• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • สัญญาณดี นครหนานหนิงฟื้นเที่ยวบินผู้โดยสารต่างประเทศเพิ่มหลายเส้นทาง พร้อมสร้าง Terminal 3

สัญญาณดี นครหนานหนิงฟื้นเที่ยวบินผู้โดยสารต่างประเทศเพิ่มหลายเส้นทาง พร้อมสร้าง Terminal 3

 

นับเป็นข่าวดี เมื่อนครหนานหนิงได้ประกาศฟื้นฟูเที่ยวบินระหว่างประเทศเพิ่มอีกหลายเส้นทาง อาทิ กรุงกัวลาลัมเปอร์ กรุงพนมเปญ และสิงคโปร์ หลังจากเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 นครหนานหนิงเบิกฤกษ์ฟื้นฟูเที่ยวบินผู้โดยสาระหว่างประเทศในเส้นทาง นครหนานหนิง – กรุงเทพฯ โดยสายการบินนกแอร์ เป็นเที่ยวบินผู้โดยสารต่างประเทศเที่ยวแรกของกว่างซีนับตั้งแต่หยุดทำการบินจากเหตุการณ์ระบาดโควิด-19

คุณหวัง จื้อกัง (王志刚) ตำแหน่ง Chief Marketing Officer (CMO) สายการบิน Spring Airlines เปิดเผยว่า ทางสายการบินเล็งเห็นข้อได้เปรียบของนครหนานหนิงที่ตั้งอยู่ใกล้อาเซียน จึงได้ตัดสินใจเพิ่มเที่ยวบริการการบินในเส้นทางนครหนานหนิงกับกรุงเทพฯ กรุงกัวลาลัมเปอร์ กรุงพนมเปญ และสิงคโปร์

ด้านท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง (สนามบินหนานหนิง รหัสท่าอากาศยาน NNG) เปิดเผยว่า ตารางการบินฤดูหนาว ปี 2565 นครหนานหนิงมีแผนทยอยฟื้นฟูเที่ยวบินผู้โดยสารระหว่างประเทศในเส้นทางสิงคโปร์ กรุงกัมลาลัมเปอร์ และกรุงจาการ์ตา รวมถึงเพิ่มความถี่เที่ยวบินเส้นทางกรุงเทพฯ (ปัจจุบัน มีสายการบินที่ให้บริการ 2 ราย คือ นกแอร์ทุกวันพุธ และ Spring Airlines ทุกวันศุกร์ของสัปดาห์) และกรุงพนมเปญ

ตารางการบินฤดูหนาว ปี 2565 สนามบินหนานหนิงวางแผนว่าจะมีเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารและเที่ยวบินขนส่งสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศเฉลี่ยต่อวันแตะ 435 เครื่องครั้ง เพิ่มขึ้นจากตารางการบินฤดูร้อน 35 เครื่องครั้ง (เพิ่มขึ้น 8.8%) โดยมีสายการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ 36 ราย ที่วางแผนจะให้บริการเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารและเที่ยวบินขนส่งสินค้าที่นครหนานหนิง 145 เส้นทาง ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางบินระหว่างประเทศและนอกจีนแผ่นดินใหญ่ 15 เส้นทาง

ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ตอบรับการปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เที่ยวบินผู้โดยสารระหว่างประเทศของจีนฟื้นฟูได้เร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการยกเลิกมาตรการ Circuit Breaker (บทลงโทษสำหรับสายการบิน ในกรณีที่เที่ยวบินพบจำนวนผู้ติดเชื้อเกินเกณฑ์ที่กำหนด จะถูกระงับการบินเข้าจีนชั่วคราวตามกำหนดเวลา) สำหรับเที่ยวบินผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เดินทางเข้าจีน (Inbound flight)

