บริษัท Guangxi Beibu Gulf International Port Group (广西北部湾国际港务集团有限公司) เปิดเผยว่าในปี 2565 ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยเรียก อ่าวตังเกี๋ย) ซึ่งประกอบด้วยท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่ มีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้ารวม 7.02 ล้าน TEUs เพิ่มขึ้น 16.78% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) โดยสามารถรักษาอัตราการขยายตัวด้วยตัวเลข ‘สองหลัก’ เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน และมีอัตราการขยายตัวสูงเป็นลำดับต้นๆ ของท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลของจีน
ปีที่แล้ว ถือเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้อุปสงค์ของตลาดหดตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กกล้า วัสดุก่อสร้าง และวนเกษตร อย่างไรก็ดี ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้พยายามบูรณาการตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ (ท่าเรือและรถไฟขนส่งสินค้า) พัฒนานโยบายส่งเสริมการค้าต่างประเทศ (การขอคืนภาษีสินค้าส่งออกได้ทันทีที่ท่าต้นทางสำหรับสินค้าที่ส่งออกที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้) และบุกเบิกพัฒนาตลาดธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับจุดแข็งของกว่างซี (รถยนต์ของ SGMW และผลไม้อาเซียน)
จากข้อมูลพบว่า ปี 2565 ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ มีเส้นทางเดินเรือทั้งหมด 75 สาย ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศ 47 สาย และเส้นทางเดินเรือระยะไกล 6 สาย เส้นทางเดินเรือครอบคลุมท่าเรือสำคัญในประเทศและท่าเรือในประเทศสมาชิกอาเซียน
เฉพาะปี 2565 ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ได้บุกเบิกเส้นทางเดินเรือสายใหม่ จำนวน 11 สาย แบ่งเป็นเส้นทางเดินเรือต่างประเทศ 10 สาย และเส้นทางเดินเรือท่าเรือในประเทศ 1 สาย รวมทั้งเพิ่มความถี่ของเที่ยวเดินเรือไปยังประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม
นอกจากนี้ เพื่อร่นเวลาที่เรือสินค้าจอดเทียบท่า ซึ่งหากจอดนานจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจำนวนมาก ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ได้ดำเนินกิจกรรมในการขนถ่ายสินค้าในท่าเรือทั้งกลางวันและกลางคืน โดยสามารถทำสถิติการขนถ่ายตู้สินค้าต่อวันได้สูงสุดถึง 28,648 TEUs ช่วยร่นเวลาที่เรือสินค้าจอดเทียบท่าได้ 11% (YoY)
เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและขยายขีดความสามารถในการรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ ท่าเทียบเรืออัจฉริยะในท่าเรือชินโจวรับเรือสินค้า HIMALAYAS ของสายเรือ COSCO (เรือบรรทุกตู้สินค้า 14,566 TEUs) ซึ่งเป็นเรือบรรทุกตู้สินค้าขนาดใหญ่เข้าเทียบท่าเป็นครั้งแรก และเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ที่มีเรือบรรทุกตู้สินค้า 1 หมื่น TEUs เข้าเทียบท่า และสายเรือ COSCO ยังได้นำเรือบรรทุกตู้สินค้า COSCO Nanning มาให้บริการในท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ เพื่อเพิ่มกำลังการขนส่งสินค้า โดยเรือ COSCO Nanning เป็นเรือบรรทุกตู้สินค้าในประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
