มีการถกเถียงมาเป็นเวลานานเกี่ยวกับความคุ้มได้คุ้มเสียของการใช้ประโยชน์จาก “พลังงานนิวเคลียร์” รวมถึงประเทศไทยที่มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ด้วยเช่นกัน โดยมีความพยายามหลายครั้งที่จะใช้แหล่งพลังงานนี้ แม้ว่าหนทางที่จะไปถึงฝั่งฝันยังอีกยาวไกล
ปฏิเสธไม่ได้ว่า… พลังงานนิวเคลียร์ เป็นแหล่งพลังงานที่มีประสิทธิภาพและความมั่นคง และเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งช่วยตอบโจทย์วิกฤติพลังงานและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้ โดยประเทศในแถบเอเชียตะวันออกมีการใช้ “พลังงานนิวเคลียร์” กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะจีนที่ถือว่าเป็นมหาอำนาจด้าน “พลังงานนิวเคลียร์” ของโลก ด้วยจำนวนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากกว่า 1/3 ของโลก
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 บีไอซี ได้เคยนำเสนอข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ระยะที่ 2 ในเมืองฝางเฉิงก่างของเขตฯ กว่างซีจ้วง ซึ่งมี บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ถือหุ้นร่วมอยู่ด้วย 10% ว่า ทีมวิศวกรได้เริ่มบรรจุแท่นปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในเตาปฏิกรณ์แล้วนั้น (บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ใช้เงินลงทุนจากกระแสเงินสดของบริษัทตามสัดส่วนการร่วมทุนคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 1,330 ล้านหยวนหรือราว 7,500 ล้านบาท เมื่อปี 2558 อัตราแลกเปลี่ยน 1 RMB ประมาณ 5.6331 บาท ส่วนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้แก่ บริษัท CGN หรือ China General Nuclear Power Group ถือหุ้น 51% และบริษัท Guangxi Investment ถือหุ้น 39%)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 เวลา 20.29 น. เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่าง ระยะที่ 2 ประสบความสำเร็จในการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าแล้ว นั่นหมายความว่า เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 พร้อมสำหรับการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่าง เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกในจีนตะวันตก และเป็นแห่งแรกที่เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในภูมิภาคตะวันตก โครงการ ระยะที่ 1 เป็นของบริษัท Fangchenggang Nuclear Power (广西防城港核电有限公司) ใช้เทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์ CPR1000 ประกอบด้วยเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 และหมายเลข 2 เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เมื่อ 1 มกราคม 2559 และ 1 ตุลาคม 2559 ตามลำดับ จนถึงปัจจุบัน ส่งจ่ายกระแสไฟฟ้ารวมกว่า 1 แสนล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
โครงการ ระยะที่ 2 ประกอบด้วยเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 มีมูลค่าเงินลงทุน 20,150 ล้านหยวน เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2558 และเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ความพิเศษของโครงการระยะที่ 2 อยู่ที่การนำเทคโนโลยีการกำเนิดไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ รุ่นที่ 3 ที่ภาษาจีนเรียกว่า “หัวหลง อีฮ่าว” (华龙一号) ที่จีนคิดค้นขึ้นเองมาใช้นั่นเอง โดย “หัวหลง อีฮ่าว” เป็น 1 ในเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ที่มีความทันสมัยและปลอดภัยที่สุดในโลกในขณะนี้ ประกอบด้วยแท่นเชื้อเพลิง 177 ชุด อาคารคอนกรีตคลุมเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบสองชั้น และระบบควบคุมความปลอดภัยของเครื่องปฏิกรณ์แบบผสมผสานระหว่าง active กับ passive โดย Technical Solution ของ “หัวหลง อีฮ่าว” ได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ European Utility Requirements ของยุโรป และ Generic Design Assessment ของสหราชอาณาจักร ปัจจุบัน มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ “หัวหลง อีฮ่าว” ที่กำลังก่อสร้างอยู่ 7 เครื่อง
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่าง เป็นโครงการสำคัญในประวัติศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานของกว่างซี และมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาโครงสร้างพลังงาน การสร้างความมั่นคงทางพลังงานของกว่างซี รวมถึงการสร้างระบบพลังงานสมัยใหม่ที่เป็นพลังงานสะอาด คาร์บอนต่ำ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง คาดหมายว่า ภายหลังโครงการสองเฟสแรกแล้วเสร็จ จะสามารถป้อนกระแสไฟฟ้าให้กับเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซีได้ปีละ 31,500 ล้านกิโลวัตต์
แผนแม่บทโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่าง มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ จำนวน 6 เครื่อง (ยังเหลือโครงการระยะที่ 3 อีก 2 เครื่องที่ยังไม่ได้เริ่มการก่อสร้าง) เมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่างก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละ 48,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง หากเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดเดียวกัน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่างจะช่วยลดปริมาณการใช้ถ่านหินได้มากถึงปีละ 14.39 ล้านตัน และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 39.74 ล้านตัน ซึ่งเท่ากับการปลูกป่า 1.08 แสนเฮกตาร์ หรือ 6.75 แสนไร่
บีไอซี เห็นว่า การแสวงหาพลังงานทางเลือกเพื่อลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ฟอสซิล (ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ) ซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป โรงไฟฟ้านิวเคลียร์นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ โดยการศึกษาข้อมูลและติดตามพัฒนาการของประเทศต้นแบบความสำเร็จอย่างจีน จะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมความพร้อม และการสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ที่สะอาดและปลอดภัยของไทยในอนาคต โดยเฉพาะการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การบริหารจัดการกากกัมมันตรังสี และการขยายผลไปสู่การต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน(กว่างซี) ในมิติที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 11 มกราคม 2566
เครดิตภาพ : chinanews