นอกจากนี้ ยังมีการปรับมาตรการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ การลดระยะเวลาการกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศจีนจาก (สถานที่ที่รัฐกำหนด + ที่บ้าน) 7 + 3 เหลือ 5+3 และการแสดงผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ เพียงครั้งเดียว จากเดิม 2 ครั้งใน 48 ชั่วโมง

คุณหวัง เซิน (Wang Shen/王燊) ผู้จัดการบริษัท Taimei International (太美国际) ซึ่งเป็นผู้เช่าเหมาลำเที่ยวบินเส้นทางกรุงเทพฯ ให้ข้อมูลว่า นับตั้งแต่เริ่มตารางการบินฤดูหนาว เที่ยวบินเช่าเหมาลำไป-กลับเส้นทางหนานหนิง – กรุงเทพฯ เกือบเต็มทุกเที่ยว ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ นักเรียน และผู้ที่เดินทางไปเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ประเทศไทย

คุณหวังฯ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่เป็นผู้เช่าเหมาลำเส้นทางบินอาเซียน ทางบริษัทฯ ได้เสาะหาแหล่งท่องเที่ยวในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง หาสถานที่ท่องเที่ยว Unseen พัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยวที่ได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่สุดล้ำ ออกผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวส่วนตัวที่มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น

ล่าสุด รายงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 (T3) และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องในสนามบินหนานหนิง ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปกว่างซีแล้ว โดยได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับผู้โดยสาร 50 ล้านคนครั้งจนถึงปี 2578 ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ในปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 19,380 ล้านหยวน (อาคาร T3 มีพื้นที่ 4.2 แสน ตร.ม. ลานจอดเครื่องบิน 77 ช่อง และรันเวย์เส้นที่ 2 ความยาว 3,800 เมตร) และจะผลักดันให้สนามบินเป็น ‘สนามบินอัจฉริยะ’ หรือ Smart Airport แห่งแรกของกว่างซี

นอกจาก การขนส่งผู้โดยสารแล้ว การขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo) ของนครหนานหนิงมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ธุรกิจการขนส่งทางอากาศ หรือ Air Freight Business กำลังทวีบทบาทสำคัญมากขึ้นในระบบการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ความต้องการในการขนส่งสินค้าทางอากาศเติบโตเพิ่มขึ้น และคาดว่าแนวโน้มธุรกิจการขนส่งทางอากาศจะยังคงเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีสถิติที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิง หรือ Nanning Wuxu International Airport (รหัสท่าอากาศยาน IATA : NNG) มีปริมาณขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศทะลุ 60,000 ตัน
  • ปัจจุบัน มีเที่ยวบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ หรือ หรือ All Cargo Flight ไปยัง 12 เมืองใน 8 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บังคลาเทศ และอินเดีย (เป็นเที่ยวบินใหม่ที่เพิ่งทำการบินในปีใหม่ 7 เส้นทาง)
  • ปัจจุบัน มีเครื่องบินขนส่งสินค้าประจำการอยู่ 5 ลำ เป็นของสายการบินเทียนจิน (天津货运航空有限公司) สายการบิน Zhongyuan Longhao Airlines (中原龙浩航空) และสายการบิน YTO Airline (圆通货运航空有限公司)
  • การเติบโตของธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ สนามบินหนานหนิงได้สร้างคลังสินค้าขาออก เฟสที่ 2 และเปิดใช้งานแล้ว ข้อมูล ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 คลังสินค้าระหว่างประเทศช่วยเพิ่มศักยภาพรองรับการขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศเฉลี่ยวันละ 190.49 ตัน และช่วยสร้างหลักประกันให้กับเที่ยวบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้เฉลี่ยวันละ 16 ลำครั้ง

เที่ยวบินขนส่งสินค้า “นครหนานหนิง – กรุงเทพฯ” เป็นหนึ่งในเที่ยวบินที่ให้บริการถี่มากที่สุดของสนามบินหนานหนิง สินค้าที่ส่งไปยังกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นสินค้า Cross-border e-Commerce