การขนส่ง ‘เรือ+ราง’ รถไฟขนส่งสินค้าวิ่งให้บริการรวม 8,800 ขบวน เพิ่มขึ้น 44% (YoY) และเพิ่มขึ้น 49 เท่าจากปี 2560 คิดเป็นเที่ยวขบวนเฉลี่ยวันละ 24 ขบวน และเป็นการลำเลียงสินค้าในเขตฯ กว่างซีจ้วง 3,025 ขบวน เพิ่มขึ้น 205% (YoY) เป็นเส้นทางที่บุกเบิกใหม่หลายเส้นทาง อาทิ อาเซียน – เมืองท่าชินโจว (กว่างซี) – นครซีอาน (มณฑลส่ายซี) / สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ – เมืองท่าชินโจว (กว่างซี) – นครหลานโจว (มณฑลกานซู่) / เมืองมุมไบ (อินเดีย) – เมืองชินโจว (กว่างซี) – นครหลานโจว (กานซู่) / RCEP – ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ – มณฑลเหอหนานและมณฑลเหอเป่ย
นับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการในปี 2560 จนถึงสิ้นปี 2565 รถไฟขนส่งสินค้าในโมเดล ‘เรือ+ราง’ ขนส่งตู้สินค้าสะสม 7.56 แสน TEUs เพิ่มขึ้น 223 เท่าจากปี 2560 โดยรถไฟขนส่งสินค้าดังกล่าวสามารถวิ่งไปยัง 133 สถานีของ 60 เมืองใน 17 มณฑลทั่วประเทศ (เพิ่มใหม่ 21 สถานีของ 13 เมืองใน 4 มณฑลจากปี 2564)
เมื่อปลายปี 2565 บริเวณท่าเรือชินโจว ได้วางศิลาฤกษ์โครงการ “ฐานท่าเรือชินโจวโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นแบบครบวงจร” เพื่อรองรับสินค้าแช่เย็นแช่แข็ง หรือ Cold-chain จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นโครงการสำคัญต่อจาก “สวนโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นสำหรับสินค้าสดและสินค้ามีชีวิตนานาชาติอ่าวเป่ยปู้กว่างซี” ที่เปิดตัวในเมืองท่าฝางเฉิงก่าง เมื่อกลางปี 2565 ที่ผ่านมา
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน จีนให้ความสำคัญกับระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะระบบรางร่วมกับระบบอื่น (เรียกสั้นๆ ว่า railway plus) โดยรากฐานสำคัญเกิดขึ้นจากความพร้อมด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานทางรางที่สามารถเชื่อมโยงกันทั้งประเทศ เป็นการเดินเกมรุกของจีนในการสร้างความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงพื้นที่จีนตอนในกับอาเซียน โดยกว่างซีเป็นมณฑลเดียวในภาคตะวันตกที่มีทางออกสู่ทะเล และเป็น Gateway to ASEAN จึงเป็น ‘ผู้เล่นตัวสำคัญ’ บนกระดานหมากรุกนี้ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีได้มุ่งพัฒนาให้มณฑลเป็น Hub เชื่อมโยงการขนส่งทางบก+เรือ โดยมีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (ท่าเรือชินโจว) เป็นตัวเชื่อมการขนส่งทางรถไฟ+เรือ และนครหนานหนิงเป็นฐานการขนส่งสินค้าทางรถไฟไปยังกรุงฮานอยของเวียดนาม ซึ่งเห็นผลเป็นรูปธรรมแล้ว
บีไอซี เห็นว่า การ ‘ปลดล็อก’ มาตรการโควิด-19 ทั้งในคนและสินค้านำเข้านับตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 จะสนับสนุนให้ปริมาณสินค้าที่ขนส่งผ่าน ‘ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้’ มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เป็น ‘โอกาส’ สำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะใช้ประโยชน์จากทำเลที่ตั้งและความพร้อมด้านระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ของเขตฯ กว่างซีจ้วงในการส่งออกสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน(ตะวันตก)ผ่านโมเดลการขนส่ง ‘เรือ+ราง’ ได้ ทั้งนี้ ผู้ส่งออกไทยควรเตรียมความพร้อมรองรับการค้า การขนส่ง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะกลับมาเป็นปกติภายหลังการเปิดประเทศของจีน
จัดทำโดย : นายกฤษณะสุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 04 และ 06 มกราคม 2566
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 05 มกราคม 2566
เว็บไซต์ www.chinaports.com วันที่ 06 มกราคม 2566