รัฐบาลเซี่ยเหมินและคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปเมืองเซี่ยเหมินร่วมกันออกแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมประจำปี 2566 โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่
(1) ด้านการพัฒนานวัตกรรม ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีที่สำคัญ อาทิ 1) ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมทางทะเลของมณฑลฝูเจี้ยน ฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานแห่งชาติ (มณฑลฝูเจี้ยน) ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจของเมืองแห่งวิทยาศาสตร์เมืองเซี่ยเหมินด้วยเงินลงทุน 5.3 พันล้านหยวน เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของวิสาหกิจ 2) การเพิ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกว่าร้อยละ 3.4 และ 3) จัดตั้งโครงการ “ชุนลู่ซิงเซี่ย” ซึ่งเป็นกองทุนเงินอุดหนุนกว่า 2.4 พันล้านหยวน เพื่อดึงดูดและบ่มเพาะผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ามาทำงานยังเมืองเซี่ยเหมิน
(2) ด้านการลงทุน เน้นการขยายโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติเสียงอัน ศูนย์การประชุมและนิทรรศการเสียงอัน และสถานีรถไฟความเร็วสูงตะวันออกเซี่ยเหมิน เป็นต้น และตั้งเป้าหมายเพิ่มการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมากกว่าร้อยละ 20 และดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงและอุตสาหกรรมบริการ
(3) ด้านอุตสาหกรรม สนับสนุนเงินทุน 9.3 พันล้านหยวน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ตาม “แผนการพัฒนาอุตสาหกรรม 4+4+6” ซึ่งเป็นนโยบายของเมืองเซี่ยเหมิน ประกอบด้วย (1) 4 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ (จอแสดงผล LED) เทคโนโลยีสารสนเทศ เครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และการบริการที่ทันสมัย รวมถึงด้านการเงิน (2) 4 อุตสาหกรรมใหม่เชิงยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยาชีวภาพ วัสดุใหม่ (รวมถึงวงจรรวม และทังสเตน) พลังงานใหม่ (รวมถึงแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน) และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการแต่งงาน ภาพยนตร์ เกมส์ และการท่องเที่ยวคุณภาพสูง) และ (3) 6 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ วงจรรวมรุ่นที่ 3 อินเทอร์เน็ตในอนาคต วัสดุใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีที่ ล้ำสมัย (อาทิ นาโนเทคโนโลยี) เทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน การสำรวจใต้ทะเลลึกและในอวกาศ ชีวการแพทย์และจีโนมิกส์ เพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานของเมืองเซี่ยเหมิน
(4) ด้านการค้าต่างประเทศ สนับสนุนเงินทุน 9.7 พันล้านหยวนในการส่งเสริมวิสาหกิจสู่การเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเน้นการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน การค้าระหว่างประเทศ และการสร้างคลังสินค้าในต่างประเทศ และการเร่งการก่อสร้าง BRICS PartNIR Innovation Center และการพัฒนาของเขตกฎหมายเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road Central Legal District)
โดยสรุป ในปี 2566 เมืองเซี่ยเหมินจะเน้นการดำเนินตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม “4+4+6” ซึ่งได้กำหนดทิศทางการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายของเมืองเซี่ยเหมินในระยะยาว อาทิ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมชีวการแพทย์ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ เมืองเซี่ยเหมินเป็นที่ตั้งของบริษัทที่มีศักยภาพซึ่งสอดคล้องกับสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อาทิ บริษัท Xiamen Tianma Microelectronics จำกัด ผู้ผลิตหน้าจอ AMOLED ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และบริษัท TPK Touch Solutions (Xiamen) INC. ผู้ผลิตหน้าจอ AMOLED ยืดหยุ่นสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์ อาทิ บริษัท Xiamen Biotime Biotechnology จำกัด วิสาหกิจเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาชุดตรวจและอุปกรณ์วินิจฉัยทางการแพทย์ และตัวทำปฏิกิริยา (reagent) / บริษัท Xiamen Bosan Biotech จำกัด และบริษัท Anbio (Xiamen) Biotechnology จำกัด ผู้ผลิตชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ และบริษัท Xiamen Innovax Biotech (Innovax) จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจเทคโนโลยีขั้นสูงในสาขาการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและตัวทำปฏิกิริยาเพื่อการวินิจฉัยทางชีวภาพ ยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ไฟฟ้า บริษัท China Aviation Lithium Battery จำกัด ผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าชั้นนำของจีน ซึ่งอยู่ระหว่างร่วมมือกับเขตพัฒนาอุตสาหกรรม Hi-Torch เซี่ยเหมิน เพื่อก่อสร้างฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม 30GWh ที่เขตจี๋เหม่ย และบริษัท CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าชั้นนำของโลก ซึ่งได้ลงทุน 1.3 หมื่นล้านหยวนเพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมและแบตเตอรี่เก็บพลังงานที่เขตเสียงอาน เหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสของวิสาหกิจไทยในการแสวงหาหุ้นส่วนความร่วมมือ ทั้งด้านการค้า การลงทุน โดยเฉพาะในเขต EEC รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาร่วมกับวิสาหกิจที่มีความเชี่ยวชาญของเมืองเซี่ยเหมิน เพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุตสาหกรรมของไทย
แหล่งอ้างอิง https://www.investxiamen.org.cn/detail/6978.html
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู