกุ้ยโจวถือเป็นแหล่งปริมาณสำรองแร่ฟอสฟอรัสที่สำคัญของจีน มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 17 ของปริมาณสำรองแร่ฟอสฟอรัสทั้งหมดในจีน โดยมีเครือบริษัท Guizhou Phosphate Chemical Group เป็นศูนย์กลางสำคัญในการผลิตปุ๋ยฟอสฟอรัส และติดอันดับหนึ่ง “บริษัทปุ๋ยเคมียอดเยี่ยม 100 อันดับแรกของจีน” ติดต่อกันสองปี (ปี 2563-2564) ปัจจุบัน Guizhou Phosphate Chemical Group มีกำลังการขุดแร่ปีละ 17 ล้านตัน และมีกำลังการผลิตปุ๋ยฟอสฟอรัสมากกว่า 8 ล้านตัน ทั้งนี้ ในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2565 Guizhou Phosphate Chemical Group ผลิตปุ๋ยฟอสฟอรัส 2.66 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30 และสามารถตอบสนองความต้องการปุ๋ยฟอสฟอรัสได้ถึงหนึ่งในสี่ของตลาดพืชผลทางการเกษตรของจีน
อนึ่ง ปุ๋ยถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญติด 3 อันดับแรกของมณฑลกุ้ยโจว และกว่าร้อยละ 90 เป็นปุ๋ยไดแอมโนเนียมฟอสเฟต (Diammonium Phosphate: DAP) และปุ๋ยโมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต (Mono Ammonium Phosphate: MAP) นอกจากนี้ มณฑลกุ้ยโจวยังส่งออกปุ๋ยมากเป็นอันดับ 3 ของจีน รองจากมณฑลยูนนาน และมณฑลหูเป่ย ทั้งนี้ ในช่วงสิบเดือนแรกของปี 2565 กุ้ยโจวส่งออกปุ๋ย 522 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.2 ของมูลค่าการส่งออกของมณฑลกุ้ยโจว ในจำนวนนี้ เป็นมูลค่าการส่งออกไปไทย 8.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา: http://news.gog.cn/system/2022/10/22/018247479.shtml
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู