อุตสาหกรรม AI เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของเมืองเซี่ยเหมินภายใต้แผนพัฒนาอุตสาหกรรม “4+4+6” ของเมืองเซี่ยเหมิน ปัจจุบัน เมืองเซี่ยเหมินมีวิสาหกิจด้าน AI กว่า 200 แห่ง มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรกว่า 12,000 รายการ รวมถึงลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์กว่า 33,000 รายการ ซึ่งครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม AI โดยเมืองเซี่ยเหมินเป็นที่ตั้งของศูนย์นวัตกรรม Huawei Cloud Xiamen ตั้งอยู่ที่ Xiamen Software Park ระยะที่ 3 เขตจี๋เหม่ย ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเซี่ยเหมินกับบริษัท Huawei และบริษัท Chinasoft International จำกัด ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำรายใหญ่ของจีนซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปักกิ่ง โดยมุ่งเน้นการให้บริการระบบคลาวด์คุณภาพสูงแก่บริษัทซอฟต์แวร์และนิคมอุตสาหกรรมในเมืองเซี่ยเหมิน และให้บริการเทคโนโลยีสำหรับผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน รวมทั้งยังมีบทบาทในการการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตสู่ระบบดิจิทัลและ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะของเซี่ยเหมิน
ที่ผ่านมา ศูนย์นวัตกรรม Huawei Cloud Xiamen ได้ให้บริการแก่วิสาหกิจ อาทิ (1) บริษัท Kuaishang (Xiamen) Software Technology จำกัด ผู้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบทางไกลผ่านเทคโนโลยี AI ซึ่งมีความร่วมมือกับศูนย์นวัตกรรม Huawei Cloud Xiamen ในการออกแบบเครื่องจักรอัจฉริยะที่สามารถเลียนแบบการสนทนาโต้ตอบของมนุษย์ได้อย่างเสมือนจริง และ (2) บริษัท Fujian Four-Faith Communication Technology จำกัด ผู้ให้บริการระบบและอุปกรณ์ Internet of Things ชั้นนำของมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งมีความร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของมณฑลฝูเจี้ยน อาทิ การติดตั้งไฟถนนอัจฉริยะ และการเกษตรอัจฉริยะ ทั้งนี้ ล่าสุด รัฐบาลเมืองเซี่ยเหมินได้ผลักดันการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม Huawei Cloud Xiamen ระยะที่ 2 ที่ Xiamen Software Park ระยะที่ 3 เขตจี๋เหม่ย ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อต้นเดือนมกราคม 2566
นอกจากนั้น รัฐบาลเซี่ยเหมินได้ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจ และสถาบันวิจัยของเมืองเซี่ยเหมิน เพื่อบูรณาการการพัฒนาเทคโนโลยี AI กับการพัฒนาด้านต่าง ๆ อาทิ “รัฐบาลดิจิทัล+AI” “ความมั่นคงสาธารณะ+AI” “อุตสาหกรรมการผลิต+AI” “การขนส่ง+AI” “สื่อวิทยุและโทรทัศน์+AI” และ “อินเทอร์เน็ต+AI” โดยมีความร่วมมือกับบริษัท Xiamen Qianhai Information Communication Development จำกัด ผู้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงด้าน Big Data และระบบ AI ที่นำมาใช้งานในสายการผลิต / บริษัท Huaxiangyuan Tea จำกัด ผู้ผลิตชารายใหญ่แบบครบวงจรของมณฑลฝูเจี้ยน รวมถึงเทคโนโลยีการเพาะปลูก การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การผลิตและการแปรรูปด้วยระบบเทคโนโลยีขั้นสูงและคลังสินค้าอัจฉริยะ และมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน เป็นต้น
ปัจจุบัน เทคโนโลยี AI ได้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาในทุกมิติ โดยจีนเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะของโลกที่มีวิสาหกิจชั้นนำด้าน AI กว่า 4,000 แห่ง และมีมูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรม AI สูงกว่า 4 แสนล้านหยวน ขณะที่เมืองเซี่ยเหมินเร่งเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านอุตสาหกรรม AI ให้ทัดเทียมกับเมืองชั้นนำด้านเทคโนโลยีของจีน อาทิ ปักกิ่ง หางโจว เซินเจิ้น เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว[1] โดยเน้นการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเป็นที่ตั้งของสถาบันการวิจัย AI ชั้นนำ อาทิ สถาบัน Artificial Intelligence Research Institute มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน ซึ่งจัดตั้งโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเซี่ยเหมินและวิสาหกิจ AI ชั้นนำของจีนอย่าง Huawei และ Tencent ในการส่งเสริมการบ่มเพาะวิสาหกิจและบุคลากรด้าน AI ที่มีศักยภาพสูง
ทั้งนี้ การพัฒนาเทคโนโลยี AI ของไทยยังต้องอาศัยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลและดิจิทัล การวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้าน AI เพื่อสร้างระบบนิเวศที่จำเป็นต่อการพัฒนาในมิติต่าง ๆ ไทยจึงควรติดตามพัฒนาการด้าน AI ของจีน และเมืองที่มีศักยภาพอย่างเซี่ยเหมิน เพื่อศึกษาและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบุคลากรระหว่างกัน รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะระหว่างสถาบันการศึกษาของไทยในพื้นที่ EEC อาทิ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ กับสถาบันการวิจัยที่มีความก้าวหน้าของเมืองเซี่ยเหมิน และเน้นการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือกับ Huawei ในพื้นที่ EEC เช่น การพัฒนาองค์ความรู้ด้าน AI และการเสริมสร้างทรัพยากรบุคคลของไทยในด้านนี้ เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้าน AI ของไทยยิ่งขึ้น
แหล่งอ้างอิง http://iot.china.com.cn/content/2023-01/04/content_42223159.html
https://www.chinanews.com.cn/cj/2023/01-05/9928430.shtml
https://www.bjtzh.gov.cn/bjtz/fzx/202301/1628638.shtml
[1] จีนได้เผยแพร่รายชื่อเมืองแห่งเทคโนโลยี AI ที่แข็งแกร่งของจีนประจำปี 2566 ซึ่งจัดทำโดย International Data Corporation (IDC) และบริษัท Inspur Electronic Information Industry จำกัด โดยรายชื่อเมืองแห่งเทคโนโลยี AI ที่แข็งแกร่ง 5 อันดับแรกของจีน ได้แก่ ปักกิ่ง หางโจว เซินเจิ้น เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู