ภาพจาก Xinhua
เมื่อวันที่ 15 – 16 ธันวาคม การประชุม Central Economic Work Conference (CEWC) ประจำปี 2566 จัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นการประชุมภายในระหว่างผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลจีน เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจจีนในปัจจุบันและกำหนดแผนงานด้านเศรษฐกิจของจีนประจำปี 2566 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
การวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
ที่ประชุมระบุว่าเศรษฐกิจจีนยังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ อาทิ
(1) แรงกดดันต่อเศรษฐกิจจีน 3 ประการ (three pressures) ได้แก่ อุปสงค์ชะลอตัว อุปทานได้รับผลกระทบ และตลาดขาดความเชื่อมั่น
(2) พื้นฐานที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่แข็งแรง
(3) ความแปรปรวนจากปัจจัยภายนอก
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมประเมินว่าเศรษฐกิจจีนมีความยืดหยุ่น มีศักยภาพ และมีพลวัต โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนในภาพรวมจะมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีในปี 2566 สืบเนื่องจากผลของการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ
ภารกิจสำคัญของงานด้านเศรษฐกิจ ในปี 2566
ที่ประชุมเน้นย้ำว่า ในปี 2566 จีนจะให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นอันดับต้น โดยจะเชื่อมโยงและบูรณาการ นโยบายด้านการคลัง การเงิน อุตสาหกรรม เทคโนโลยี และสังคม เพื่อผลักดันการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง (high-quality development) และสนับสนุนเศรษฐกิจวงจรคู่ (dual circulation) ทั้งนี้ ภารกิจสำคัญ 5 ประการของงานด้าน ศก. ของจีนในปี 2566 มีดังนี้
1. การขยายอุปสงค์ภายในประเทศ
(1) ด้านการบริโภค จีนจะเร่งฟื้นฟูและเพิ่มการบริโภคในประเทศ อาทิ การเพิ่มรายได้ของประชาชน และการสนับสนุนการยกระดับที่อยู่อาศัยของประชาชน การบริโภครถยนต์พลังงานไฟฟ้า และการให้บริการการดูแลผู้สูงวัย
(2) ด้านการลงทุน จีนจะผลัดดันโครงการสำคัญในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2564 -2568) และกระชับการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ในจีน
(3) ด้านการค้า สนับสนุนบทบาทที่สำคัญของภาคการส่งออกต่อเศรษฐกิจจีน และขยายการนำเข้าเทคโนโลยีที่ทันสมัย อุปกรณ์เครื่องจักรสำคัญ และทรัพยากรพลังงาน
2. การสร้างระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยจีนจะ
(1) เสริมสร้างการพัฒนาเทคโนโลยีหลักที่สำคัญ (core technology) และส่วนประกอบที่จีนมีจุดอ่อน
(2) เร่งดำเนินการสำรวจและขุดเจาะทรัพยากรเหมือนแร่ และสร้างระบบพลังงานที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ มีความมั่นคง และมีประสิทธิภาพสูง
(3) ยกระดับกำลังการผลิตธัญพืชและอาหารสู่ 5 หมื่นล้านกิโลกรัม
(4) ผลักดันการวิจัยและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแนวหน้า อาทิ พลังงานใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ การผลิตทางชีวภาพ เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ และเทคโนโลยีคำนวณเชิงควอนตัม (quantum computing) เป็นต้น
(5) ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และสนับสนุนการพัฒนาของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (platform economy) เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนา การจ้างงาน รวมถึงการแข่งขันระหว่างประเทศ
3. การสนับสนุนเศรษฐกิจภาคเอกชน (non-public sectors) โดยจีนจะปฏิบัติต่อรัฐวิสาหกิจและ บริษัทเอกชนอย่างเท่าเทียมกันในด้านนโยบาย และกฎหมาย สนับสนุนาการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเอกชนและ บริษัทเอกชน รวมถึงคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของ บ. เอกชนและนักธุรกิจเอกชนตามกฎหมาย
4. การดึงดูดทุนต่างชาติ
(1) จีนจะอำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจต่างชาติในการเดินทางมาจีนเพื่อเจรจาด้านการค้าและการลงทุน
(2) บ. ทุนต่างชาติสามารถเข้าร่วมโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ การประมูลราคา และการจัดทำมาตรฐานต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกับ บ. จีนตามที่ กม. กำหนด
(3) เพิ่มการคุ้มครองในด้านทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมายของนักลงทุนต่างชาติ
(4) ผลักดันการร่วมเป็นสมาชิกของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA)
5. การป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเงิน โดยเฉพาะความเสี่ยงจากภาคอสังหาริมทรัพย์โดย
(1) จีนยังยึดมั่นในหลักการ “บ้านพักอาศัยมีไว้เพื่ออยู่ ไม่ใช่เพื่อเก็งกำไร”
(2) สนับสนุนการจัดหาเงินทุนที่จำเป็นของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเร่งส่งมอบบ้านให้แก่ประชาชน และลดความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่
(3) เร่งแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น โดยพยายามไม่เพิ่มภาระหนี้สินใหม่ ขณะที่เร่งจัดการภาระหนี้สินที่มีอยู่