‘เสาวรส’ เป็นหนึ่งในผลไม้เมืองร้อนที่ได้รับความนิยมในประเทศจีน มีการปลูกเพื่อการบริโภคและแปรรูปในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยว ด้วยรสชาติและกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้เสาวรสเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคชาวจีน ดีมานด์ตลาดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในประเทศจีน แหล่งปลูกเสาวรสส่วนใหญ่อยู่ทางพื้นที่จีนตอนใต้ โดยเฉพาะ ‘เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง’ถือเป็นแหล่งปลูกเสาวรสที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศจีน นอกจากนี้ ยังมีมณฑลกวางตุ้ง มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลไห่หนาน (เกาะไหหลำ) และมณฑลยูนนาน
แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศในจีนที่มีฤดูกาลที่ชัดเจน จึงไม่สามารถปลูกได้ผลผลิตตลอดทั้งปี ทั้งนี้ การปลูกเสาวรสในจีนทำได้ดีในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม และช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม และเข้าสู่ปลายฤดูเก็บเกี่ยวรายช่วงปลายเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนของทุกปี (เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว) ซึ่งนั่นหมายความว่า… หลายเดือนนับจากนี้ จะเป็นช่วงที่เสาวรส ‘ขาดตลาด’ ในจีน
นอกจากการรับประทานผลเสาวรสสดแล้ว ประเทศจีนมีความต้องการเสาวรสเพื่อนำไปแปรรูปในอุตสาหกรรมน้ำผลไม้ น้ำเชื่อมเสาวรสเข้มข้น แยมเสาวรส และอุตสาหกรรมของว่าง อาทิ เสาวรสหั่นเส้นอบแห้ง พุดดิ้ง/เยลลี่เสาวรส
เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ศุลกากรแห่งชาติจีนได้เริ่มนำร่องให้เสาวรสเวียดนาม (ชื่อวิทยาศาสตร์ Passiflora edulis พันธุ์ผลสีม่วง) ทดลองส่งออกไปยังประเทศจีนได้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 โดยมีข้อกำหนดที่เข้มงวด ทั้งในเรื่องสุขอนามัยพืช (โรคและแมลงศัตรูพืช การปลอดเชื้อโควิด-19) บรรจุภัณฑ์ ระบบบริหารจัดการแหล่งผลิตเพื่อการส่งออกไปยังจีน และระบบตรวจสอบย้อนกลับ (traceability)
เครดิตภาพ : Media Convergence Center of Nanning Customs
เขตฯ กว่างซีจ้วง ถือเป็นพื้นที่นำร่องสำคัญในการทดลองนำเข้าเสาวรสเวียดนาม โดยจำกัดเฉพาะการนำเข้าเพื่อการแปรรูปในบริเวณพื้นที่ชายแดนเท่านั้น ทำให้ ‘เสาวรส’ เป็น 1 ในผลไม้เวียดนาม 11 ชนิดที่ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่ตลาดจีน ต่อจากกล้วยหอม ลำไย มะม่วง มังคุด ลิ้นจี่ เงาะ ขนุน แตงโม แก้วมังกร และทุเรียน (เฉพาะปี 2565 ผลไม้เวียดนามได้รับอนุญาตเพิ่ม 2 ชนิด คือ เสาวรสและทุเรียนสด)
ตามข้อมูล พบว่า ในปี 2565 คาดการณ์ผลผลิตเสาวรสของเวียดนามจะอยู่ที่ 135,000 ตัน ส่วนใหญ่ปลูกในจังหวัด Gia Lai และจังหวัด Dak Lak โดยเสาวรสเวียดนามสามารถช่วยเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานให้กับตลาดจีนได้ในช่วงที่จีนขาดตลาด (ข้อมูล ช่วง 10 เดือนแรก ประเทศจีนมีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากเวียดนามผ่านด่านโหย่วอี้กวานมากถึง 2.03 แสนตัน เพิ่มขึ้น 46.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน)
ภายหลังจากที่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ศุลกากรแห่งชาติจีนได้ประกาศทดลองการนำเข้าเสาวรสเวียดนาม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 เสาวรสเวียดนามล็อตแรกน้ำหนัก 18.4 ตัน ได้ส่งออกไปยังประเทศจีนอย่างเป็นทางการ ผ่านด่านทางบกโหย่วอี้กวาน (Youyiguan Border Gate) เพื่อเข้าไปแปรรูปในโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตตลาดการค้าสำหรับชาวชายแดนผู่จ้าย ในอำเภอระดับเมืองผิงเสียง เขตฯ กว่างซีจ้วง
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เสาวรส จัดเป็นผลไม้เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของไทย และเป็น 1 ในผลไม้ 22 ชนิดที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปประเทศจีน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างการเจรจากับศุลกากรแห่งชาติจีนเพื่อแก้ไขชื่อวิทยาศาสตร์จากสายพันธุ์ Passiflora Caerulea เป็น Passiflora edulis ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในการบริโภคในประเทศจีน เพื่อเปิดทางให้เสาวรสของไทยสามารถบุกเบิกตลาดจีนได้ในอนาคต
ในระหว่างการเจรจาข้างต้น บีไอซี เห็นว่า แหล่งปลูกเสาวรสที่สำคัญของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงใหม่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ ระยอง ตราด ปราจีนบุรี ชุมพร นราธิวาส และสุราษฎร์ธานี ที่มีความสนใจจะส่งออกเสาวรสไปยังประเทศจีน สามารถเตรียมตัวไว้เนิ่นๆ ในเรื่องของระบบการบริหารจัดการสวนเสาวรส รวมถึงการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสุขอนามัยพืชให้กับเสาวรสไทย เพื่อให้สามารถบุกเบิกตลาดจีนได้ทันทีที่ทางการจีนเปิด ‘ไฟเขียว’ ให้ตามคำขอของประเทศไทย
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกสามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษากับทางสำนักงานเกษตรจังหวัด กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565
เว็บไซต์ http://online.customs.gov.cn (海关总署)