ในมุมของกว่างซี เที่ยวบิน“นครหนานหนิง – กรุงเทพฯ” ช่วยส่งเสริมการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจในพื้นที่สองฝ่าย ช่วยตอบสนองความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นของการค้าที่เป็น Cross-border e-Commerce ได้ในระดับหนึ่ง เป็นส่วนช่วยขยายตลาดสินค้าในประเทศไทย ขณะเดียวกัน ก็ช่วยขยายปริมาณการนำเข้าผลไม้ไทยให้เพิ่มมากขึ้น และช่วยเสริมสร้างบทบาทการเป็น “ด่านนำเข้าสินค้าสดและมีชีวิต” ของด่านสนามบินหนานหนิงได้อีกด้วย

ในมุมของประเทศไทย อย่างที่ทราบว่า สนามบินหนานหนิง เป็นหนึ่งใน “ด่านนำเข้าผลไม้” ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 และประกาศเริ่มให้บริการนำเข้าผลไม้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป โดย “ทุเรียนไทย” น้ำหนัก 19.5 ตัน เป็นผลไม้ล็อตแรกที่ประเดิมใช้สนามบินแห่งนี้ ต่อด้วย “มังคุดไทย” น้ำหนัก 20 ตัน เป็นผลไม้ไทยชนิดที่ 2 ที่นำเข้าผ่านสนามบินหนานหนิงในวันถัดมา

 

สนามบินหนานหนิงเป็นทางเลือกใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (ระยะเวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ ในการบุกเบิก สินค้าสดและสินค้ามีชีวิต” รวมถึงสินค้าอื่นๆ จากไทยไปกว่างซี(จีน)

 

ทุเรียนมาเลย์ เป็นอีกผลไม้ที่ใช้ประโยชน์จากสนามบินหนานหนิงด้วยเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 มาเลเซียเริ่มเปิดเส้นทางบินเฉพาะสำหรับทุเรียนอย่างเป็นทางการ “กัวลาลัมเปอร์ – หนานหนิง”

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นหนึ่งในผลลัพธ์จากที่เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกว่างซีกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติจีน หรือ CAAC (China Aviation Administration of China) ได้ร่วมลงนามข้อตกลงกรอบความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านการบินพลเรือนของกว่างซี ซึ่งสาระสำคัญส่วนหนึ่งได้ระบุถึงการสนับสนุนให้สนามบินหนานหนิง ขยายเส้นทางบินและเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินระหว่างนครหนานหนิงกับกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงการใช้ประโยขน์จากทรัพยากรร่วมกันระหว่างเครื่องบินขนส่งสินค้าและพื้นที่ระวางใต้ท้องเครื่องของเครื่องบินผู้โดยสาร

จึงกล่าวได้ว่า “สนามบินหนานหนิง” เป็นอีกหนึ่ง ‘ทางเลือก’ ที่ช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับผู้ส่งออกไทยไปยังประเทศจีน เนื่องจากสนามบินแห่งนี้มีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย ใช้เวลาทำการบินเพียงประมาณ 2 ชั่วโมง เป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก โดยผู้ส่งออกไทยสามารถใช้โครงข่ายคมนาคมขนส่งที่มีความสมบูรณ์ทันสมัยของ “นครหนานหนิง” ในการกระจายสินค้าไปจำหน่ายยังพื้นที่อี่นทั่วประเทศจีนได้ ได้โดยไม่จำกัดรูปแบบการขนส่งเชื่อมต่อเฉพาะเครื่องบินเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้รูปแบบการขนส่งทางถนน และรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมถึงสนามบิน และกำลังจะเปิดใช้งานในปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 12 พฤศจิกายน 2565

The post สัญญาณดี นครหนานหนิงฟื้นเที่ยวบินผู้โดยสารต่างประเทศเพิ่มหลายเส้นทาง พร้อมสร้าง Terminal 3 appeared first on thaibizchina.

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]